ส่วนตัวผมเองมีเหตุผลหลักๆคือ
- ผมสิ้นหวังกับระบบการศึกษาของประเทศชาติ ผมรู้สึกประหลาดๆตั้งแต่ได้ยินว่าลูกพี่ลูกน้องต้องเรียนพิเศษตอนอยู่มหาลัย ยิ่งได้มาทราบว่าสมัยนี้การเรียนพิเศษนั้นกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วก็เริ่มรู้สึกว่ามันอะไรกัน
มีครั้งหนึ่งผมกับภรรยาหลุดเข้าไปคลาสที่ติวเด็กเข้าสาธิตเพราะนึกว่าเป็นคอร์สสอนคณิตเด็กเล็ก ติวเตอร์ท่านนี้บอกว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กสอบเข้าสาธิตได้ไม่ใช่เรื่องวิชาการ(ซึ่งต้องมี)แต่คือทำอย่างไรจะให้เด็กนั่งสอบได้เป็นชั่วโมงโดยไม่ว่อกแวก ทำอย่างไรไม่ให้เด็กเสียสมาธิถ้ามีเด็กคนอื่นทำดินสอหล่น ลุกเดิน หรือ ร้องไห้
เขาบอกว่าเคยแนะนำให้ผู้ปกครองที่อยากเอาลูกที่เรียนอยู่นานาชาติจะไปสอบเขาสาธิตให้แกล้งพาลูกไปกรอกใบสมัครและซื้อชุดนักเรียนโรงเรียนวัดแถวบ้านไว้ เพื่อเด็กจะได้มีแรงบันดาลใจ มันบ้าไปแล้ว!!!! - ผมเห็นผลลัพธ์ของระบบการเรียนที่ฝึกให้จำมากกว่าคิด โดยเฉพาะในสายการพัฒนาซอฟต์แวร์ หาเด็กที่กล้าคิดกล้าทำได้โดยไม่ต้องเข็นน้อยมาก ยิ่งมาศึกษาอไจล์ยิ่งทำให้เห็นว่าการศึกษาแบบป้อนก็ไม่ต่างอะไรกับการบริหารองค์กรแบบ command-and-control สุดท้ายก็ได้แค่คนรับคำสั่ง
- โลกทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วขึ้นด้วยอัตราเร็วที่เราไม่เคยคิดฝันมาก่อน การมาอยู่ในแวดวง startup ทำให้ผมได้เห็นถึงความเร็วของการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี การศึกษาแบบต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานศึกษามีความสำคัญลดลงเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ความรู้มีอยู่แค่ปลายเมาส์ การเกิดขึ้นของ Massive Open Online Course (MOOC) อย่าง Kahn Academy ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่ากว่าลูกผมจะโตการเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป
- ศาสตร์ทุกแขนงชี้ให้เห็นแนวโนม้ของการเปลี่ยนขั้วจาก top-down ไปเป็น bottom-up ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ การบริหาร รวมทั้งการศึกษา วิธีการแบบเดิมๆอาจใช้ได้ดีในสมัยก่อนแต่มันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วที่จะใช้กับโลกสมัยนี้ที่นับวันจะมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย เดี๋ยวนี้ถ้าเปิดหูเปิดหน่อยจะพอทราบว่าโลกเริ่มยอมรับกันแล้วว่าการศึกษาที่จะประสบความสำเร็จจริงๆนั้นนั้นครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ช
- ข้อมูลหาง่ายขึ้นและเยอะขึ้นเรื่อย แต่ดูเหมือนสังคมไทยทุกวันนี้กลายเป็นสังคมที่โดนหลอกได้ง่ายขึ้น คนเชื่อเรื่องไร้สาระที่แต่งมาทางเมล์แล้วส่งต่อกันเป็นจดหมายลูกโซ่ได้ง่ายมาก คนส่วนใหญ่แชร์ข้อมูลทางเฟสบุ๊คโดยแทบไม่ได้คิดว่ามันจริงหรือไม่ เราถูกปั่นหัวกันได้ง่ายมาก ทักษะที่สำคัญในการคิดวิเคราะห์หามีไม่ในระบบการศึกษากระแสหลักของเมืองไทย
- การบังคับเด็กวัยเล็กให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับการจับเขามาขังและทรมาน แนวการศึกษาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น Montessori , Waldorf , วิถีพุทธ บอกตรงกันหมดว่าเด็กปฐมวัยนั้นต้องฝึกฐานกายและให้เขาเรียนรู้ผ่านการเล่นการปฏิบัติ ไม่ใช่จับเด็กมานั่งหัดเขียนหนังสือเพียงเพื่อจะให้ทำข้อสอบได้ กล้ามเนื้อของเขายังไม่พร้อมด้วยซ้ำ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาหรือนักจิตวิทยาเด็กอะไร ผมเป็นแค่พ่อคนนึงที่ใช้สามัญสำนึกแล้วเห็นด้วย
- ผมเชื่อว่าระบบอุปถัมภ์จะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ การได้เอาตัวเข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาดังนั้นทำให้เราได้เครือข่ายของเพื่อนร่วมรุ่นที่มักจะอุปถัมภ์กันโดยให้ความสำคัญกับคำว่าเพื่อนมากกว่าความถูกต้องมาด้วย มันเหมือนเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติของเรายังไงก็ไม่รู้ แต่ผมรู้สึกเอาเองว่าประโยชน์จากเครือข่ายนี้มันจะลดความสำคัญลง เพราะเทคโนโลยีทำให้เราเขาถึงข้อมูลมากขึ้น ทำให้เรามีความโปร่งใสมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คงไม่มีวันหมดไปจากเมืองไทยแต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็น ผมได้พบปะผู้คนที่ประสบความสำเร็จมากมายที่ไม่ได้ผ่านสถานบันการศึกษาชื่อดังเหล่านั้น
- ทักษะการใช้ชีวิตสำคัญกว่าวิชาการ โรงเรียนทางเลือกจะสอนทักษะในการใช้ชีวิตกับเด็กมากกว่าเรื่องวิชาการ ผมชอบที่ผู้ปกครองท่านหนึ่งเคยโพสต์ไว้ว่า โรงเรียนทางเลือกช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์
โชคดีที่ภรรยาผมก็มีความคิดคล้ายๆกัน แม้จะไม่ได้เหมือนกันทุกประเด็น แต่เราอยากให้ลูกมีความสุขและเอาตัวรอดได้ในยุคของเขา และเราคิดว่าโรงเรียนทางเลือกจะเพิ่มโอกาสให้เขาบรรลุสิ่งนั้นได้มากขึ้น ก็เท่านั้นครับ
ป,ล. มีคนถามมาว่านิยามโรงเรียนทางเลือกของผมคืออะไร เพราะอีกเดี๋ยวมันก็อาจจะมีโรงเรียนทางเลือกเต็มไปหมด ผมก็ตอบเขาไปว่ามันคือ โรงเรียนที่เด็กเรียนแล้วมีความสุข