รถไฟความเร็วสูงจะถูกแทนที่ด้วยการขนส่งระบบสุญญากาศหรือไม่
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีระบบรถไฟความเร็วสูงที่มีเส้นทางให้บริการครอบคลุมกว่า 12,000 กม. มากกว่าเครือข่ายรถไฟในญี่ปุ่น และยุโรปรวมกัน ด้วยเหตุนี้จีนจึงอาจให้แนวความคิดเรื่องการคมนาคมทางรถไฟในอนาคตกับเราก็เป็นได้
จอห์น ซัดเวิร์ธ กับ แมทธิว วอลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีสายธุรกิจรายงานว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยรถไฟความเร็วสูงซูเปอร์ เอ็กซ์เพรส ที่อังกฤษเพิ่งได้รับเป็นครั้งแรกจากบริษัทฮิตาชิ มีความเร็วสูงสุด 225 กม./ชม. ขณะที่รถไฟระหว่างเมือง อินเตอร์ซิตี 125 ที่อังกฤษใช้มาร่วม 40 ปี วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 201กม./ชม. ส่วนทีจีวีของฝรั่งเศสและเอวีอีของสเปนก็ทำความเร็วสูงสุดได้กว่า 305 กม./ชม. ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าเมื่อใดนักเดินทางจะได้เห็นรถไฟหัวกระสุนวิ่งให้บริการในชนบท อีกทั้งยังทำความเร็วได้หลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปัจจุบันหลายฝ่ายหันไปฝากความหวังกับเทคโนโลยีการคมนาคมทางหลอดสุญญากาศ หรือ อีทีที จากจีนและประเทศอื่น ๆ โดยรถไฟที่ใช้เทคโนโลยีนี้สามารถวิ่งด้วยความเร็วกว่า 1,600 กม./ชม. นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับไฮเปอร์ลูป หรือการเดินทางในท่อที่เกือบสุญญากาศ และเป็นเทคโนโลยีที่ถูกเสนอโดยนายอีลอน มัสค์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เทสลา มอเตอร์ส และสเปซเอ็กซ์ ซึ่งมีแผนการผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ ปีหน้า
อย่างไรก็ดีจีนมีความคืบหน้าไปกว่านั้น โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง ของจีนได้เริ่มทดลองระบบขนส่งโดยใช้หลอดสุญญากาศไปแล้ว ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟจากมหาวิทยลัยถงจี้ ในนครเซี่ยงไฮ้ระบุว่าเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยจำเป็นต้องควบคุมความเสี่ยงและงบในการผลิตให้สำเร็จเสียก่อน ด้านนายเจอร์มี แอคลัม ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่งเห็นพ้องว่า การผสมผสานเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และการคมนาคมโดยใช้หลอดสุญญากาศ อาจมีราคาสูงมากกว่าการคมนาคมแบบดั้งเดิมโดยรถไฟความเร็วสูงบนรางซึ่งอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเร็วที่จะได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งอาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น การอพยพผู้โดยสารในกรณีที่รถไฟเสียขณะที่อยู่ในท่อสุญญากาศ