"ทัชมาฮาล" อนุสรณ์แห่งความรักเหนือกาลเวลาที่จักรพรรดิชาห์ ชหานสร้างให้กับมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์
ทัชมาฮาล หรือ ตาชมะฮัล (Taj Maha) 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ของประเทศอินเดีย สถานที่แห่งนี้คนทั่วไปต่างรู้กันว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิชาห์ ชหาน กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โมกุล(Mughal Empire India) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อฝังพระศพของมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ พระนางอรชุมันท์ พานุ เพคุม ที่ภายหลังจักรพรรดิชาห์ ชหานได้มอบพระนามใหม่ให้กับพระนางว่า "มุมตัซ มาฮาล"(อัญมณีแห่งราชวัง)
ตำนานรักของทั้งสองพระองค์เกิดขึ้นเมื่อครั้งจักรพรรดิ์ยังทรงพระยศเป็น "เจ้าชายขุร์รัม" วันหนึ่งทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชน(บ้างก็ว่าเป็นทหารต่ำศักดิ์) ออกไปเดินตลาดกับองค์รักษ์คนสนิท ที่ตลาดพระองค์ทรงได้พบกับ "อรชุมันท์ พานุ เพคุม" บุตรสาวของรัฐมนตรีซึ่งขายผ้าอยู่ กำลังหยอกล้อกับเพื่อนสนิทประการใดไม่ทราบ ได้ขว้างจอกมาถูกพระเศียรของเจ้าชายขุร์รัม เพื่อเป็นการขอโทษเธอจึงได้ช่วยซับเลือดและมอบผ้าราคาแพงชิ้นหนึ่งให้ชายแปลกหน้าผู้นี้
เจ้าชายขุร์รัมทรงตกหลุมรักสาวงามนางนี้ทันทีที่ได้พบขณะนั้นพระองค์มีพระชนมมายุเพียง 14 ชันษาเท่านั้น พระองค์มีรับสั่งให้องค์รักษ์คนสนิทแอบติดตามนางและเพื่อนๆไป เพื่อสืบดูว่านางเป็นลูกสาวของใคร
เมื่อกลับวังเจ้าชายขุร์รัมทูลพระราชบิดาของพระองค์ว่าพระองค์มีความประสงค์ที่จะแต่งงานกับบุตร ตรีของรัฐมนตรี พิธีอภิเษกถูกจัดขึ้นหลังจากนั้น 5 ปี จากนั้นมาทั้งสองพระองค์ก็มิเคยอยู่ห่างกันอีกเลย
พระนางมุมตัช มาฮาลกับจักรพรรดิชาห์ ชหาน
ตลอดระยะที่อยู่ร่วมกันพระมเหสี หรือนามที่จักรพรรดิชาห์ ชหาน ประทานให้ว่า "มุมตัช มาฮาล" อันแปลว่าอัญมณีแห่งราชวัง พระนางเป็นภรรยาที่แสนประเสริฐพระนางไม่เคยใช้อำนาจวาสนาที่มีอยู่กลั่นแกล้งรังแกผู้ใด พระนางมีความรู้เรื่องรัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ และยุทธศาสตร์เป็นอย่างดี ดั้งนั้น จึงได้เป็นที่ปรึกษาภารกิจของจักรพรรดิชาห์ ชหานทั้งการปกครองและการวางแผนการทำสงครามอีกทั้งยังมีความเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ ทั้งหมดนั้นทำให้จักรพรรดิชาห์ ชหานทรงประทับใจและรักพระมเหสีอย่างที่สุด ความรักที่จักรพรรดิชาห์ ชหานมีไม่ใช่เรื่องหลงใหลในรูปโฉมหรือเสน่ห์ของพระมเหสีคนงามแต่อย่างใด แต่เป็นความรักที่สามีรักภรรยาด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์ มุมตัช มาฮาล เป็นมเหสีคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์ทั้งยามสงบและยามสงคราม
ทั้งสองพระองค์ครองคู่กันมาเป็นเวลา 18 ปี กระทั่งเมื่อจักรพรรดิชาห์ ชหานยกทัพไปปราบกบฏ ณ เมืองเดคข่าน พระมเหสีมุมตัช มาฮาลที่ทรงพระครรภ์แก่ใกล้จะมีพระประสูติการก็ยังตามเสด็จพระสวามีเช่นเคย หลังจากจักรพรรดิชาห์ ชหานมีชัยชนะเหนือกบฎ ทั้งสองเสด็จกลับระหว่างทางพระมเหสีมุมตัช มาฮาลมีพระประสูติการทายาทลำดับที่ 14 ทรงตกพระโลหิตเป็นจำนวนมาก และสิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของพระสวามีหลังจากมีพระประสูติการเพียงหนึ่งชั่วโมง
จักรพรรดิชาห์ ชหานทรงโทมนัสยิ่งนักนับจากวันสิ้นพระชนม์ของมเหสีอันเป็นที่รักยิ่ง พระองค์ไม่เสวยพระกระยาหารนานถึง 7 วัน พระองค์ไม่ออกว่าราชการ ห้ามมีการบรรเลงดนตรีในพระราชวัง ห้ามแต่งเครื่องเพชรนิลจินดาที่หรูหราต่างๆ และห้ามแต่งเครื่องแต่งกายสีอื่นนอกจากสีขาวอันเป็นสีไว้ทุกข์ และพระองค์ได้ให้ประชาชนทั่วราชอาณาจักรไว้ทุกข์ให้แก่พระนางมุมตัช มาฮาลเป็นเวลา 2 ปี โดยมีคำสั่งถ้าผู้ใดขัดขืนก็ให้ประหาร
จักรพรรดิชาห์ ชหานทรงมีรับสั่งให้หาสถาปนิกและนายช่างจากทั่วอินเดีย เตอร์กี เปอร์เซีย อาหรับ เพื่อคิดรูปแบบที่ฝังศพพระมเหสี จักรพรรดิชาห์ ชหานได้เลือกแบบของ อุสตาด ไอซา สถาปนิกชาวอิหร่าน เป็นโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม (หรือทรงหัวหอม) มีขนาด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร
การสร้างทัชมาฮาลนั้น เริ่มหลังจากพระนางมุมตัช มาฮาลสิ้นพระชนม์ 3 ปี เนื่องเพราะ 3 ปีหลังพระมเหสีสิ้นพระชนม์จักรพรรดิชาห์ ชหานทรงหมกมุ่นอยู่ในความทุกข์เศร้าโศกเสียใจตลอดเวลาทรงปล่อยพระวรกายจนผมที่ดำกลายเป็นสีขาว ในทุกวันพระองค์จะทรงนุ่งขาวห่มขาวไปนั่งรำพันถึงพระมเหสีของพระองค์ข้างหลุมศพอย่างกับคนเสียสติ
ด้วยความโทมนัสอย่างหาที่สุดไม่ได้พระองค์จึงทรงสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์กับพระมเหสี โดยทรงเลือกทำเลที่ดีที่สุดบริเวณริมโค้งแม่น้ำยมุนาเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์แห่งรักนี้
การสร้างครั้งนี้ใช้แรงงานผู้คนมากมายกว่า 20,000 คน ราชสมบัติส่วนใหญ่ที่มีได้สูญเสียไปกับการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์ ประมาณการว่าเงินในท้องพระคลังที่นำมาสร้างนั้นมากถึง 45 ล้านรูปี กินเวลาสร้างนานถึง 22 ปี อนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ก็เสร็จสมบูรณ์อย่างงดงาม และพระองค์ก็ทรงให้ชื่อว่า "ทัชมาฮาล" (Taj Mahal)
เมื่ออนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างเสร็จ อุสตาด ไอซา ก็ถูกถูกประหารชีวิต เพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สวยกว่าทัช มาฮาลแห่งนี้อีกต่อไป
ความสวยงามของสถาปัตยกรรมอันเลื่องชื่อ นอกจากจักรพรรดิชาห์ ชหานจะเลือกแบบที่ดีที่สุดสวยที่สุดแล้ว ยังเลือกวัสดุที่ใช้อย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทุกสิ่งอย่างถูกออกแบบมาอย่างสมมาตรลงตัว ตั้งแต่ทางเดินนำสู่ตัวอาคารจะเริ่มต้นด้วยสวนขนาดใหญ่ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วนที่สมมาตรโดยใช้ธารน้ำ 2 สายที่ก่อสร้างด้วยหินอ่อนเป็นตัวแบ่ง ในธารน้ำมีน้ำพุเป็นระยะ ตลอดแนวธารน้ำยังมีต้นสนปลูกเป็นแนวเรียงรายสวยงามนำสายตาไปสู่ตัวอาคาร
ตัวอาคารล้อมรอบด้วยหออะซานทั้ง 4 ด้าน ทางเข้าด้านหน้าของอาคารตรงกลางเป็นหลังคาโค้งขนาดใหญ่ขนาบด้วยหลังคาโค้งขนาดเล็กทั้งสองด้าน และส่วนที่เด่นที่สุดของทัชมาฮาลก็คืออาคารหินอ่อนสีขาวนวลตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านบนของอาคารประดับด้วยโดมขนาดมหึมา เส้นผ่านศูนย์กลาง 58 ฟุต ยอดโดมสูง 213 ฟุต ภายในห้องโถงกลางที่ใหญ่ที่สุดใต้โดมยักษ์แห่งนี้เอง มีแท่นวางพระศพที่ทำด้วยหินอ่อนของทั้ง 2 พระองค์วางเคียงคู่กัน แต่พระศพจริงๆไม่ได้อยู่ในหีบที่เห็น แต่ถูกฝังอยู่ภายในอุโมงค์ใต้ดินตรงกับที่วางหีบพระศพนั่นเอง(หีบพระศพจริงอยู่ในห้องลึกลงไปด้านล่างประมาณ 10 เมตร) รอบๆ มีฉากกั้นทั้งสี่ด้าน ตัวฉากกั้นเป็นหินอ่อนฉลุลวดลายเครือไม้และไม้ดอกที่งามวิจิตรโปร่งตา ภายในห้องโถงใหญ่มีแสงสว่างส่องจากภายนอกเข้าไปได้ตามช่องแสงที่ติดกระจกสีไว้ เวลาพูดคุยกันจะมีเสียงสะท้อนดังก้อง
สำหรับการตกแต่งและลวดลายจะเป็นการตกแต่งแบบอิสลาม หลักๆแล้วจะมีลายเส้นอักษร ซึ่งสลักเป็นโองการต่างๆจากคำภีร์อัลกุรอาน 22 ซูรอฮ และยังมีรูปทรงเลขาคณิตและลวดลายดอกไม้ ทั้งยังมีการฝังพลอยที่มีค่าบนผนังด้วย
หลายปีต่อมาหลังจากสร้างอนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาลเสร็จสิ้น ได้เกิดศึกชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระโอรสของพระองค์เอง ในระหว่างนั้นเจ้าชายโอรังเซบ พระโอรสของพระองค์ก็ได้จับจักรพรรดิชาห์ ชหานไปขังอยู่ที่ป้อมอัคราซึ่งอยูฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับทัชมาฮาล ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์เสียสติ และเจ้าชายโอรังเซบขึ้นครองบัลลังก์แทน
ระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่ป้อมอัคราพระองค์ทรงมองทัชมาฮาลและรำลึกถึงพระมเหสีของพระองค์ตลอด ระยะเวลา 8 ปี จนกระทั่งในวันสุดท้ายก่อนสวรรคตจักรพรรดิชาห์ ชหานใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยการกำเศษกระจกไว้ในพระหัตถ์ หลังจากนั้นพระโอรสก็ได้นำพระศพของพระองค์มาฝังไว้เคียงข้างพระมเหสีที่พระองค์รักยิ่งและมิเคยลืมเลือน
ทุกวันนี้ ทัชมาฮาลยังได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลกว่า เป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ที่มีทั้งความงามและความลงตัว การชมทัชมาฮาลในเวลาที่ต่างกัน อาจทำให้เห็นทัศนียภาพและได้อารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกัน
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต
ซ้ำขออภัยค่ะ