รถพระที่นั่งหายจากพระที่นั่งบรมพิมาน
โดยหม่อมราชวงศ์หญิง กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลฯ และสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยไม่นานนัก คณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ที่ศาลกลางเมือง ได้ส่งข้อสรุปผลการสอบสวนต่อคณะรัฐบาลในวันที่ 9 ตุลาคม พุทธศักราช 2489
คณะรัฐบาลซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากนายกรัฐมนตรีคนก่อนซึ่งได้กราบถวายบังคมทูลลาออกโดยอ้างเหตุผลทางด้านสุขภาพ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมหลักฐานต่างๆ ในการสวรรคตไปให้กรมตำรวจ เพื่อให้กรมตำรวจดำเนินการพิจารณาสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
ในรัฐบาลนี้มีการเปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมตำรวจ และมีการแต่งตั้งคณะนายตำรวจชุดหนึ่ง เพื่อปฎืบัติงานนี้ ทางตำรวจเห็นว่าหลักฐานที่จะนำส่งฟ้องยังไม่เพียงพอ จึงมีการวางแนวทางการสอบสวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
โดยมีทั้งการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ สอบสวนพยานบุคคลและความเห็นทางการแพทย์เพิ่มเติม โดยดำเนินงานอย่างล่าช้าและไม่ปรากฎความชัดเจนอย่างใด เป็นที่คาดการณ์กันว่า รัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์คงไม่สามารถคลี่คลายกรณีสวรรคตฯ ได้
สันนิษฐานว่าเพราะเกรงอำนาจมืดที่ยังไม่สิ้นไปจากแผ่นดิน
ในปีพุทธศักราช 2490 จึงเกิดการรัฐประหารโดย จอมพล ผิน ชุนหวัณ เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจไว้ได้ ข้ออ้างข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อของการทำปฎิวัติครั้งนี้คือ รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายกรณีสวรรคตได้
จอมพลผินฯ มิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง แต่ได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ มาดำรงตำแหน่งอยู่ระยะหนึ่ง จึงเปลี่ยนเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามารับตำแหน่ง
หลังจากปฏิวัติแล้ว กรณีสวรรคตได้ถูกนำฟ้องร้องต่อศาลอาญา โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเฉลียว ปทุมรส ราชเลขานุการ ซึ่งพ้นหน้าที่ไปก่อนการสวรรคตไม่นานนัก เป็นจำเลยที่ 1 , นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบรรทมเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ด้วยข้อหาประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ
การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างเนิ่นนาน หลายต่อหลายปีผ่านไป จนล่วงมาถึงวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 ศาลฎีกาจึงตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม โดยผ่านขั้นตอนการพิพากษาจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาแล้ว
ตามความรู้สึกของคนไทยขณะนั้น จะประหารคน 3 คนนี้ หรือจะประหารจอมบงการ หรือมือสังหารด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจลบเลือนความแค้นใจและเศร้าเสียใจอันใหญ่หลวง ชีวิตของมนุษย์เหล่านี้มิอาจชดเชยความสูญเสียของชาวไทยทั้งแผ่นดินได้
เนื้อความหลายตอนในคำพิพากษาเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตาม ทำให้ผู้คนทั้งหลายได้ทราบว่า ระหว่างที่ทุกคนวางใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ประทับอยู่ในพระที่นั่งบรมพิมาน โดยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดนั้น เหตุการณ์มิได้เป็นดังที่คาดหมาย
เรื่องหนึ่งซึ่งฟังดูแล้วแสนจะน่าประหลาดใจ คือ เรื่องรถพระที่นั่งคันหนึ่งหายไปจากในบริเวณพระบรมมหาราชวังอย่างไม่มีร่องรอย เป็นเรื่องที่ดูจะเป็นไปไม่ได้สำหรับยุคปัจจุบัน แต่ได้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 60 ปีก่อน
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งผ่านพ้นเช่นดังช่วงเวลานั้น รถพระที่นั่งที่จัดถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นรถที่ดีที่สุดเท่าที่มี คือ รถ "โรลสรอยส์" และรถ "เดมเล่อร์" สำหรับเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการ และมีรถ "แนช" และ "เชฟโรเลท" เป็นรถพระที่นั่งส่วนพระองค์
รถยนต์หลวงที่ใช้ตามเสด็จในขบวนเสด็จพระราชดำเนินก็มิได้เป็นรถที่สง่างามดังที่เห็นในปัจจุบัน แต่เป็นรถโบราณก่อนสงครามซึ่งมีสภาพไม่ใคร่น่าดู
วันหนึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระประสงค์จะเสด็จซื้อของเป็นการส่วนพระองค์ ปรากฎว่าทางในวังมิสามารถจัดหารถที่เหมาะสมถวายให้ทรงใช้ได้ เพราะรถเชฟโรเลทนั้น ราชเลขานุการส่งไปให้นายกรัฐมนตรีใช้ ส่วนรถแนชส่งไปซ่อมให้แขกเมืองใช้
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุรีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ทรงขุ่นพระราชหฤทัย มหาดเล็กต้องไปตามเอารถ "แนช" คืนมา
เมื่อมีพระราชดำรัสซักถามได้ความว่า ราชเลขาฯ จัดเอารถ "เชฟโรเลท" ไปให้นายกรัฐมนตรีใช้ จึงตรัสว่าหากทำเนียบนายกรัฐมนตรีไฟไหม้ พระองค์ท่านคงต้องยกวังให้อยู่เป็นแน่
ต่อจากนั้นไม่กี่วัน รถ "แนช" พระที่นั่ง ก็หายไปจากโรงเก็บรถในเวลากลางคืน และไม่สามารถสืบหากลับมาได้
แสดงให้เห็นว่าเวรยามที่เฝ้าพระที่นั่งบรมพิมาน มิได้รักษาหน้าที่อย่างเคร่งครัดเลย แล้วองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงปลอดภัยได้อย่างไร !??