ถุงพระบาทของพ่อหลวง
เมื่อพระองค์ท่านถอดรองพระบาท (รองเท้า) ได้เผยให้เห็นถึงถุงพระบาทที่ขาด ก่อนจะถอดถุงพระบาท และได้ประทับพระบาทลงในเบ้าพิมพ์ที่เป็นปูนปลาสเตอร์ผสมหมาดๆ
ถุงพระบาทนั้น คือสิ่งที่ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์คือ ทรงเป็นทั้งนักทฤษฎีและปฏิบัติ พระองค์น่าจะมิใช่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานแต่เพียงสถานเดียว แต่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย สมถะ รู้จักคุณค่าของการใช้ สิ่งของมากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ใดในโลก หรือยิ่งกว่าสามัญชนแม้กระทั่งพสกนิกรมากหลายที่ยังดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องมีความพอเพียงเช่นนั้นไม่ได้... (จากหนังสือ “เที่ยวตามพ่อ” สนพ.อัศเจรีย์)
นั่นเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้จัดเตรียมไว้ ตามคำกราบบังคมทูลของพันโทวิโรจน์ ที่ศาลาบนดอยพญาพิภักดิ์ แห่งดอยพญาพิภักดิ์ หรือ ภูหลงถัง ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
ปัจจุบัน รอยพระบาทรอยจริง ประทับอยู่ที่ ดอยโหยด ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย
ส่วนที่ดอยพญาพิภักดิ์ ได้อัญเชิญภาพถ่ายรอยพระบาทมาไว้ใน “ศาลาประทับรอยพระบาท” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญของภูหลงถัง