โสร่งผู้ชายเอเซีย
โสร่ง เป็นผ้านุ่งอย่างหนึ่ง ที่ใช้ผ้าผืนเดียว เพลาะชายสองข้างเข้าด้วยกันเป็นถุง แบบเดียวกับผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ใช้นุ่งอย่างแพร่หลาย ทั้งหญิงและชาย ในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในหลายท้องถิ่นในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่แต่ละท้องถิ่น จะมีชื่อเรียกต่างกันไป ทว่าอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่า โสร่ง
ในบางท้องถิ่น โสร่งอาจนิยมใช้อย่างลำลอง สำหรับแต่งกายอยู่กับบ้าน แต่ในบางประเทศ เช่น พม่า เราจะพบว่าโสร่งเป็นผ้านุ่งที่นิยมใช้กันทั่วไป ทั้งในหมู่ชนชั้นสูง ระดับผู้บริหารประเทศ นักการเมือง กระทั่งพ่อค้าแม่ขาย นักศึกษา และผู้คนทั่วไป
ชายชาวพม่านุ่งโสร่ง ณ แม่สอด จ.ตาก
ชุดประจำชาติของชาวพม่าเรียกว่า ลองยี (Longyi) เป็นผ้าโสร่งที่นุ่งทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในวาระพิเศษต่าง ๆ ผู้ชายจะใส่เสื้อเชิ้ตคอปกจีนแมนดารินและเสื้อคลุมไม่มีปก บางครั้งจะใส่ผ้าโพกศีรษะที่เรียกว่า กอง บอง (Guang Baung)
เตลุก เบสคาพ (Teluk Beskap) เป็นชุดประจำชาติอินโดนีเซียสำหรับผู้ชาย มักจะสวมใส่เสื้อแบบบาติกและนุ่งกางเกงขายาว
เป็นการแต่งกายแบบผสมผสานระหว่างเสื้อคลุมสั้นแบบชวาและโสร่ง และนุ่งโสร่งเมื่ออยู่บ้านหรือประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิด
เด็กชายตัวน้อยชาวบังคลาเทศสวม lungi
คำว่า "โสร่ง" เป็นคำทับศัพท์จากภาษามลายู ว่า "Sarung" มีความหมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับในภาษาไทย โสร่ง หมายถึงผ้านุ่งดังกล่าวมาข้างต้น แต่มักจะใช้เรียกเฉพาะผ้านุ่งของผู้ชาย ที่นิยมกันในหมู่ชาวไทยมุสลิม ทั้งสำหรับใช้ในบ้าน และแต่งออกนอกบ้าน เช่นไปมัสยิด หรือรับแขก ก็นิยมนุ่งโสร่งกันโดยปกติ คำว่า โสร่ง นั้นบางครั้งก็เรียกอย่างง่าย ๆ ว่า ผ้านุ่ง ได้เช่นกัน สำหรับชาวไทยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็มีการใช้ผ้าโสร่งบ้างเช่นกัน เช่น ในภาคอีสานตอนล่าง จะเป็นผ้าโสร่งไหม ลายตาหมากรุกขนาดใหญ่ อาจใช้ในพิธีการได้ด้วย
ผ้าโสร่งน่าจะมีใช้และคุ้นเคยกับคนไทยมาช้านาน แม้ว่าการใช้ผ้าโสร่งจะไม่แพร่หลายทั่วไปอย่างผ้าซิ่น ผ้าถุง หรือผ้าขาวม้า ก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานการใช้โสร่งในตัวหนังตะลุงบางตัว โดยเฉพาะตัวตลก ขณะเดียวกัน การแสดงบางอย่างของชาวไทยมุสลิม ก็นิยมนุ่งผ้าโสร่งเป็นแบบแผน
ผ้าโสร่งนั้นมีด้วยกันหลายลักษณะ ทั้งที่มีลวดลาย และมีสีพื้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับผ้าโสร่งที่มีลายตารางคล้ายผ้าขาวม้า แต่ตารางของโสร่งมักจะมีตาใหญ่กว่า ทั้งนี้ก็เพราะโสร่งจะมีขนาดที่ใหญ่กว่านั่นเอง กล่าวคือ ยาวเกือบจรดข้อเท้า ขณะที่ผ้าขาวม้ามักจะยาวลงไปไม่เกินครึ่งแข้งเท่านั้น
หนุ่มๆร้อยเอ็ด ในชุดพื้นเมือง สวมเสื้อย้อมคราม นุ่งผ้าโสร่งไหม ผ้าสไบขิดมัดเอว
การนุ่งผ้าโสร่งก็เหมือนกับการนุ่งผ้าถุง โดยทั่วไป คือ ต้อง “นุ่ง” ขึ้นมาจากเท้า ไม่ใช่พันรอบตัว ดึงขึ้นมาให้ขอบด้านบนเลยเอวเล็กน้อย จับปลายผ้าเหยียดออกไปจนสุด แล้วพับทบกลับมาให้แน่นหนาพอดีกับลำตัว แล้วพับขอบด้านบนลงมาเป็นชายพก ด้วยเหตุนี้ผ้าโสร่งจึงดูจะเป็นทางการ มีความเรียบร้อยมากกว่าผ้าขาวม้า ผ้าโสร่งจึงใช้นุ่งในที่สาธารณะได้ไม่ขัดเขิน
ผ้าโสร่งนอกจากใช้เป็นนุ่งแล้ว ยังใช้เป็นผ้าห่ม ผ้านุ่งอาบน้ำ (คนไทยในอดีต และในชนบท ไม่มีห้องน้ำเฉพาะ อาจอาบน้ำใกล้บ่อ หรือในแม่น้ำลำคลอง) และยังใช้สอยอื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับผ้าขาวม้า นับเป็นผ้าสารพัดประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของไทย นอกจากนี้ยังใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงาน สำหรับไหว้พ่อแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วย
ปัจจุบันนี้ มีการผลิตผ้าโสร่งจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ฝ้าย ไหม และเส้นใยสังเคราะห์ และทอด้วยลวดลายต่าง ๆ กัน ทั้งลายขัดพื้น ลายตารางหมากรุก และอาจมีลวดลายพื้น ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้วยเช่นแบบนี้