รำลึกความหลัง มานะ มานี ปิติ ชูใจ หนังสือเรียนภาษาไทยสมัยประถม
มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 เขียนเรื่องโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และมีรูปภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดยเตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล
ที่มาของแบบเรียน เริ่มจากที่กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าแบบเรียนภาษาไทย ชุดที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย จึงต้องการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยวางวัตถุประสงค์ให้นักเรียนอ่านแล้ว มีความรู้สึกสนุกสนาน เพื่อกระตุ้นให้อยากเรียนภาษาไทย แบบเรียนชุดนี้ ใช้เวลาเขียนอยู่นานกว่า 4 ปี มุ่งให้ความรู้ทางภาษาไทย ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน หลังจากนั้นจึงนำมาปรับปรุง และทดลองใช้เรียนจนแน่ใจว่า เนื้อหาที่นักเรียนประถมทั้งประเทศ ต้องอ่านเพื่อใช้ศึกษา เป็นเรื่องราวอันบริสุทธิ์ดีงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย โดยกำหนดจำนวนคำ ให้เรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ทั้งนี้ เมื่อแรกเผยแพร่ยังไม่มีชื่อ แต่รัชนีผู้เขียนเล่าว่า มีผู้เรียกอย่างลำลองว่า ตำนานเด็กดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกแบบเรียนชุดนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการของไทย อนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre; ชื่อย่อ: TLCC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งขอนำแบบเรียนชุดนี้ ไปใช้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน
เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557 องค์การค้าของ สกสค. ประกาศว่าจะตีพิมพ์แบบเรียนดังกล่าว เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป โดยรวมเนื้อหาเป็นชั้นปีละ 1 เล่ม จากเดิมที่แยกเป็นเล่ม 1 และเล่ม 2 ส่วนภาพประกอบนั้นวาดขึ้นใหม่ แต่ยังคงเนื้อหาตามเดิมทุกประการ ซึ่งจะเริ่มจัดจำหน่าย ที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันเป็นต้นไป
มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ
ตัวละคร
- มานะ รักเผ่าไทย : พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน จึงมีผลการเรียนดี จึงเป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียน ที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6
- มานี รักเผ่าไทย : น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนๆ เลือกตั้งให้เธอเป็นรองประธานนักเรียน
- ปิติ พิทักษ์ถิ่น : เลี้ยงม้าไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าแก่ แต่ภายหลังก็ตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสิน เป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่ เพื่อทดแทนเจ้าแก่ และตั้งชื่อให้ว่า เจ้านิล
- วีระ ประสงค์สุข : มีพ่อเป็นทหาร แต่เสียชีวิตในระหว่างรบ ตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจ เสียชีวิตหลังจากคลอดวีระได้ 15 วัน ทำให้เขาต้องอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด และเลี้ยงลิงแสมไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าจ๋อ
- ดวงแก้ว ใจหวัง : มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
- ชูใจ เลิศล้ำ : เป็นเพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่งชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็ก โดยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อแม่ ซึ่งความจริงก็คือ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และต่อมาก็เดินทางกลับมา ตั้งใจจะรับลูกสาวกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกจะอยู่กับย่าต่อไป
- สมคิด : เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 แล้ว เขาย้ายกลับไปอาศัยอยู่กับปู่ และศึกษาต่อชั้นมัธยมที่จังหวัดภูเก็ต
- เพชร : เกิดในครอบครัวยากจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกเข้าปักงูในอุโมงค์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อน แม่ของเขาถูกงูกัดเสียชีวิต ขณะเข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่า
- จันทร : เป็นเด็กหญิงพิการขาลีบข้างหนึ่ง ในตอนท้ายของเรื่อง โรงเรียนคัดเลือกให้เป็นผู้แทนร้องเพลง "ความฝันอันสูงสุด" รวมถึงอ่านทำนองเสนาะถวาย เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทาน รับเธอไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งหายเป็นปกติ
- คุณครูไพลิน : เป็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 เมื่อคราวไฟไหม้ตลาด เธอมีโอกาสพบ ทวีป เกษตรอำเภอเป็นครั้งแรก และต่อมาลูกศิษย์ของเธอ เป็นสื่อนำพาให้รู้จักคุ้นเคย และแต่งงานกันในที่สุด โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน
- คุณครูกมล : เป็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6