บทความ ผลที่ตามมาหลังนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 2 ปีที่ใช้มาส่งผลให้ ศก. โดยรวมดีขึ้นหรือแย่ลง
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ นับเป็นหนึ่งในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก รองจากอินโดนีเซียและเวเนซุเอลา เพราะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 70% ในระยะเวลาเพียง 2 ปี เฉลี่ยปีละ 31% เป็นสาเหตุให้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มบังคับใช้
โดยมีการคาดการณ์ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อเศรษฐกิจใน 9 เรื่อง รัฐบาลเองก็คาดว่าแรงงานระดับล่างจะได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันนี้ผ่านมา 2 ปีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เหมือน หรือ ต่าง จากที่คาดการณ์ดังนี้
สิ่งที่คาด : ค่าจ้างจะสูงขึ้นมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันของแรงงานภาคเอกชนเฉลี่ยสูงขึ้นเกือบ 40%
ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันของแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 130 บาท จาก 328 บาทต่อวันในปี 2553 เป็น 456 บาทต่อวันในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากก่อนที่จะมีนโยบายนี้ ค่าจ้างเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 หลังจากที่มีการใช้นโยบายนี้หาเสียงในการเลือกตั้ง ค่าจ้างโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 12% ระหว่างปี 2554-2556 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ถึง 4 เท่า โดยในช่วงปี 2546-2553 ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 3% เท่านั้น
สิ่งที่คาด : ราคาสินค้าจะสูงขึ้นมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : ตัวเลขเงินเฟ้อทางการทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี
กรมการค้าภายในเคยคาดการณ์ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 7% แต่จากตัวเลขที่ทางการพบว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ราว 3% ต่อปี ระหว่างปี 2554-2556 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงก่อนการประกาศใช้นโยบาย (ปี 2551-2553) ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% ต่อปี ถึงแม้ว่าตัวเลขอาจจะขัดกับความรู้สึก ว่าข้าวของมีราคาแพงขึ้นจริง แต่ผลกระทบที่มีต่อราคาสินค้าก็ไม่ได้สูงอย่างที่คาดการณ์
สิ่งที่คาด : คนจะตกงานเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : คนว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ลดลงราว 40,000 คน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ 0.8% เท่านั้น
ณ ไตรมาส 3 ปี 2556 จำนวนคนว่างงานมีแนวโน้มลดลงเหลือ 3 แสนคน จาก 3.4 แสนคน ในช่วงเดียวกันของปี 2553 อัตราการว่างงานลดลงด้วยซ้ำ จากที่เฉลี่ยแล้วเคยอยู่ที่ 1.1% ในปี 2551-2553 ลดลงเหลือ 0.7% ในช่วงปี 2554-2556 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดแรงงานยังมีความต้องการแรงงานสูง แต่ก็มีแรงงานส่วนหนึ่งย้ายไปเป็นเกษตรกรเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคน
สิ่งที่คาด : นายจ้างจะตัดสวัสดิการอื่น ๆ เพื่อชดเชยต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : แรงงานถูกตัดสวัสดิการลง 20% แต่คิดเป็นแค่ 2% ของค่าตอบแทนทั้งหมด
สวัสดิการที่นายจ้างเคยให้นอกเหนือจากค่าจ้างอย่างเสื้อผ้า อาหาร ที่พัก ถูกตัดลดลงราว 20% แต่สวัสดิการนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของค่าตอบแทนทั้งหมดที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น ในขณะที่ค่าตอบแทนอื่น ๆ เช่น ค่าโอที โบนัส ค่าทิปก็เพิ่มขึ้นถึง 15% ทำให้โดยรวมแล้วค่าตอบแทนของแรงงานไม่ได้แย่ลง
สิ่งที่คาด : แรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะมีจำนวนมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : สัดส่วนแรงงานที่ยังได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานภาคเอกชน
ปี 2553 มีแรงงานภาคเอกชนอยู่ราว 22% ที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในเวลานั้น เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมาก ก็มีความหวังว่าจะมีนายจ้างที่หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากด้วย แต่ปรากฏว่าในปี 2556 ยังมีแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ 29% เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2553 ยังมีอีก 17 จังหวัดที่ค่าจ้างเฉลี่ยทั้งจังหวัดยังต่ำกว่า 300 บาท โดยค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดเหล่านี้เฉลี่ยแล้วปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
สิ่งที่คาด : การจ้างงานในจังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากจะลดลง เพราะสถานประกอบการจะย้ายออก
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : การจ้างงานในจังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันหมดทุกที่ในประเทศไทย ก็น่าจะมีแรงจูงใจที่จะย้ายสถานประกอบการไปอยู่ใกล้กับตลาดและระบบขนส่ง แต่สิ่งที่พบคือสัดส่วนการจ้างงานในแต่ละจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แม้กระทั่งในบรรดา 20 จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มมากขึ้นที่สุด จังหวัดที่จ้างงานลดลงมากสุดนั้นลดลงไปเพียง 0.5%
สิ่งที่คาด : สถานประกอบการที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวจะปิดกิจการเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : สถานประกอบการปิดกิจการเพิ่มขึ้น 1.4 เท่าในรอบ 3 ปี
มีนิติบุคคลปิดกิจการเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.7 หมื่นรายต่อปี จากเดิมที่มีนิติบุคคลเคยปิดตัวราว 7,000 รายในปี 2553 ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากน้ำท่วมช่วงปลายปี 2554 แต่ก็ยังคงมีสถานประกอบการปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2555-2556 โดยที่ไม่มีแนวโน้มลดลงเลย กิจการที่มีการปิดตัวมากที่สุด คือ บริการ นันทนาการ ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ขายส่งวัสดุก่อสร้าง
สิ่งที่คาด : ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : ความสามารถในการแข่งขันลดลงจริง ต่ำกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน
การที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นแซงประสิทธิภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นเท่ากับว่าจ่ายค่าจ้างแพงขึ้น แต่แรงงานผลิตสินค้าได้จำนวนเท่าเดิมหรือน้อยกว่า ซึ่งสะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันแย่ลง เพราะต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพแรงงานไทยนั้นไม่ค่อยโตอยู่แล้ว เพิ่มเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปี แต่ที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะค่าจ้างแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำมานาน และโตแทบไม่ทันเงินเฟ้อ แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้น "มากไป" และ "เร็วไป" ทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการแข่งขันแย่ลง ไม่น่าแปลกใจที่จะมีสถานประกอบการปิดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแข่งขันในตลาดไม่ได้
นี่เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย และมาตรการของรัฐบาล ที่ละเลยเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานมาโดยตลอด