ภาพลวงตาแห่งธุรกิจ – เมื่อเงินในมือของเราไม่ใช่ของของเรา (ข้อคิดสำหรับมือใหม่ ข้อเตือนใจสำหรับมือเก่า)
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ก่อนจะเขียนกระทู้นี้ก็ชั่งใจอยู่พักหนึ่งว่าจะเขียนดีไหม เพราะเป็นเรื่องพื้นๆที่โดยสามัญสำนึกทุกคนก็น่าจะรู้อยู่แล้ว (อย่างเช่นหากอยากเรียนดีก็ต้องขยันเรียน) แต่จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอกลับพบว่ามีผู้ประกอบการที่ตกม้าตายในเรื่องพื้นฐานแบบนี้เยอะมาก จึงอยากจะเขียนไว้อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวและผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นนะครับ
กระทู้นี้ผมเขียนขึ้นก็เนื่องมาจากโรงงานที่ผมรู้จักได้ปิดตัวลง โรงงานนี้มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี ขายสินค้าที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงในกลุ่มผู้ใช้สินค้าชนิดนี้ หรือพูดง่ายๆก็คือมีแบรนด์ที่ดีและแข็งแรง ดูๆแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเจ๊งได้ง่ายๆ แต่ในที่สุดโรงงานนี้ก็ปิดตัวลง เพียงเพราะว่าผู้บริหารรุ่นลูกที่สืบทอดกิจการไม่เข้าใจหลักพื้นฐานง่ายๆของธุรกิจ นั่นก็คือ “รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว จึงเรียกว่ากำไร”
ไม่ใช่แต่เพียงโรงงานแห่งนี้ แต่ผู้ประกอบการหลายๆรายที่ผมรู้จักก็ปิดตัวไปเพราะละเลยหลักเหตุผลง่ายๆ นั่นคือ เงินในมือของเรายังไม่ใช่ของเราจนกว่าจะหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกไป หลายๆธุรกิจนั้นมีรายรับต่อเดือนค่อนข้างมาก ตัวเลขเงินสดที่ถืออยู่ในมือ (หรือในบัญชี) นั้นมันช่างล่อตาล่อใจให้ผู้ประกอบการคิดว่า “ฉันมีเงิน” และนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะซื้อรถหรู ซื้อบ้าน ซื้อ TV แพงๆ ซื้อๆๆๆแล้วก็ซื้อ อย่างในกรณีของโรงงานที่ผมกล่าวข้างต้น เมื่อรุ่นลูกเข้ามาบริหารแล้วเห็นว่ารายรับต่อเดือนเป็นหลักหลายล้าน ก็ใช้จ่ายเงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง เมื่อสะสมไปนานๆ จึงทำให้ภายหลังไม่มีเงินจ่ายให้กับซัพพลายเออร์ที่ส่งวัตถุดิบเข้าโรงงานและอื่นๆ จนโรงงานเจ๊งในท้ายที่สุด
เมื่อคุณรับของมา 100 บาท แล้วคุณขายในราคา 120 บาท ไม่ได้แปลว่าคุณมีเงินอยู่ 120 บาท ถึงแม้ว่าเงิน 120 บาทนั้นจะอยู่ในกำมือของคุณแน่นอนว่าคุณต้องเก็บเงิน 100 บาทไว้เพื่อซื้อสินค้ากลับเข้ามาใหม่ เท่ากับว่าในมือคุณเหลือ 20 บาท แต่ 20 บาทนี้ก็ยังไม่ใช่เงินของคุณอยู่ดี เพราะคุณต้องนำ 20 บาทนั้นไปจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดำเนินการต่างๆ ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าต่างๆนี้หมดแล้วจึงเป็นเงินของคุณ อาจจะเหลือ 10 บาท 5 บาท หรือบาทเดียวก็ได้ ดังนั้นเงินที่คุณจะสามารถนำไปใช้ได้จริงๆโดยไม่กระทบกับธุรกิจของคุณก็คือเงินส่วนที่เหลือนี้ แน่นอนว่าตัวเลขน้อยๆแบบนี้มันอาจไม่เห็นภาพเท่าไหร่ ลองยกตัวอย่างว่ามีเงินเข้ามาในมือคุณ 1 ล้านบาท ถ้าคุณไม่ศึกษาค่าใช้จ่ายในธุรกิจของคุณคุณจะรู้สึกว่า
“เฮ้ย! ตูมีเงินตั้ง 1 ล้าน แล้วเดี๋ยวเดือนหน้าก็ได้อีก 1 ล้าน แม่เจ้า!! ใช้ไปก่อนคงไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเงินมันก็เข้ามาอีก ”
เงิน 1 ล้านนี้ยังต้องนำไปหักค่าใช้จ่ายต่างๆอีกจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางธุรกิจที่มีการแข่งขันทางราคาสูงทำให้ต้องขายในราคาต่ำแต่เน้นจำนวนมันจะทำให้มีตัวเลขสูงมากแต่กำไรน้อย เงิน 1ล้านบาท ข้างต้น อาจทำกำไรได้จริงๆแค่ 50000 ก็ได้ เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายคือ 950000 ที่จะต้องเก็บไว้จ่ายคนอื่น ดังนั้นหากดึงเงินออกมาใช้สัก 100000 จาก 1 ล้าน (ซึ่งดูเหมือนไม่มาก) เมื่อถึงเวลาจ่ายบัญชี คุณก็จะติดลบ 50000 บาท หรือเป็นหนี้ 50000 บาทนั่นเอง
แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดหากผู้ประกอบการมีเงินหมุนเพียงพอที่จะชดเชยส่วนที่ติดลบ และไม่ได้ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายจริงๆ เพราะถ้ามีเงินหมุนมาก หนี้ 50000 ก็จะถูกจ่ายโดยเงินสำรองที่มีอยู่ (หรือรายได้ในเดือนต่อไปกรณีเป็นเครดิต) แล้วถ้าเดือนต่อๆไปไม่ได้มีการใช้เงินมากมายและมีรายได้ที่แน่นอน สุดท้ายกำไรที่ได้มันก็จะอุดส่วนที่ติดลบนี้ไปเอง แต่ถ้าคุณไม่มีเงินสำรองเพียงพอนั่นแปลว่าคุณกำลังนับถอยหลังให้กับกิจการที่รอวันเจ๊งของคุณ (โดยเฉพาะผู้ที่มีภาระผ่อนหนี้)
ไม่เพียงแต่ธุรกิจใหญ่ ธุรกิจเล็กๆก็เจ๊งในลักษณะนี้เยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่หันตัวเองเข้าสู่การทำธุรกิจ ปัญหานี้มักเกิดจากความไม่คุ้นเคยในการเปลี่ยนจากเงินเดือนประจำมาเป็นรายรับ และไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ละเอียด ขายไปได้เงินมาก็ใช้ไป ไม่ได้ตั้งลิมิตการใช้จ่ายไว้ สุดท้ายหากเงินที่จ่ายมันมากกว่ากำไรที่แท้จริงต่อเนื่องกันหลายๆเดือนธุรกิจก็จะเจ๊งได้ อย่าว่าแต่รุ่นลูกทำเจ๊งเลยครับ ขนาดผู้ใหญ่เจ้าของเองที่สร้างธุรกิจมากับมือผมก็เห็นเจ๊งมาหลายคนแล้ว บางคนตามใจลูก ลูกขออะไรก็ซื้อให้ เพราะลูกคิดว่าพ่อรวยมีกิจการใหญ่โต ไปๆมาๆหมุนเงินไม่ทันสุดท้ายก็ต้องปิดหนีเจ้าหนี้ก็มีให้เห็นบ่อยๆ
โดยส่วนตัวผมมีโมเดลง่ายๆมาแนะนำให้กับมือใหม่นั่นคือ
1. ทำข้อมูลต้นทุนของสินค้าทุกอย่างเอาไว้
2. เมื่อขายของไปให้นำต้นทุนมาลบทุกครั้ง
3. ทำรายการค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่ต้องจ่ายทั้งหมด เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
4. ทำรายการค่าใช้จ่ายส่วนตัวพื้นฐานไว้ อาจทำเป็นวงเงินคร่าวๆก็ได้ถ้าขี้เกียจ เช่น ค่าอาหาร ค่าของใช้ในบ้าน ค่าน้ำมันรถ
5. ตั้งวงเงินที่ต้องการจะเก็บออมสำหรับกิจการต่อเดือน อันนี้คนละอย่างกับออมส่วนตัวนะครับ เงินตรงนี้คือเงินหมุนสำหรับสำรองจ่ายฉุกเฉิน เช่นโดนลูกค้าโกง และสำหรับการขยายกิจการในระดับย่อย ตัวอย่างเช่นคุณมีสต็อกของ 10 ชิ้นเป็นทุน 10000 บาท วันหนึ่งคุณได้รับออเดอร์สั่งของจำนวน 20 ชิ้น เท่ากับว่าคุณต้องหาเงินมาเพิ่ม 10000 บาทเพื่อซื้อสินค้าเข้ามา (เท่ากับว่าคุณมีต้นทุนเพิ่มขึ้น หรือก็คือกิจการของคุณใหญ่ขึ้น) หากคุณไม่สำรองเงินไว้ คุณก็จะเสียลูกค้ารายนี้ซึ่งเท่ากับคุณเสียโอกาสในการทำกำไรจากดีลนี้และเสียโอกาสในการเพิ่มฐานลูกค้าด้วย
Ex. ขายของ 100000 หักต้นทุนเหลือ 50000 หักค่าใช้จ่ายเหลือ 30000 กันไว้หมุน 5000 เหลือจริง 25000
ดังนั้นรายได้ที่ได้หลังจากหัก 5 ข้อนี้นั่นแหละคือเงินของคุณที่จะสามารถนำมาใช้ส่วนตัวได้โดยไม่กระทบกับธุรกิจ หรือพูดในอีกมุมหนึ่งก็คือเงินเดือนของคุณที่ธุรกิจของคุณจ่ายให้คุณครับ ซึ่งคุณจะแบ่งมาใช้เท่าไหร่ จะเก็บออมส่วนตัวเท่าไหร่ก็อยู่ที่วิจารณญาณของคุณแล้วครับ
ป.ล. 1 - กระบวนการนี้ทำได้ง่ายมากครับขอแค่มีกระดาษกับปากกา หรือถ้าทำได้ก็ใช้ Excel ทำแบบง่ายๆก็ได้
ป.ล. 2 – กระบวนการนี้เป็นวิธีคิดแบบ Play Safe คือลดความเสี่ยงแบบสุดๆ จึงดูเหมือนว่าค้าขายส่วนตัวทำไมได้เงินน้อยจัง ในความเป็นจริงคุณอาจไม่จำเป็นต้องเข้มงวดขนาดนี้ ถ้าคุณมีวินัยในการใช้เงินอยู่แล้วหรือถ้าคุณพอมีเงินหมุน หรือพอกิจการของคุณเริ่มเข้าที่พอจะมีความมั่นคงและมีรายได้คงที่ระดับหนึ่ง เงินมันจะทำหน้าที่ของมันเองโดยที่คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก
ป.ล. 3 – เมื่อกิจการคุณมีรายรับถึงกำหนดก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกก็คือ ภาษี ครับ
ข้อคิดสำหรับมือใหม่ และผู้สืบทอดกิจการ – ทำความเข้าใจและควบคุมรายจ่ายให้ดี
ข้อคิดสำหรับมือเก่า – มีวินัยในการใช้เงิน อย่าใช้เงินเกินตัว กิจการคุณสร้างมาอย่างยากลำบากอย่าตกม้าตายกับเรื่องพื้นฐาน
หวังว่าคงมีประโยชน์กับทุกท่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
ฝากกระทู้เก่านะครับ:เรียนรู้ข้อคิดดีๆเกี่ยวกับคนและสัตว์ใน Dr. Dolittle: http://pantip.com/topic/32063764
โพสท์โดย: I sea u