ประวัติความเป็นมาของมวยไทย
ประวัติความเป็นมาของมวยไทย
มวยไทยเริ่มขึ้นในสมัยไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนไว้ว่าจะเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เท่าที่ได้ปรากฏนั้นมวยไทยได้เกิดขึ้นมานานแล้วและอาจเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับชาติไทย เพราะมวยไทยนั้นเป็นศิลปประจำชาติไทยเราจริงๆยากที่ชาติอื่นจะลอกเลียนแบบได้
หลายคนกล่าวว่า มวยไทย มีความคล้ายศิลปะการต่อสู้ของหลายประเทศ ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว และเขมร ก็มีมวยทำนองเดียวกัน ส่วนในพม่ามีมายที่เรียกว่า บานโดะ ส่วนในเวียดนามมีศิลปะการต่อสู้ ด้วยมือเปล่าที่เรียกว่า เวียด หวู ด๋าว ซึ่งค่อนข้างคล้ายไปทางคาราเต้
มวยไทยในสมัยก่อนเท่าที่ทราบจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเราได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันแต่ดาบสองมือและมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็มีการรบประชิดตัว คนไทยเห็นว่าในสมัยนั้นการรบด้วยดาบเป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไปบางครั้งคู่ต่อสู้อาจเข้ามาฟันเราได้ง่าย คนไทยจึงได้ฝึกหัดการถีบและเตะคู่ต่อสู้เอาไว้เพื่อคู่ต่อสู้จะได้เสียหลักแล้วเราจะได้เลือกฟันง่ายขึ้นทำให้คู่ต่อสู้แพ้ได้
ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้มีการฝึกถีบเตะแล้วก็เกิดมีผู้คิดว่าทำอย่างไรจึงจะใช้การถีบเตะนั้นมาเป็นศิลปสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงต้องให้มีผู้ที่จะคิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่างๆไว้อวดชาวบ้านและเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้า ชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบเตะแพร่หลายและบ่อยครั้งเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมาย แต่สำหรับที่ฝึกมวยไทยนั้นก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อนและมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน
ดังนั้นมวยไทยในสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อความหมาย ๒ อย่างคือ
๑. เพื่อไว้สำหรับสู้รบกับข้าศึก
๒. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกันตัว
ในสมัยนั้นใครมีเพลงดาบดีและเก่งกาจทางรบพุ่งนั้นจะต้องเก่งทางมวยไทยด้วย เพราะเวลารบพุ่งนั้นต้องอาศัยมวยไทยเข้าช่วย ดังนั้นวิชามวยไทยในสมัยนั้นจึงมุ่งหมายที่จะฝึกฝนเพลงดาบและวิชามวยไทยไปพร้อมๆกันเพื่อที่จะรับใช้ประเทศชาติด้วยการเป็นทหารได้เป็นอย่างดี
แต่เมื่อพ้นจากหน้าสงครามก็จะมีการชกมวยกันเพื่อความสนุกสนาน และมีการพนันขันต่อกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่งกับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาชกกันในหน้าที่มีงานเทศกาล หรือเกิดมีการท้าทายกันขึ้นและมีการพนันขันต่อ มวยในสมัยนั้นชกกันด้วยหมัดเปล่าๆยังไม่มีการคาดเชือก เช่น สมัยอยุธยาตอนต้น ในสมัยนั้นคนไทยที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศในวิชามวยไทยมากที่สุดคือนายขนมต้ม ซึ่งได้ใช้วิชามวยไทยต่อสู้พม่าถึง ๑๐ คนและพม่าก็ได้แพ้นายขนมต้มหมดทุกคน จนถึงกับกษัตริย์พม่าพูดว่า
"คนไทยถึงแม้ว่าจะไม่มีดาบ แม้แต่มือเปล่าก็ยังมีพิษสงรอบตัว"
นายขนมต้มจึงเปรียบเสมือนผู้เป็นบิดาของวิชามวยไทยเพราะทำให้คนไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับวิชามวยไทยเป็นอันมากในสมัยนั้น และชื่อเสียงก็ได้เลื่องลือมาจนถึงกับปัจจุบันนี้
ในสมัยต่อมามวยไทยก็ยังฝึกฝนคู่กับการฝึกเพลงดาบอยู่และยังฝึกและใช้เพื่อการทำสงครามและฝึกฝนเพื่อการต่อสู้ป้องกันตัว บางทีก็ฝึกเพื่อชกในงานเทศกาลต่างๆ ในสมัยอยุธยาตอนปลายพระมหากษัตริย์ของไทยบางพระองค์มีฝีมือในทางมวยไทยอยู่มาก เช่น พระเจ้าเสือหรือขุนหลวงสรศักดิ์ ซึ่งได้หนีออกจากพระราชวังไปชกมวยกับชาวบ้านและชกชนะด้วย ต่อมาประชาชนทราบและเห็นว่าพระองค์ก็เป็นผู้มีฝีมือในวิชามวยไทยอยู่ในขั้นดีเยี่ยม ในสมัยต่อมา ผู้ที่มีฝีมือในทางมวยไทยก็มีมาก เช่น พระเจ้าตากสิน
วิชามวยไทยได้ยั่งยืนมาจนถึงสมัยปัจจุบัน และในสมัยอยุธยาตอนปลายนี้ มวยไทยได้ชกกันด้วยการคาดเชือกคือใช้เชือกเป็นผ้าพันมือ บางครั้งการชกก็อาจถึงตายเพราะเชือกที่คาดมือนั้นบางครั้งก็ใช้น้ำมันชุบเศษแก้วละเอียดชกถูกตรงไหนก็เป็นแผลตรงนั้น จะเห็นได้ว่ามวยไทยในสมัยนั้นมีอันตรายเป็นอันมาก
ต่อมาในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
มวยไทยก็มีการฝึกตามสำนักฝึกต่างๆและมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐและเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการชกมวยในสมัยนี้ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย การชกกันในสมัยหลังๆจึงได้สวมนวมชก แต่การชกกันก็ยังเหมือนเดิมคือยังใช้การ ถีบ ชก ศอกและเข่า ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ฯ
คลิปโชว์มวยไทยโบราณ
ข้อมูลเเละที่มา http://www.thenpoor.ws/thaiboxing/