แคลอรี่.. คือ หน่วยในการวัด อะไรกัน??
แคลอรี่ หรือ แคลอรี (calorie) คือ หน่วยในการวัดพลังงาน ที่เรามักจะเห็นได้จากฉลากข้างกล่องบรรจุอาหารต่างๆ ซึ่งมีไว้เพื่อบอกปริมาณแคลอรี่ของอาหารที่ได้รับประทานเข้าไป เพราะร่างกายต้องการพลังงาน โดยแคลอรี่ในระบบเมตริกจะถูกแทนที่ด้วย หน่วยจูล (joule) ในระบบ SI แต่จะนิยมใช้แคลอรี่เป็นหน่วยที่ใช้บอกพลังงานจากอาหาร (food energy) โดยนิยมของแคลอรี่จะมีอยู่ด้วย 2 รูปแบบคือ
- Small calorie (แคลอรี่เล็ก) เป็นหน่วยของปริมาณความร้อน โดย 1 แคลอรี่ จะหมายถึงปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำบริสุทธิ์ 1 กรัม มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ที่ความดันบรรยากาศ 1 แคลอรี่ จะเท่ากับ 4.186 จูล (joule)
- Large calorie (แคลอรี่ใหญ่) เป็นหน่วยของพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหาร แคลอรี่สำหรับอาหาร (food calorie) จะเป็น large calorie โดย 1 แคลอรี่อาหาร จะมีค่าเท่ากับ 1 กิโลแคลอรี่ (kcal) หรือ 1,000 แคลอรี่ ซึ่งอาจจะเรียกเพียง “แคลอรี่” แทนการเรียกชื่อเต็มว่า “กิโลแคลอรี่” ก็ได้ โดยจะมีค่าเทียบเท่ากับพลังงานที่ทำให้น้ำ 1 กิโลกรัม มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส หรือเท่ากับ 4.186 กิโลจูล (kilojoule หรือ KJ)
สรุป แคลอรี่ (cal) คือ หน่วยวัดพลังงาน โดยหนึ่งแคลอรี่ก็คือปริมาณที่ทำให้น้ำ 1 กรัม มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ส่วนพลังงานที่ใช้ในร่างกายหรือพลังงานที่ได้รับจากอาหารจะเรียกเป็น “กิโลแคลอรี่” (kcal) ซึ่งมีไว้เพื่อบอกให้เราทราบว่า อาหารที่เรารับประทานมีแคลอรี่เท่าไหร่ แล้วเราควรจะเลือกบริโภคอาหารชนิดใด เพื่อให้เพียงพอในชีวิตประจำวัน
รู้จักกับแคลอรี่ให้มากขึ้น
- จูล หรือ กิโลจูล คือ หน่วยของพลังงานไฟฟ้า โดยทั่วไปแล้วจะนำมาใช้ในทางวิทยาศาสตร์ โดยจะมีค่าเท่ากับพลังงานที่ได้รับจากการปล่อยกระแสไฟฟ้า 1 แอมแปร์ วิ่งผ่านตัวต้านทาน ที่มีความทาน 1 โอห์ม เป็นระยะเวลา 1 วินาที
- แคลอรี่และกิโลจูลมีความหมายคล้ายกัน แต่มีหน่วยต่างกัน ในประเทศไทยเรานิยมใช้แค่หน่วย แคลอรี่ (Calories) หรือ กิโลแลอรี (Kcal) แต่ในต่างประเทศมักจะนิยมใช้หน่วยกิโลจูลควบคู่ไปกับแคลอรี่ ดังนั้น หากต้องอ่านฉลากอาหารของต่างประเทศที่ไม่มีบอกหน่วยแคลอรี่ แต่บอกเพียงหน่วยกิโลจูล ก็ให้เอา 4.184 ไปหาร เพียงเท่านี้คุณก็จะทราบปริมาณแคลอรี่ของอาหารชนิดนั้นแล้ว
- ทั้งหน่วยแคลอรี่และหน่วยจูล ต่างก็เป็นหน่วยที่เล็กมาก เมื่อเราพูดถึงอาหารหรือพลังงาน เราก็มักจะพูดถึงมันในรูปของผลคูณของ 1,000 ซึ่งหมายความว่า 1,000 แคลอรี่ ก็คือ 1 กิโลแคลอรี่ หรือ 1,000 แคลอรี่ ส่วนคำว่า 1,000 จูล ก็คือ 1,000 กิโลจูล
- เมื่อพูดถึงพลังงานที่ได้จากอาหาร (Nutritional energy) เราจะเรียกว่า Calorie แทนการใช้คำว่า Energy โดยจะเขียนแคลอรี่ที่หมายถึงพลังงานที่ได้จากอาหารนี้ด้วย C ตัวใหญ่ (Cal หรือ เรียกว่า แคลอรี่ใหญ่) โดย 1 Calorie (Nutritional calorie) จะมีค่าเท่ากับ 1,000 standard calories (cal ใช้ซีตัวเล็ก หรือเรียกว่า แคลอรี่เล็ก) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1 kcal สรุปก็คือ 1,000 cal = 1 Cal = 1 kcal
- ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ แคลอรี่ ก็คือ กิโลแคลอรี่ (ไม่ต้องเอาตัวเลขไปคูณด้วย 1,000 อีก เนื่องจากมีบางท่านเข้าใจว่าแคลอรี่คือหน่วย ส่วนกิโลคือ 1,000) เพราะถ้านับเพียง “แคลอรี่” (cal) อย่างเดียวตัวเลขมันจะเยอะ ก็เลยทำเป็นกิโลด้วยการเติม k ลงไป แต่นักวิชาการยังเห็นว่าการที่เติม k ลงไปเป็น kcal มันก็ยังดูเยอะอยู่ดี ก็เลยตัด k ออก แล้วเขียนแคลอรี่ขึ้นมาใหม่โดยใช้ตัว C (ตัวใหญ่) แทน c (ตัวเล็ก) ก็จะได้เป็น Cal ซึ่งตัวซีตัวใหญ่ก็จะมีค่าเป็นหนึ่งพันไปด้วย จึงสรุปได้ว่า Cal = kcal แต่เมื่อนักโภชนาการใช้หน่วย นี้ไปนานๆ (อาจไม่ได้คิดเผื่อคนอื่น) ก็เลยเขียนเป็นซีตัวเล็กหมด
- ทั้งแคลอรี่และจูลมันเกี่ยวข้องยังไงกับร่างกาย? เนื่องจากเราไม่ได้ใช้พลังงานในการทำให้อุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้นหรือปล่อยให้มันวิ่งผ่านตัวต้านทาน แต่ร่างกายของเราต้องการใช้พลังงานเหล่านี้เพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่และนำพลังงานเหล่านี้ไปใช้ในการทำกิจกรรมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
สารอาหารที่ให้พลังงาน
สารอาหารที่ให้พลังงาน คือ อาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
- โปรตีน จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม
- คาร์โบไฮเดรต จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม (เท่ากับโปรตีน)
- ไขมัน จะให้พลังงานสูงสุดคือ 9 แคลอรี่ต่อกรัม (ให้พลังงานเป็น 2 เท่าของคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีน)
ปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวัน
โดยปกติแล้วปริมาณของแคลอรี่ที่ควรบริโภคต่อวันสำหรับคนทั่วไปที่ทำงานหนักปานกลาง คือประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ แต่สำหรับผู้ที่ทำงานหนักหรือต้องใช้พลังงานมาก เช่น กรรมกร หรือนักกีฬา ก็ต้องการพลังงานมากกว่านี้ ส่วนผู้ที่ทำงานเบากว่าคนปกทั่วไปก็ต้องการพลังงานน้อยกว่านี้ และการบริโภคในแต่ละมื้อสำหรับคนทั่วไม่ควรจะเกิน 600 กิโลแคลอรี่ โดยอาหารจานเดียว อย่างเช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว จะให้พลังงานประมาณ 300-500 กิโลแคลอรี่
ตามคำแนะนำของ Thai Recommended Daily Intakes (Thai RDI) ได้ระบุปริมาณของสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 แคลอรี่ โดยปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันของคาร์โบไฮเดรตคิดเป็น 60% (1,200 กิโลแคลอรี่) หรือเป็นปริมาณที่ควรบริโภคเท่ากับ 300 กรัมต่อวัน, โปรตีน 10% (200 กิโลแคลอรี่) หรือเป็นปริมาณที่ควรบริโภคเท่ากับ 50 กรัมต่อวัน, และไขมัน 30% (600 กิโลแคลอรี่) หรือเป็นปริมาณที่ควรบริโภคเท่ากับ 66.6 กรัมต่อวัน หากต้องการพลังงานมากหรือน้อยกว่านี้ให้ปรับเพิ่มหรือลดลงตามสัดส่วนจากพลังงานทั้งหมดที่ต้องการต่อวัน ซึ่งร่างกายของเราจะใช้พลังงานเหล่านี้ในการทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานและกักเก็บพลังงานส่วนเกินไว้ในรูปของไขมันและแหล่งพลังงานอื่นๆ ตามอวัยวะในร่างกายไว้ใช้ในอนาคต