“อำแดงเหมือน” วีรสตรีที่ถูกลืม ผู้เรียกร้องสิทธิสตรีให้แก่หญิงไทยเป็นครั้งแรก
“อำแดงเหมือน” เมื่อกล่าวถึงชื่อนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า เธอคือใครและมีความสำคัญอย่างไร แต่หารู้หรือไม่ว่า เธอคนนี้คือผู้จุดประกายแสงแห่งสิทธิสตรีของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นวีรสตรีที่ถูกลางเลือนในกันสมัยนี้จนน่าแปลกใจ
เรื่องราวของอำแดงเหมือน เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ นับเป็นช่วงที่สตรีถูกประเมินค่าต่ำมากในสังคมไทย เพราะบิดามารดาหรือสามีสามารถขาย บุตรสาว ภรรยาของตนให้กับชายใดก็ได้ แม้สตรีผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จนมีคำกล่าวว่า “ผู้หญิงเป็นควาย…ผู้ชายเป็นคน”
อำแดงเหมือนในเวลานั้นมีอายุ ๒๑ ปี ชอบพอรักใคร่กับนายริด โดยที่บิดามารดาของเธอไม่เคยทราบ ในเวลาต่อมาบิดามารดาของอำแดงเหมือนจัดการบังคับแต่งกับนายภู แต่ทว่าเธอไม่สมัครใจที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับนายภู เนื่องจากเธอได้มอบหัวใจให้แก่นายริดไปเสียแล้ว
ต่อมานายภูได้มาฟ้องกล่าวหานายริด พระนนทบุรีและกรมการบังคับให้นายริดส่งตัวอำแดงเหมือนให้แก่ตุลาการ อำแดงเหมือนได้ให้การว่าไม่ได้เป็นภริยาของนายภู แต่เธอกลับถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง และถูกข่มขู่กลั่นแกล้งมากมาย เพื่อที่จะให้เธอจำใจยอมเป็นภริยานายภู จนในที่สุดอำแดงเหมือนจึงได้ตัดสินใจหนีมาถวายหนังสือฎีกาแก่พระเจ้าอยู่หัว และยืนยันว่าไม่ได้เป็นภริยาของนายภูโดยสมัครใจที่จะอยู่กินกับนายริด
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า
“หญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้ บิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้ เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา”
จากเหตุการณ์นี้จึงนับไว่าอำแดงเหมือนเป็นสตรีไทยคนแรก ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง คดีนี้จึงเป็นคดีบรรทัดฐานคดีแรกในทางวิชาการด้านกฎหมายที่วางรากฐานในเรื่องสิทธิสตรีไว้ และนับว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับสตรีไทย
เป็นที่น่ายกย่องว่า “เหมือน” เธอเลือกที่จะต่อสู้ฟันฝ่าต่อชะตาชีวิตที่แสนลำเค็ญและเลือกที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความรักที่ตนปรารถนาแม้สังคมในยุคสมัยนั้นจะไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เธอทำก็ตาม เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมและกฎหมาย
ละคอนเวทีนิติฯ ธรรมศาสตร์จึงนำเรื่องราวมาตีความขึ้นใหม่ในมุมมองจากนักศึกษากฎหมายเพื่อที่จะตีแผ่สิทธิสตรีในแง่ประวัติศาสตร์ไทยครั้งสำคัญแก่สาธารณะชนได้ศึกษาในรูปแบบสื่อบันเทิงที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย
“เหมือน” ละคอนเวทีพีเรียด ว่าด้วยหนึ่งหญิงแกร่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะขอลุกขึ้นมาลิขิตชีวิตตัวเอง ! จัดแสดงในวันที่ 20-22 มีนาคมนี้ จำหน่ายบัตรแล้วที่ www.lawtuplay.com ณ หอประชุมสรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ที่มา: lawtuplay