นักบินขอเคลียร์ ให้รู้เรื่องหน่อย...ทำไมเครื่องบินโดยสารถึงไม่มีร่มชูชีพ ?!?!?
"เครื่องบินขัดข้อง ทำไมไม่ติดตั้งร่มชูชีพให้ผู้โดยสารกระโดดออกล่ะ?"
เป็นประโยคที่บรรดานักบินได้ยินกันบ่อย และหลาย ๆ ท่านมีความเชื่อว่า นักบินเครื่องบินพานิชย์นั้นกระโดดร่มเป็น !
เรามาพูดคุยกันถึงพื้นฐานของการกระโดดร่มกันก่อนครับ การกระโดดร่มอย่างที่เราเห็นกันในภาพยนตร์ จะมีทั้งเป็นแบบที่เรียกว่า
- การกระโดดแบบ Tandem and Accelerated Free Fall (AFF) นั่นคือ
การกระโดดดิ่งพสุธาลงมา ตั้งแต่ความสูง 10,000 ฟุต ถึง 15,000 ฟุต แล้ว
กระตุกร่ม
- การกระโดดแบบ Static Jump คือการเอาสายกระตุกร่มไปเกี่ยวไว้กับสายสลิงบนเครื่องบิน
พอเรากระโดดออกมา ร่มมันก็จะกางเอง ซึ่งการกระโดดแบบ Static Jump จะใช้ความสูงไม่มาก แค่ 4,000 ฟุต ก็กระโดดได้แล้ว
การกระโดดร่มทั้งสองแบบนี้ ผู้ที่จะสามารถทำการกระโดดได้ จะต้องผ่านการฝึกภาคพื้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมร่างกายในอากาศ การควบคุมร่ม สัญญาณมือ ความรู้เกี่ยวกับหลักนิรภัยต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาอย่างต่ำเป็นวัน จึงจะสามารถออกไปกระโดดกับครูได้ ย้ำว่าไปกระโดดกับครูนะครับ !!
เครื่องบินโดยสาร ยกตัวอย่างเช่น Airbus A320 ทำการบินเดินทางที่ความเร็วตั้งแต่ 500-750 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงไม่ต่ำกว่า 30,000 ฟุต
บรรทุกผู้โดยสารได้มากสุด 120 คน...........
ทีนี้เรามาดูกันว่าเพราะเหตุใดเครื่องบินโดยสารจึงไม่มีร่มชูชีพให้ใช้
เหตุผลข้อที่ 1 -- เราจะฝึกผู้โดยสารอย่างไรให้กระโดดร่มเป็นล่ะ?
แน่นอนครับ ไม่มีทางที่เราจะย่นเวลาการฝึกกระโดดร่มเป็นวัน ๆ ให้เหลือแค่ในชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที ลำพังแค่การสาธิตความปลอดภัยไม่กี่นาที คนส่วนใหญ่ยังจะไม่ค่อยจะสนใจดูกันเลย ให้มาตั้งหน้าตั้งตาเรียนหลักสูตรกระโดดร่มแบบเร่งรัด คงจะไม่มีใครสนหรอกครับ
ขนาดการใส่หน้ากากออกซิเจนยังจะทำกันไม่ถูกเลย อันนี้ให้ประกอบชุดร่มเข้ากับตัว ประกอบผิด กางไม่ออก ยิ่งจะทำให้เป็นอันตรายหนักกว่าเก่า
ประกาศบนเครื่อง : ขอให้ผู้โดยทิ้งสัมภาระทั้งหมดไว้บนเครื่อง ไม่นำสัมภาระติดตัวไป และถอดรองเท้าส้นสูง
ในภาพ : .....ผู้โดยสารทั้งหลายมักไม่สนใจประกาศ แต่สนใจจะนำข้าวของมีค่า โดดสไลด์ติดตัวไปด้วย จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะให้โดดร่มจะวุ่นวายแค่ไหน
เหตุผลข้อที่ 2 -- อุปกรณ์กระโดดร่ม
ตัวอุปกรณ์กระโดดร่มเอง ไม่ว่าจะเป็นร่มหลัก/ร่มสำรอง สายร่ม ชุดกระโดด หมวกนิรภัย แว่นตา เครื่องวัดความสูง มีน้ำหนักร่วม 20 กิโลกรัม ชุดหนึ่งมีราคาหลายหมื่นบาท ถ้าไม่นับเรื่องค่าใช้จ่าย การเอาร่มชูชีพ 100 กว่าชุด
น้ำหนักร่วม 2-3 ตัน มาไว้บเครื่องบินเพื่อมารองรับกับสถานการณ์ที่แทบจะเกิดขึ้นเพียง 1 ในล้าน เป็นอะไรที่ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเสียเท่าไรนะครับ
เหตุผลข้อที่ 3 -- เครื่องบินโดยสารบินสูงและเร็ว
ความสูงที่เครื่องบินโดยสารใช้ทำการบิน สูงเกือบ 3-4 เท่าของความสูงของการกระโดด Free Fall ปกติ นั่นหมายถึง ผู้โดยสารจะต้องทำการกระโดดร่มแบบที่เรียกว่า HALO Jump (High Altitude Low Opening) ซึ่งเป็นการกระโดดร่มทางยุทธวิธี (Tactical Jump) ฝึกกันเฉพาะในหน่วยรบพิเศษ เช่น SEAL SAS
แม้ว่าผู้โดยสารสามารถกระโดด HALO ได้ ก็จะต้องมีถังออกซิเจน กับชุดเครื่องช่วยหายใจ เพราะอากาศที่เบาบาง ณ ระดับความสูงนั้น ส่งผลให้หมดสติจากสภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ได้ภายใน 1-2 นาที
ต่อให้มีอุปกรณ์ครบพร้อมโดด ที่ความเร็ว 500-750 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของเครื่องบินโดยสารขณะทำการบิน และด้วยขนาดของเครื่องบินโดยสาร ไม่มีทางที่ผู้โดยสารจะสามารถกระโดดออกมาได้โดยไม่เสี่ยงที่จะไปชนเข้ากับส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องบิน
เหตุผลข้อที่ 4 -- อุบัติเหตุส่วนมากไม่ได้เกิดขณะที่เครื่องบินกำลังบินเดินทางอยู่
ร่มชูชีพจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินกำลังบินเดินทาง (Cruise) นั่นก็คือบินนิ่ง ๆ ไม่ไต่/ลดระดับ
แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุในช่วงที่เครื่องบินบินเดินทางอยู่นั้น คิดเป็นร้อยละ 15 จากระยะเวลาทั้งหมดในการทำการบิน
อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินกำลังวิ่งขึ้น และร่อนลงจอด แน่นอนว่า ขณะที่กำลังร่อนลงจอดที่ระดับความสูง 1,000-2,000 ฟุต ต่อให้
มีร่มพร้อมกระโดด ก็ไม่มีเวลากระโดดอยู่ดีครับ
เหตุผลข้อที่ 5 -- มนุษย์ !
การกระโดดร่มของทหารนั้น เป็นไปอย่างมีระเบียบ นั้นก็คือ มีการตรวจร่ม ตรวจอุปกรณ์ การยืนขึ้นเรียงแถว เดินไปยังจุดยืนประตู แล้วก็กระโดดออกมาเป็นเป็นชุด ๆ
ทีนี้ คิดภาพคนไม่ต่ำกว่า 100 คน อยู่ในภาวะตื่นตระหนกตกใจ ถ้าไม่เหยียบกันตายเพื่อแย่งกันไปที่ประตูเครื่องบิน หลายคนจะตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ประกอบชุดกระโดดยังไง? ประกอบได้แล้วต้องยืนรอกระโดดออกไปทีละคน
กระโดดออกมาแล้วดึงสายร่มตรงไหน? ร่มหลักไม่กางร่มสำรองดึงยังไง?
แค่การอพยพออกจากเครื่องบินบนพื้นดินด้วย Slide หลาย ๆ คนยังไม่ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยเลย เช่น ให้ถอดรองเท้า ห้ามไม่ให้นำส่งของติดตัวออกมา
ในเหตุการณ์ปกติ แค่ตอนเครื่องบินเข้าจอดที่สนามบินแล้วต้องรอให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน ยังจะรอกันไม่ได้เลย แล้วถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนั้น ใครมันจะไปรอล่ะครับ? ตัวใครตัวมัน ใครแกร่งคนนั้นรอด ตามสัณชาตญาณ Survival of the Fittest ถูกไหมล่ะครับ ??
อย่างไรก็ดี อาจจะมีการคิดค้นเทคโนโลยีร่มเพื่อความปลอดภัยที่ติดกับ
เครื่องบินขึ้นมาในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานในเครื่องบินขนาดเล็ก
เช่น Cirrus SR-22 (ในภาพ) แต่สำหรับเครื่องบินพานิชย์ใหญ่ ๆ ยังไม่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน
ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไรครับ?