มารู้จักกับหอดูดาวซีกฟ้าใต้ของไทยกันดีกว่า
มีคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าประเทศไทยมีหอดูดาวอยู่ต่างประเทศ เพื่อไว้สำหรับสำรวจท้องฟ้าในซีกโลกใต้ ซึ่งประเทศไทย ไม่สามารถสำรวจได้ทั่วก็เพราะด้วยเหตุที่โลกกลม
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณละติจูดที่ 5 ถึง 20 องศาเหนือ ท้องฟ้าที่ทำการสังเกตการณ์โดยกล้องโทรทรรศน์ต่างๆ ในประเทศไทยนั้น จะเป็นท้องฟ้าในซีกฟ้าเหนือ (Northern Hemisphere) ทั้งหมด และท้องฟ้าในซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere) บางส่วนเท่านั้น
อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการศึกษาใจกลางของแกแล็คซีทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ในซีกฟ้าใต้และมีวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจจำนวนมากรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการศึกษาใจกลางทางช้างเผือกนี้ จะเป็นช่วงเวลาประมาณเดือนมิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคมทุกปี ซึ่งตรงกับฤดูฝนในประเทศไทย
กล้องโทรทรรศน์ภายใต้โครงการ PROMPT ณ Cerro Tololo ประเทศชิลี
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว สถาบันฯ จึงเล็งเห็นว่าหากมีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลาง เส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ที่มีกล้องถ่ายภาพ (CCD) คุณภาพสูง สามารถควบคุมระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต ไว้ ณ สถานที่ติดตั้งในซีกโลกใต้ เช่น ในประเทศชิลีหรืออาร์เจนตินา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ของนักวิจัยและในการให้ บริการแก่โรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยที่ต้องการทำการศึกษาหรือโครงการสังเกตุการณ์วัตถุท้องฟ้าในซีก ฟ้าใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดย รวมของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
ภาพท้องฟ้าสถานที่ตั้งหอดูดาวซีกฟ้าใต้ Cerro Tololo Inter-American Observatory (CTIO)ประเทศชิลี
ดังนั้นสถาบันฯ จึงได้ร่วมมือกับ University of North Carolina ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร ภายใต้โครงการ PROMPT (Panchromatic Robotic Optical Monitoring and Polarimetry Telescopes) ซึ่งประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ระยะไกล โดยสถานที่ติดตั้งคือ เซอร์โร โทโลโล (Cerro Tololo) ประเทศชิลี (ซีกโลกใต้) ซึ่งมีเป็นสถานที่ที่มีกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก โดยกล้องโทรทรรศน์เหล่านี้เป็นของประเทศต่างๆ ที่มาติดตั้งไว้ให้นักวิจัยของประเทศนั้นๆ ใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย นอกจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ ยังมีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.4 เมตร ถึง 1 เมตร จำนวนมากที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของประเทศต่างๆ นำมาติดตั้งไว้และใช้ระบบการควบคุมระยะไกลมาประเทศต่างๆ ผ่านระบบอินเตอร์เนต
กล้องโทรทรรศน์ PROMPT-8 ขนาด0.6 เมตรที่ติดตั้งอยู่ ณ Cerro Tololo Inter-American Observatory (CTIO) ประเทศชิลี
ข้อดีอีกหลายประการของกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งอยู่ในซีกฟ้าใต้ อาทิ จำนวนคืนที่สังเกตการณ์ได้ในแถบนี้มีมากกว่า 300 คืนต่อปี นอกจากนี้การตั้งอยู่ในฝั่งตรงข้ามของโลกกับประเทศไทยยังมีข้อดีในการใช้ กล้องสนับสนุนการเรียนการสอน เนื่องจากในเวลากลางคืนที่หอดูดาวเหล่านี้จะตรงกับเวลากลางวันในประเทศไทยพอดี
โดมสามารถเปิดโล่งได้กว้างกว่า 360 องศา