การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน มีเฉพาะชื่อผู้หญิงจริงหรือ ?
สวัสดีครับ จากเรื่อง “เฮอริเคนมารี” มีเพื่อนสมาชิกอยากทราบเกี่ยวกับการตั้งชื่อพายุเฮอริเคนเป็นผู้หญิง วันนี้ก็เลยมาช่วยหาคำตอบให้ครับ
การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน ตามหลักการ เดิมพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดในแถบทะเลแคริบเบียนนั้นจะตั้งชื่อนักบุญเป็นภาษาสเปน แต่ต่อมาราวปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ก็มีนักพยากรณ์อากาศชาวออสเตรเลียคนหนึ่งชื่อ คลีเมนต์ แรกกี (Clement Wragge) เกิดความคิดในการตั้งชื่อพายุโดยใช้ชื่อคนทั่วไป โดยมี 2 แบบ แบบที่ 1 ใช้ชื่อสตรี ซึ่งเข้าใจว่าต้องการให้ฟังดูอ่อนโยน ส่วนแบบที่ 2 ใช้ชื่อนักการเมือง เพื่อเปรียบเปรยว่านักการเมืองคนนั้นนำความหายนะมาให้เช่นเดียวกับพายุหมุน
นับจากปี 1950 นักพยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ จะตั้งชื่อพายุตามลำดับตัวอักษร A-Z (เช่น Able, Baker, Charlie…) และเริ่มตั้งชื่อพายุทั้งหมดเป็นชื่อผู้หญิงในปี 1953 เรื่องนี้เชื่อ่วาเกิดเพราะเจ้าหน้าที่ที่อยู่ห่างไกลคือทหารเรือสหรัฐที่ต้องทำหน้าที่ดังกล่าว ใช้ชื่อผู้หญิงก็ด้วยเพราะความคิดถึงนางอันเป็นที่รักนั่นเองครับ แต่ได้หันมาใช้ชื่อผู้ชายด้วยเมื่อปี 1979 หลังมีเสียงคัดค้านจากลุ่มสิทธิสตรี ปัจจุบันนักอุตุนิยมวิทยาตั้งชื่อพายุเก็บไว้มากพอจะใช้ได้อีก 6 ปี โดยนำอักษรแต่ละตัวมาตั้งเป็นชื่อผู้หญิง 3 ชื่อ ชื่อผู้ชาย 3 ชื่อยกเว้นตัว คิว ยู เอกซ์ วาย และแซด ชื่อทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ซ้ำทุก ๆ 6 ปี
ชื่อพายุที่สั้นและจำง่ายจะเหมาะสำหรับระบบเตือนภัย ศูนย์พยากรณ์พายุทั่วโลกภายใต้การดูแลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หันมาตั้งชื่อพายุตามระบบนี้ ในปัจจุบันแต่ละภูมิภาคมีรายชื่อพายุของตัวเอง ชื่อพายุจะถูกนำมาใช้ซ้ำเรื่อย ๆ ยกเว้นในกรณีที่เป็นพายุระดับรุนแรง เช่น พายุชาร์ลีย์, พรานเซส, ไอแวน และจีนน์ ของปี 2004 ถูกลบออกจากรายชื่อพายุในแถบมหาสมุทรแอตแลนติกไปแล้ว (พายุหมุนเขตร้อนที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงและส่งผลกระทบเป็นจำนวนมากจะถูกปลดออกจากรายการ และจะกำหนดชื่อใหม่แทนในการประชุมครั้งถัดไปของคณะกรรมาธิการเฮอร์ริเคน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก)
จนกระทั่ง ปี 2000 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 14 แห่งที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) ลุกขึ้นมาจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแถบนี้ใหม่ (ไม่เอาเฉพาะแต่ชื่อฝรั่ง) โดยแต่ละประเทศ (หรือดินแดน) ได้ส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวมทั้งสิ้นได้ 140 ชื่อ
หากทุกชื่อในรายการจะถูกใช้ไปหมดแล้ว จะมีการใช้อักษรกรีกขึ้นมาแทน (แอลฟา, เบตา, แกมมา, ฯลฯ) ซึ่งจะไม่ถูกปลดชื่อออกอย่างชื่อปกติ แต่ถ้ามีอานุภาพทำลายล้างมาก ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการปลดชื่อออก และได้รับการจดทะเบียนชื่อถูกปลดที่มีเชิงอรรถ เพื่อให้อักษรกรีกยังคงใช้ได้อีกสำหรับพายุในอนาคต
"แล้วหากชื่อพายุทั้งหมดที่มีอยู่ไม่พอใช้จะทำอย่างไรดี"
เป็นคำถามที่ดูจะซีเรียสนะครับ แต่แฟรงก์ เลอพอร์ จากศูนย์พายุเฮอริเคนแห่งชาติในไมอามีกล่าวตอบว่า
“ถ้ามีพายุมากกว่า 21 ลูกต่อปี เราก็คงมีปัญหาอื่นที่ร้ายแรงกว่าการหาชื่อมาตั้งแล้วครับ"
ก็เป็นคำตอบแบบขำๆ มาให้อ่านทิ้งท้าย แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
ปล. สถิติของการเกิดพายุเฮอริเคน และพลังทำลายของพายุลูกนั้นๆ ในช่วง 60 ปี ตั้งแต่ปี 1950-2012 ประกอบกับชื่อที่นำมาใช้ตั้งให้แก่พายุเฮอริเคน แล้วผลปรากฏว่าพายุเฮอริเคนลูกที่มีชื่อเป็นผู้หญิงจะมีความรุนแรงในการทำลายมากกว่าชื่อพายุเฮอริเคนที่เป็นผู้ชายถึง 3 เท่า อ่านรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนเพ่ิมเติมได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก