ที่มาของสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับ..วัว
ได้เล่นเกมส์ช่วงปีใหม่ให้นึกสำนวนที่เกี่ยวกับสัตว์ของไทยมาแข่งต่อๆ กัน แข่งกันตอบเรื่อยๆในเวลา 2 นาที คนสุดท้ายที่ตอบได้รับรางวัลไป หนึ่งในนั้นมีการแย่งตอบเรื่องวัวด้วย
วัวลืมตีน
คนที่ไม่เจียมตัว หรือมีศักดิ์ต่ำแต่คิดเห่อเหิมจะทำตัวให้เทียมหน้าเขา
วัวสันหลังขาด หรือวัวสันหลังหวะ
คนที่ทำอะไรไม่ดีไปแล้ว มักมีอาการคอยหวาดระแวงอยู่เสมอ กลัวว่าจะมีคนรู้เห็นหรือมารื้อฟื้นกล่าวโทษขึ้น
วัวหายล้อมคอก
ไม่คิดหาทางป้องกันไว้แต่แรก จะคิดป้องกันก็ต่อเมื่อเกิดการเสียหายขึ้นแล้ว เปรียบเหมือนมีวัว แต่ไม่ทำคอกล้อมวัวไว้ ครั้นเมื่อวัวหายไปแล้ว จึงทำคอกขึ้น วัวก็หายเสียแล้ว
วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน
คนที่ตะกละตะกลาม หรือเห็นแก่กินอย่างเดียว มักมุ่งหมายถึงคนชั้นต่ำที่ทำอะไรเห็นแต่ได้ เกินไป
วัวแก่กินหญ้าอ่อน
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงชายอายุเยอะ ที่มีภรรยามีอายุอ่อนคราวลูกคราวหลาน
ที่มาของสํานวน ปกติวัวอายุไม่เยอะจะกินหญ้าอ่อน จะไม่ค่อยกินหญ้าแก่ แต่วัวอายุมากจะกินได้ทั้งหญ้าแก่และหญ้าอ่อน สำนวนนี้เปรียบเปรียถึง วัวที่อายุมากแต่เลือกกินเฉพาะหญ้าอ่อนๆ เปรียบหญ้าเหมือนผู้หญิงที่มีอายุน้อย
วัวพันหลัก
อาการที่วกหรือย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น มาจากสำนวนเต็มว่าแม่สื่อแม่ชัก ไม่ได้เจ้าตัว เอาวัวพันหลัก
หมายความว่า ชายที่ใช้แม่สื่อไปติดต่อหญิงที่ตนชอบ แล้วไม่ได้ตัวหญิงคนนั้น เลยเอาแม่สื่อนั้นเองเป็นภรรยา หรือผู้หญิงทำทีรับอาสาไปติดต่อหญิงคนใดคนหนึ่งให้แก่ชาย แต่ในที่สุดก็เอาตัวเองเข้าพัวพันจนได้ชายคนนั้นเป็นสามี
วัวเคยขา ม้าเคยขี่
ชายหญิงที่เคยมีสัมพันธ์กันมา ย่อมรู้จิตใจกันดีอยู่แล้ว