เห็ดมิลค์กี้ milky หรือเห็ดนม
“เห็ดมิลค์กี้” เป็นเห็ดอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนำไปประกอบอาหารได้แล้วยังสามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย เห็ดมิลค์กี้มีเนื้อที่แน่นจึงทำให้เก็บไว้ได้นานกว่าเห็ดนางฟ้า แต่หากพูดถึงเรื่องรสชาติเห็ดมิลค์กี้ อร่อยไม่แพ้เห็ดออรินจิ
เห็ดมิลค์กี้เป็นเห็ดตีนแรดสายพันธุ์หนึ่งที่นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ แล้วนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้ปลูกได้ในประเทศไทย ซึ่งเห็ดมิลค์กี้จะมีอัตราการเกิดของดอกได้ง่ายกว่าเห็ดตีนแรดในอดีต
การเตรียมทำก้อนเห็ดมิลค์กี้ ใช้วิธีการเดียวกับการเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรมทั่วไป โดยสัดส่วน ของส่วนผสมที่เกษตรกรต้องเตรียมมีดังนี้
1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
2. รำละเอียด 5 กิโลกรัม
3. ดีเกลือ 0.02 กรัม
4. ปูนขาว 1 กิโลกรัม
5. ยิปซัม 2 กิโลกรัม
ขั้นตอนวิธีการทำคือ
1. เมื่อส่วนผสมทั้งหมดพร้อมแล้ว นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันและบรรจุใส่ถุงพลาสติก ซึ่งก้อนเชื้อจะมีน้ำหนักประมาณขนาด 8 ขีด – 1 กิโลกรัม จะทำให้ได้ก้อนเชื้อเห็ด 160 - 170 ก้อน
2. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้วให้ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษ รัดยางวงให้แน่น
3. จากนั้นนำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการนึ่งฆ่าเชื้อประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้จนก้อนเชื้อเย็น
4. นำหัวเชื้อเห็ดมิลค์กี้มาหยอดลงในก้อนเชื้อ และปิดปากถุงด้วยสำลี หรือ กระดาษทันที เมื่อเสร็จเรียบร้อยนำก้อนเห็ดไปบ่มไว้ในโรงเรือน ทิ้งไว้ประมาณ 40 - 50 วัน เส้นใยจะเดินเต็มถุง
5. จากนั้นทำการ casing โดยการเปิดปากถุง ใช้ดินกลบประมาณนิ้วครึ่ง และรดน้ำให้ชื้นแต่อย่าแฉะ ซึ่งจะทำให้ได้ดอกเดี่ยวไม่ใหญ่มาก แต่หากต้องการให้ดอกมีขนาดใหญ่ให้นำก้อนเชื้อเห็ดที่เส้นใยเดินเต็มแล้ว นำมาเปลือยถุงออกและเรียงก้อนเห็ดลงในแปลงอัดให้แน่น ใช้ดินกลบด้านบนเพื่อให้ดินรักษาความชื้น ส่วนด้านบนนำฟางข้าวมาคลุมและหว่านเมล็ดผัก เช่น ผักบุ้ง ผักชี และอื่น ๆ ได้อีกด้วย เส้นใยเห็ดจะเดินเชื่อมติดกันเป็นกลุ่มเดียวและจะเกิดดอกในระยะเวลาประมาณ 30 วัน ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวพืชผักที่ปลูกไว้พอดี ซึ่งทำให้เกษตรกรได้ทั้งผักไว้รับประทาน และได้ทั้งเห็ดมิลค์กี้ไว้จำหน่าย
หากเกษตรกรยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเพาะเห็ดมาก่อน ควรเริ่มต้นด้วยการซื้อก้อนเห็ดที่มีเส้นใยเห็ดเดินเต็มก้อนแล้วมาลองปลูกก่อนเพราะเป็นจุดที่คุ้มทุนที่สุด เพราะการเริ่มต้นด้วยการทำเองจะใช้ต้นทุนสูง และอาจจะเกิดความเสียหายได้ เมื่อเราชำนาญในการเลี้ยงดูดอกแล้วเราค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ขั้นตอนต่อไป
ท่านที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “ครูบุญเลิศ ไทยทัตกุล” ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เลขที่ 48/16 หมู่ที่ 1 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540 โทร. 08-9113-6389 , 08-1897-9644