เต่าหายใจทางลิ้นนะ
เต่าน้ำ(Sternotherus odoratus) ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ และแม่น้ำของทวีปอเมริกาเหนือ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในน้ำ และดำน้ำได้ครั้งละหลายเดือนโดยเฉพาะในช่วงจำศีล โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจเลย
นักวิทยาศาสตร์เกิดความสงสัยกันมานานแล้วว่าเต่ามีออกซิเจนเพียงพอได้อย่างไรขณะต้องอยู่ใต้น้ำนาน ๆ ขนาดนั้น และตอนนี้นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลับเวียนนาค้นพบคำตอบแล้วในที่สุด
พวกเขาอธิบายว่า เต่ามีลิ้นและลักษณะคอพิเศษเป็นผิวย่น ๆ บาง ๆ เต็มไปด้วยเส้นเลือด สามารถสกัดออกซิเจนจากน้ำได้คล้ายเหงือกปลา
นักวิทยาศาสตร์สำรวจกายวิภาคของเต่า โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ทั้งแบบแสงและแบบอิเล็กตรอน ปรากฏว่าตรงโคนลิ้นและลำคอบุด้วยผิวบาง ๆ ที่ย่นพับและมีเส้นเลือดฝอยอยู่มากมาย จำนวนเส้นเลือดฝอยเหล่านี้มีมากพอ ๆ กับผิวของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำไร้ปอดชนิดอื่นที่ได้รับออกซิเจนทางผิวหนัง และจากการทดสอบเกี่ยวกับลิ้นของเต่า แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ใช้ลิ้นในการกลืนอาหาร ดังนั้นสาเหตุที่มันยังคงต้องมีลิ้นอยู่นั้น จึงมีไว้เพื่อการหายใจนั่นเอง
SCIENCE ILLUSTRATED / SCIENCE UPDATE
ขอบคุณภาพจาก
- http://www.amfibia.be/default.asp?iId=MIJLF
- http://apistogramma.pl/?page_id=1117
- http://carnivoraforum.com/topic/9333490/1/