ข้อคิดฝากสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี จาก "ข้างหลังภาพ" ของศรีบูรพา
วันนี้เอานวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ มาปัดฝุ่น อีกครั้งค่ะ อีกแง่มุมหนึ่ง ที่คุณอาจยังไม่รู้ กับความจริงหลังตัวอักษร
ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายประพันธ์โดยศรีบูรพา หรือชื่อจริงว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นเรื่องราวของความรักต่างวัย ต่างสถานะ นอกจากเรื่องราวที่กินใจแล้ว ภาษาที่ใช้ในเรื่องเป็นภาษาที่งดงาม มีวลีที่เป็นที่ชื่นชอบมากมาย นวนิยายเรื่องนี้เมื่อรวมเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 39 ครั้ง ยังได้รับการยกย่องด้วย ความงามในเชิงวรรณศิลป์ และถูกนำไปแสดงเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมถึงละครเวที ในรูปแบบละครเพลง
ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
"เธอเชื่อหรือว่า สมาคมมนุษย์จะรับรองกฎธรรมชาติ ที่เธอยกขึ้นกล่าวแก้ นพพร โปรดเชื่อฉัน เธอต้องเพียรเผชิญกับความจริง ของจริงเท่านั้นที่เป็นคำพิพากษาโชคชะตาในชีวิตเรา กฎเกณฑ์และอุดมทัศนีย์อาจงามกว่า แต่ก็มักไร้ค่าในทางปฏิบัติ"
ข้างหลังภาพ 2480- ศรีบูรพา
ผู้หญิงทุกคน (ที่ได้รับการศึกษาและการอบรมมาอย่างเหมาะสม) ย่อมรู้จักที่จะเก็บและสะกดความต้องการของตัวเองเอาไว้ภายใต้กิริยามารยาท และการวางตัวเยี่ยงสุภาพสตรี
คำพูดข้างต้นนี้อาจเรียกได้ว่า "ถูก" ในยุคสมัยหนึ่ง
แต่สำหรับผู้คนในยุคนี้ ยุคที่โลกหมุนไว ชายหญิงเท่าเทียม
เซ็กซ์ฟอร์ฟรี เซ็กซ์ฟอร์ฟัน หรือวันไนท์แสตนด์ ไม่ใช่เรื่องผิดบาป
ความรัก ไม่ได้มีมนต์ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป
แล้วคำพูดที่ว่ามา จะสำคัญตรงไหนกัน
แล้วสำหรับผู้หญิงบางคนที่ยืนอยู่บนรอยต่อระหว่างสังคมแบบเก่าและใหม่ล่ะ เธอควรหันหน้าไปทางไหน
มีคำกล่าววิพากษ์เอาไว้หลายแง่มุม เกี่ยวกับเรื่องราวความรักในนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพของศรีบูรพา
บ้างก็ว่าความเป็นจุดสุดยอดของนวนิยายเล่มนี้คือ ภาษาที่ยากจะหาเรื่องไหนเหมือน
บ้างก็ว่าเพราะเป็นเรื่องราวอมตะของความรักต้องห้าม ห้ามด้วยเรื่องของอายุ สถานภาพทางสังคม และฐานันดรศักดิ์
ในขณะที่กระแสวิจารณ์ในแง่มุมทางการเมืองบอกว่า ข้างหลังภาพ เป็นเรื่องที่แสดงถึงการเสื่อมสลายของสังคมชนชั้นสูง แบบที่เรียกว่าเป็น decline of aristocracy ในภาวะหนึ่ง ที่ชนชั้น "เจ้า" เป็นสถานะที่ต้องห้าม แยกตัวอยู่ในโลกของตัวเองต่างหาก ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนไป เหล่านายทุนและระบบทุนนิยมได้ครองอำนาจ ความเป็นเจ้าจึงได้ถูกลดทอนบทบาทลงไป
แต่แง่มุมที่ตีความออกมาแลดูว่าสวยงามตามแต่ที่วรรณกรรมควรจะเป็น และถูกถกอย่างกว้างขวางที่สุด ก็คือเรื่องความเป็น "กุลสตรี" ในยุคสมัยนั้น เหมือนที่บทวิจารณ์หนึ่งได้บอกเอาไว้
หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นแบบหนึ่งของสุภาพสตรีไทยสมัยสังคมของเรา ยังอยู่ในหัวเลี้ยวระหว่าง เก่า กับ ใหม่ คือ การอบรมแบบไทย แต่การศึกษาเป็นแบบตะวันตก การศึกษาได้ปลุกใจ หม่อมราชวงศ์กีรติให้ตื่นจากความสงบแห่งความปรารถนาของมนุษย์ตามประเพณีเก่าของเรา แต่อาศัยด้วยได้รับความอบรมศีลธรรมแบบเก่าของเราเป็นรากฐานในจิตใจ หม่อมราชวงศ์กีรติจึงเป็นสุภาพสตรีที่จริยาไม่ปล่อยให้ความปรารถนาเป็นใหญ่ในใจในเมื่อมีโอกาสจะทำได้ (น.ประภาสถิต -- ที่มาโดยรื่นฤทัย สัจจพันธุ์)
การเลี้ยงดูอบรมแบบเก่า สั่งสอนให้เราไม่กล้า สอนว่าเรื่องของความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งน่าละอาย (เหมือนที่ผู้หญิงในประเทศหนึ่งถูกเย็บอวัยวะเพศตั้งแต่เด็กด้วยความเชื่อที่ว่า ความสุขในการมีกิจกรรมทางเพศนั้นเป็นสิ่งสงวนสำหรับผู้ชายเท่านั้น!)
แต่การศึกษาเปิดประตู เปิดหูเปิดตาเราออกไปสู่โลกกว้าง ให้เรามองโลกในแง่มุมแบบที่พ่อแม่เราอาจไม่เคยคิด
แต่จะมี "เรา" ซักกี่คน ที่หลุดออกมาจากยุคสมัยของคุณหญิงกีรติได้จริงๆ
บทพูดหลายตอนของคุณหญิงกีรติจึงเน้นย้ำถึงความที่ต้องถูกกดอยู่กับจารีตประเพณี ราวกับว่าจะ "เหน็บ" ความเป็นไปของสังคมอยู่กลายๆ ด้วยเช่นกัน
"ฉันไม่ใคร่จะได้คิดอะไรในเวลานั้น เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่ในทางแคบ ๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม"
คุณหญิงกีรติปรารถนา "ความรัก" แต่เหนืออื่นใด เธอปรารถนาอิสรภาพที่จะทำตามใจตน ตามความต้องการของตน และความรักเท่านั้น ที่จะนำพาสิ่งเหล่านั้นมาได้
"ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต ฉันก็เหมือนกับคนทั้งหลาย ย่อมปรารถนาใฝ่ฝันถึงความรักและการแต่งงาน ฉันปรารถนาที่จะพูดถึง และรู้สึกด้วยตนเองในเรื่องราวของชีวิตในโลกใหม่ ดังที่น้องสาวสองคนได้มีโอกาสเช่นนั้น ฉันปรารถนาที่จะมีบ้านของฉันเอง ที่จะติดต่อสมาคมกับโลกภายนอก ปรารถนาที่จะมีบุตรน้อย ๆ เพื่อที่ฉันจะได้หลั่งความเมตตาปรานีจากดวงใจของฉันให้แก่เขา ฉันปรารถนาที่จะให้ตัก ให้แขนของฉันเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ยังมีความปรารถนาที่งดงามอีกหลายอย่างที่ฉันย่อมจะบรรลุได้ ถ้าเพียงแต่ฉันจะได้พบความรัก"
"ฉันต้องการติดต่อคุ้นเคยกับโลกภายนอก ต้องการความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ต้องการประกอบกิจวัตรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ฉันได้ทำมาแล้วตลอดเวลา ๓๔ ปีบ้าง ไม่มีอะไรจะช่วยให้ฉันบรรลุความต้องการเหล่านี้ได้ นอกจากการแต่งงาน"
หรือที่จริงแล้ว ความรัก และการแต่งงานสำหรับเธอแล้ว ไม่ใช่ทั้งหมดทั้งมวลของชีวิต ไม่ใช่สาระสำคัญ หากแต่มันคือ "ทางผ่าน" และ "ใบเบิกทาง" ที่จะนำพาเธอไปพบกับความผาสุก (เท่าที่จะมีได้ในยุคสมัยนั้น)
พูดให้เข้าใจง่ายๆ กว่าว่า ผู้หญิงสมัยนั้น หากต้องการท่องเที่ยวในต่างแดน ย่อมต้องไปกับครอบครัวและสามี ไม่สามารถเดินทางไปคนเดียวได้ และหากพวกเธอต้องการความสุขทางเพศ ก็ต้องขอความร่วมมือจาก "คนรัก" แต่เพียงเท่านั้น
เชื่อหรือไม่ว่าเรื่องราวเก่าคร่ำคร่า นวนิยายสุดแสนโบราณ แท้ที่จริงแล้วมันไม่ได้จางหายหรือตกยุคสมัยไปไหนเลย เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ มันก็ยังวนเวียนอยู่ในตัวของ "เรา" ทุกผู้ทุกคน
หลังจากหม่อมราชวงศ์กีรติและนพพร ใช้เวลาสั้นๆ ร่วมกัน และต้องพลัดพราก 6 ปีล่วงไป นพพรสำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็กลับสยาม ในขณะนี้หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม เขาทั้งสองคนได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่นพพรรู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น
เวลา 6 ปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของนพพรเด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มญี่ปุ่นที่ไม่ใคร่จะคิดถึงใครจะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น ครั้นแล้วนพพรก็แต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน นพพรได้ทราบว่าหม่อมราชวงศ์กีรติได้เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค และอยากพบเขา จนแพทย์และพยาบาลรู้สึกว่าควรจะมาตามเขาให้ไปพบ เพื่อให้คนไข้ได้สงบจิตใจในวาระสุดท้าย นพพรก็ไปเยี่ยมและหม่อมราชวงศ์กีรติก็ให้ภาพเขียนที่ระลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดความรักแก่เขาทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพวาดโดยฝีมือของเธอเอง พร้อมด้วยคำตัดพ้อบางประโยคเป็นที่สะกิดใจนพพรให้ระลึกถึงความหลังและหวนคิดเสียดายอาลัยคนรักคนแรกของตน ครั้นแล้วหม่อมราชวงศ์กีรติสตรีผู้อาภัพในเรื่องรักก็ถึงแก่กรรมใน 7 วันต่อมา
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องข้างหลังภาพ
1. ชีวิตของคนเราที่สมบูรณ์หรือดีพร้อมก็พบกับความเศร้าได้
เช่นชีวิตของท่านหญิงกีรติที่ดูเหมือนจะสมบูรณืหรืองามพร้อมก็พบกับความเศร้าได้ เพราะสิ่งที่เป็นจริงแท้ก็คือ “สิ่งที่มีชีวิตจะต้องรู้จักเจ็บปวดเหมือนกันหมด ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ เพศ สัตว์ มนุษย์”
2. ความแตกต่างระหว่างความรักที่มีสตินำ
ได้แก่ความรักของคุณหญิง กับความรักที่มีอารมณ์นำ ซึ่งก็คือนพพร เช่นคำพูดที่นพพรพูดไว้ว่า “ความรักมีอำนาจเหนือผม ความรักตรึงใจผม ทำให้ผมหมดสติ”
3. รู้จักสถานะแห่งตนเอง
เมื่อครั้นเจ้าคุณตายไป คุณหญิงก็ไม่เคยปริปากพูดตรงๆอีกเรื่องความรัก แต่จะใช้คำพูดที่มีความหมายล้ำลึกภายใน เช่น “ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”
4. หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นแบบหนึ่งของสุภาพสตรีไทยสมัยสังคมของเรา
คือไม่ปล่อยให้ความปรารถนาเป็นใหญ่ในใจเมื่อมีโอกาสจะทำได้
5. ความรักของสตรีและบุรุษนั้นต่างกัน
เช่น เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี ความรักของนพพรก็จืดจางลงกลับกลายเป็นความรักแบบมิตร แต่คุณหญิงยังรอความรักจากนพพรตลอดมาจนสิ้นชีวิตก็ยังรัก ดังนั้นเวลารักใครจึงไม่ควรทุ่มเทให้ทั้งชีวิต ควรเผื่อใจไว้ให้ตัวเองบ้าง
6. ความคิดค่านิยมที่ผิดๆ ของสังคมชั้นสูง
ที่วิจารณ์สถานะนักเรียนนอกที่ทุกคนพากันคิดว่า จบจากนอกแล้วต้องเก่งกว่า ดีกว่าซึ่งเป็นความคิดที่ผิดๆ ถึงเป็นนักเรียนนอกถ้าไม่รู้จักแสวงหาโอกาสทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองก็จะกลายเป็นคนไร้ค่า เช่น
“เราจะมีวุฒิพิเศษอะไรเล่า สิทธิพิเศษอะไรที่จะไปเดินเชิดหน้าทำทีว่าเรามีวุฒิพิเศษกว่าใครๆในวงสมาคมเมืองไทย”
7. การแบ่งเพศทางสังคม สังคมที่ผู้ชายเป็นผู้นำ และผู้หญิงเป็นเครื่องรองรับอารมณ์ตน
ดังตอนที่คุณหญิงกล่าว “เธอจงเห็นใจฉันเถิด เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก มันเป็นหน้าที่ของเรา ยิ่งกว่านั้น บางทีคุณงามความดีของสตรีก็ถูกมองข้ามไปเลย ถ้ามิได้อยู่ในความงาม”
8. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ดังเช่นการกระทำของนพพรตัดสินใจอยู่เรียนที่ญี่ปุ่นจนจบ โดยไม่ได้ตามคุณหญิงกลับมาเมืองไทยแล้วละทิ้งการเรียนที่ญี่ปุ่น
จากข้อคิดที่แฝงไว้มากมายในนวนิยายสุดคลาสสิคเรื่องข้างหลังภาพนี้ ทิมมี่เชื่อว่าจะยังคงอยู่ในใจผู้อ่านทุกยุคสมัยเพราะเป็นสัจธรรมชีวิตที่ทุกคนเคยประสบทั้งรัก สุข สมหวังและทุกข์ และนั่นคือข้างหลังภาพของเราทุกคนครับ