สิ่งที่ทำให้หมอ 2 คนนี้แตกต่างกัน มันส่งผลต่อการดูแลคนไข้เด็ก
มีเรื่องของของหมอสองคน ซึ่งเกิดขึ้นเกือบร้อยปีมาแล้ว คนไข้เป็นเด็กเร่ร่อน อายุ 12 ปี ป่วยเป็นไข้ ถูกนำตัวมาให้หมอรักษา หมอใหญ่จึงให้หมอหนุ่มป้อนยา พอหมอหนุ่มป้อนยา ยังไม่ทันจะถึงปาก เด็กก็ปัดช้อนยาทิ้ง หมอโกรธมาก นึกในใจว่าฉันอุตส่าห์ช่วยเธอ ยังมาทำอย่างนี้อีก งั้นไม่ต้องกินยาแล้วกัน แล้วเขาก็เดินออกไป เมื่อหมอใหญ่เห็นเข้า จึงมาป้อนยาเอง เด็กก็ปัดอีกแต่หมอไม่โกรธ ในการป้อนครั้งที่สองหมอใหญ่บอกว่า ยาไม่ขมหรอก กินเถอะ เด็กก็ปัดอีก หมอก็ไม่โกรธ ป้อนยาเป็นครั้งที่สามคราวนี้ ยิ้มให้ด้วย เด็กก็ปัดอีก ยาหกเลอะเทอะ แต่หมอใหญ่ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ครั้งที่สี่นี้นอกจากยิ้มให้ก็ยังทำท่าทำทาง อ้าปาก เพื่อให้เด็กทำตาม หมอใหญ่ยอมทำตัวเหมือนเด็ก ในที่สุดเด็กก็ยอมกินยา
ความแตกต่างที่สำคัญของหมอสองคนนี้คือ อัตตา กับ เมตตา
หมอหนุ่มนั้นคิดว่า กูเป็นหมอนะเว้ย แต่หมอใหญ่ นึกถึงแต่เด็ก อยากให้เด็กหาย ในใจมีแต่เมตตา มานะหรืออัตตาจึงไม่อาจครอบงำจิตใจได้
เบื้องหลังความเป็นมาของเด็กคนนี้ก็คือเด็กเคยผิดหวังกับผู้ใหญ่บางคนมาก่อน ถูกหลอก จึงไม่ไว้ใจใคร และไม่อยากผูกพันกับใคร เพราะกลัวว่าจะผิดหวังอีก หมอใหญ่เข้าใจปัญหาเด็กเร่ร่อน จึงรู้ว่าทำไมเด็กคนนี้จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวแบบนี้ ความเข้าใจหรือปัญญา ทำให้หมอใหญ่มีเมตตา ไม่ถือสาเด็ก ปล่อยวางได้ และสามารถชนะใจเด็กได้ในที่สุด
นี้เป็นตัวอย่างว่าการทำงานอย่างปล่อยวาง โดยเฉพาะการปล่อยวางอัตตา ทำให้งานสำเร็จมากกว่า งานได้ผล คนเป็นสุข ในชีวิตของเราจะต้องเจอกับเรื่องที่มากระทบมากมาย อุปสรรคเยอะแยะ สิ่งที่จะช่วยได้คือการปล่อยวาง โดยมีพื้นฐานคือ สติ สมาธิ ปัญญา
Cr. หมอสารภี รักในหลวง
ขงเบ้งน้อย ศิวกรคนในฝัน