การไหว้จริงๆ แล้ว...ก็ไม่ใช่ของไทย??
วัฒนธรรมการไหว้ เป็นวัฒนธรรมยุคโบราณของอินเดีย ซึ่งมีมาก่อนการกำเนิดพระพุทธศาสนา สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันและมีหลักฐานปรากฏมาถึงปัจจุบัน คือ ฮินดู เชน พราหมณ์ และซิกข์ ก็รับวัฒนธรรมการไหว้และกราบมาเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ยังมีการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการวันทา หรือ "ไหว้"
นี่คือข้อเท็จจริงจากการศึกษาวัฒนธรรมเอเชียและวัฒนธรรมพุทธของ พระ ดร.มโน (เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ) ที่ปรึกษาเลขาธิการใหญ่องค์การสมัชชาศาสนาเพื่อสันติแห่งโลก สังกัดองค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ พระดร.มโน อธิบายด้วยว่า นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ยกย่องให้ประเทศอินเดียเป็นต้นตำรับภาษามือ ซึ่งมีนับพันท่า ภาษามือของอินเดียสามารถใช้พรรณนาอากัปกิริยาทางอารมณ์ต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งเรียกว่า "มุทรา" หรือ "วิชานาฏศาสตร์" (วิชาภาษามือ)
ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการประนมมือไหว้มาจากอินเดีย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การไหว้ไม่ใช่วัฒนธรรมซึ่งเกิดจากพุทธศาสนาแต่เดิม หากเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอินเดียโบราณ ก่อนที่พุทธศาสนาเกิดนับพันปี
สำหรับเหตุที่วัฒนธรรมการแสดงความเคารพด้วยการไหว้ เผยแพร่สู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทวีปเอเชียใต้ เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว และส่งสาวกไปเผยแผ่พุทธศาสนายังประเทศต่างๆ ก็มีการนำเอาวัฒนธรรมการไหว้ตามไปด้วย เช่นที่ ภูฏาน พม่า ศรีลังกา ลาว ธิเบต เขมร เวียดนาม ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันนี้การเผยแผ่พุทธศาสนายังคงมีวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการไหว้ติดไปด้วย
ในประเทศที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ประชากรสวนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เช่น ภูฏาน พม่า ศรีลัง และไทย ก็จะถือเอาวัฒนธรรมการไหว้ที่มาพร้อมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมของชาติ กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้าเป็นพุทธ ไม่ว่าจะสายใด ทั้งมหายาน และเถรวาท ต่างก็มีการไหว้ด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับการกราบไหว้เพื่อแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยนั้น ก็มีความแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ ในกรณีของจีนและธิเบต จะต่างกันออกไป คือของธิเบต เวลาไหว้พระรัตนตรัยจะไม่ใช้วิธีการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ แต่จะใช้วิธีการแบบอัสฎางคประดิษฐ์ (กราบแบบองค์ ๘ หรือทั้งตัว ได้แก่ เข่า ๒ ขา ๒ แขน ๒ มือ ๒ หน้าอก ๑ ศีรษะ ๑) โดยจะกราบ ๓ ครั้ง เป็นอย่างน้อย ส่วนสูงสุดมิได้กำหนดไว้ แต่ก็มีบางคนกราบทั้งวันไม่หยุด เป็นแสนๆ ครั้ง โดยมีความเชื่อว่าถ้ากราบไม่ถึงแสนครั้ง ไม่ใช่พุทธแท้ นอกจากนี้แล้วยังมีการฝากผู้อื่นไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนอีกด้วย
ส่วนรากเหง้าหรือต้นกำเนิดการไหว้เป็นของอินเดีย ทุกวันนี้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ พรามณ์ และฮินดู ในประเทศอินเดียต่างแสดงการคารวะด้วยการไหว้ทั้งนั้น เมื่อมีการเผยแผ่ศาสนาของตนออกไปก็นำวัฒนธรรมการไหว้ตามไปด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีการเผยแผ่ศาสนามาทั้ง ๓ ศาสนา การไหว้ก็มาจากทั้ง ๓ ศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นการไหว้จึงมีจุดกำเนิดที่อินเดีย และถูกเผยแผ่ไปในเอเชียใต้ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องคือไหว้เป็นวัฒนธรรมเอเชีย
"ไหว้ถ้าจะพูดว่าเป็นของไทย น่าจะเป็นในส่วนของรายละเอียดมากกว่า โดยท่าทางที่อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งชัดเจนกว่าการไหว้ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่ที่ไหว้กันมากๆ ต้องยกให้พม่า และศรีลังกา จะทักทายด้วยการยกมือไหว้เป็นหลัก"