เกาหลีเหนือ-ใต้ แบ่งแยกกันเพราะอะไร ทำไมสหรัฐจึงมีส่วนเกี่ยวข้อง?
เกาหลีมีประวัติยาวนานมากและก่อตั้งประเทศก่อนคนไทยเสียอีก คนไทยเริ่มต้นมาอยู่ในสุวรรณภูมิและตั้งอาณาจักรสุโขทัยเมื่อประมาณปี พ.ศ.1800 แต่เกาหลีเก่ากว่าคนไทยเราเสียอีก ซึ่งไม่ใช่ว่าคนเกาหลีมีมาก่อนคนไทย เพียงแต่คนไทยนั้นย้ายถิ่นฐานมาตลอดเป็นระยะเวลาเป็นพันปี คนไทยนั้นเริ่มต้นมาจากอาณาจักรน่านจ้าว อาณาจักรต้ามุงในประเทศจีน แล้วก็เคลื่อนย้ายลงมาและถูกคนจีนรุกราน ถ้าท่านที่ดูสามก๊กจะเข้าใจได้ว่าคนไทยอยู่ทางตอนใต้ของจีนและเมื่อ 2,000 ปีก่อนก็ถูกรุกรานโดยก๊กของเล่าปี่กับขงเบ้งนี่แหละ แล้วบรรพบุรุษของคนไทยก็ต้องเคลื่อนย้ายหนีมาเรื่อยๆ แต่สำหรับเกาหลีนั้นแตกต่างกัน เพราะอยู่ในพื้นที่นั้นมาตลอด และก็รบราฆ่าฟันกันมาเป็นเวลายาวนานทีเดียว
ถ้าหากนับประวัติศาสตร์เกาหลีจริงๆนี่ เกาหลีนั้นแยกเป็น 2 ประเทศมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาแยก เราจะเริ่มต้นมองประวัติศาสตร์เกาหลีไปเมื่อ 4,000 ปี ก่อน ตั้งแต่เริ่มมีชนเผ่าต่างๆในคาบสมุทรเกาหลี และเริ่มรวมกลุ่มกันได้จริงๆ เมื่อ 2,300 ปีก่อนคริสตศักราช มีกษัตริย์องค์แรกที่รวบรวมเอาเผ่าต่างๆก็คือ พระเจ้าโจซุน มีอำนาจมากสร้างความเป็นปึกแผ่นในเกาหลีได้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะคนเกาหลีนั้นจะคล้ายๆกันคนอาหรับ หรือคนในตะวันออกกลางคือมักจะสู้รบกัน แม้จะเป็นเชื้อชาติเกาหลีด้วยกันก็ตาม และต่อมาก็มีการแยกออกเป็นสามอาณาจักร ในยุคสามอาณาจักรนี้มีระยะเวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว แบ่งเป็นตอนเหนือสุดเป็นอาณาจักรโคกุเรียว (Koguryo) ซึ่งอยู่ติดกับประเทศจีน ส่วนทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้นี่ก็คืออาณาจักร เป็กเช (Paekche) และลงมาทางตอนใต้ที่ใหญ่มากก็คืออาณาจักรชิลลา (Shilla) ใครที่ดูละครเกาหลีก็จะได้ยินชื่อทั้ง 3 อาณาจักรนี้บ่อยๆ
และในช่วงที่แบ่งเป็น 3 อาณาจักรนี้เองเป็นช่วงที่ประเทศมีความขัดแย้งรุนแรงมาก และต่างคนก็สู้รบกัน และอย่างไรก็ดีทั้ง 3 อาณาจักรนี้ก็รับวัฒนธรรมมาจากจีนโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นลัทธิขงจื๊อ อารยธรรมการเมืองการปกครองนั้นก็นำมาจากจีน อาณาจักรโคกุเรียวนั้นอยู่ติดกับประเทศจีนซึ่งไม่ค่อยจะถูกกันนักและมีปัญหา การรุกรานกัน ส่วนอาณาจักรชิลล่าไม่ได้อยู่ติดหรือเกี่ยวข้องอะไรกับจีนมากนัก แต่ก็พยายามที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ส่วนเป็กเชนั้นค่อนข้างจะเล็กที่สุด หลังจากที่แยกเป็น 3 อาณาจักรมาประมาณ 300 ปี ก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยที่มีอาณาจักรชิลลาเป็นผู้ยึดครอง และเกิดอาณาจักรใหม่ขึ้นมาคืออาณาจักรโครยอ แต่ก็มีความสุขอยู่ได้ไม่นานเพราะอยู่ท่ามกลาง 3 ประเทศก็คือ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย และยิ่งกับจีนก็มีประวัติศาสตร์ว่ารบราฆ่าฟันกันมานาน และเป็นที่สังเกตว่าประเทศที่มีการสู้รบบ่อยๆ บุคลิกของคน วัฒนธรรมจะออกมาเป็นในรูปที่สอดคล้องกับการสู้รบ ดูอย่างอาหารจะเห็นว่าอาหารเกาหลีเป็นอาหารที่หยาบๆ ง่ายๆ (ต้องขออภัยผู้ที่ชื่นชอบอาหารเกาหลี) เช่น กิมจิที่ทำมาจากผักดองคลุกพริกหมักเกลือ ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นเสบียงในการรบอยู่ได้นานหลายเดือน อีกประการหนึ่งก็คือภูมิอากาศที่หนาวจัดไม่มีสัตว์และพืชที่หามากินได้ ช่วงที่พอจะหาอาหารได้ก็จะถนอมอาหารไว้ ส่วนเนื้อสัตว์ก็จะกินแบบง่ายๆคือ แล่เนื้อปิ้งจิ้มน้ำจิ้มกินเลย ไม่มีมาประดิษฐ์ประดอยทำเป็นแกงอย่างคนไทย
สังเกตได้ว่านิสัยของคนเกาหลีปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นจะเร่งรีบ ไม่ปล่อยเวลาไปปล่าวประโยชน์ และถือคติว่าต้องได้เปรียบอยู่เสมอเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ที่ต้องสู้รบ อยู่บ่อยๆ ถ้าไม่สู้รบกันเองก็ต้องสู้รบกับจีน หรือญี่ปุ่นแถมยังต้องระวังรัสเซียเล็กๆ อีกทั้งพื้นที่ของคาบสมุทรเกาหลีนั้นอยู่ล้อมรอบด้วย 3 ประเทศมหาอำนาจ เวลาใครจะรบกับใครก็ต้องผ่านเกาหลี คล้ายกับประเทศเบลเยี่ยมที่อยู่ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมัน และต่อมาในยุคล่าอาณานิคม การขยายดินแดนเพื่อระบายประชากรและต้องการทรัพยากรทำให้เกิดสงครามในหลายๆ ประเทศ และระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น รัสเซียไม่สามารถส่งเรือรบออกไปได้เพราะติดน้ำแข็งต้องส่งอ้อมออกมาแต่ก็ถูก ญี่ปุ่นซุ่มโจมตีได้หมด จีนช่วงนั้นตกต่ำเพราะถูกล่าอาณานิคมจากประเทศทางตะวันตก ทำให้ญี่ปุ่นผงาดอำนาจขึ้นมา เกาหลีก็เป็นเหมือนอาณานิคมกลายๆของญี่ปุ่น และต่อมาอีกสิบปีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกาหลีอยู่ภายใต้เขาควายของประเทศมหาอำนาจในช่วงสงครามโลก และต้องประคองตัวให้อยู่รอดและค่อนข้างจะอ่อนแอในยุคนั้น แต่จริงๆแล้วเกาหลีแบ่งประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีเหนือถูกปกครองในพรรคแรงงานที่ยึดมั่นในแนวทางของคอมมิวนิสต์ นายคิมอิลซุนซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานนั้นใกล้ชิดกับประธานเหมาเจ๋อตุงผู้ นำคอมมิวนิสต์ในจีน ในช่วงนั้นประธานเหมานั้นยังยึดจีนไม่ได้ เมื่อทางสหประชาชาติต้องการมาจัดการการเลือกตั้งในเกาหลี พรรคแรงงานที่นำโดยนายคิมอิลซุนนั้นไม่ยอมเลือกตั้งด้วย ก็เลยตัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเขตปกครองของพรรคแรงงาน ส่วนเกาหลีใต้นั้นก็ให้สหประชาชาติเป็นคนดูแล สหประชาชาติก็สถาปนาการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ในแบบอเมริกันขึ้นในช่วงนั้น ด้วยความที่อเมริกันต้องการเข้าไปยึดครองตรงนี้ มีผลประโยชน์ต่อเนื่องเพราะเป็นจุดยุทธศ่สตร์สำคัญ คือไม่อยู่ไกลจากปักกิ่ง ไม่ไกลจากเซี่ยงไฮ้ ไม่ไกลจากวลาดิวอสต๊อก ทำให้อเมริกาต้องการเข้าไปตรงนั้น เมื่ออเมริกาเข้าไป รัสเซียก็เข้ามา ประกอบกับในช่วงนั้นเจียงไคเช็กแพ้พอดี และมีการสถาปนาคอมมิวนิสต์ขึ้นในจีน และเมื่อมีแนวทางที่ต่างกันทำให้เกิดเป็นสงครามในคาบสมุทรเกาหลี และไทยเองก็ได้ส่งทหารเข้าไปเพื่อช่วยเกาหลีใต้
ในช่วงของสงครามเกาหลีมีคนตายเป็นล้านเกือบสองล้านคน ต่อมาสงครามดำเนินมาโดยที่ไม่ใครเป็นฝ่ายชนะเด็ดขาด และภายใต้การนำของนายพลแม็คอาเธอร์ของกองกำลังสหประชาชาติที่มาช่วยเกาหลีใต้เกือบจะเอาชนะเกาหลีเหนือได้และเตรียมที่จะบุกประเทศจีน และเสนอให้มีการใช้ระเบิดปรมาณู แต่ประธานาธิบดีทรูแมน ไม่เห็นด้วยและกลัวจะบานปลาย จึงได้มีการเจรจายุติสงครามของสหประชาชาติกับพรรคคอมมิวนิสต์และแบ่งประเทศ เป็นเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ โดยใช้เส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่ง แต่เมื่อแบ่งแล้วเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เองก็ยังประกาศภาวะสงครามกันมาจน ถึงทุกวันนี้
สาเหตุที่ว่าทำไมถึงต้องแบ่งเป็นสองประเทศนั้น สาเหตุหลักนั้นมาจากเรื่องสงครามเย็น หลังจากเยอรมันพ่ายสงคราม สหรัฐและโซเวียตต่างแย่งเข้าไปเอาเทคโนโลยี และบุคลาการมาจากเยอรมันที่ชื่อได้ว่าไฮเทคที่สุดแล้วในยุคนั้น ต่างฝ่ายก็ต่างแข่งขันกันเป็นผู้นำในด้านการบุกเบิกอวกาศและเทคโนโลยีต่างๆ และหลังจากเยอรมันและญี่ปุ่นหมดอำนาจไป ก็ต้องมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่อยู่ตามประเทศต่างๆ และโซเวียตซึ่งอยู่ใกล้กับเกาหลีได้มาทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเกาหลี ฝ่ายอเมริกาที่ไปไม่ทันก็บอกกับโซเวียตว่าที่เหนือเส้นขนานที่ 38 ให้โซเวียตปลดอาวุธส่วนใต้เส้นขนาน อเมริกาจะทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในเกาหลีส่วนนี้เอง จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มให้แบ่งเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายเกาหลีเหนือก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามโซเวียต ส่วนเกาหลีใต้ก็มีฝ่ายสัมพันธมิตรมาจัดการการเลือกตั้งให้
ภาพกองทัพไทยในเกาหลี
หลังจากนั้นทางฝ่ายเกาหลีเหนือส่งกำลังเข้ามาใต้เส้นขนานที่ 38 และสามารถที่จะยึดกรุงโซลได้ ดังนั้นองค์การสหประชาชาติก็เลยส่งกำลังเข้าไปช่วยเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งตรงนี้คนเกาหลีใต้ให้ความชื่นชมมาก
ปล. อารีรัง (Arirang) บทเพลงแห่ง "การจากพราก"