ปรุงอาหารลูกด้วย “นมแม่”
การส่งเสริมแม่หลังคลอดให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน เป็นนโยบายรณรงค์การป้องกันส่งเสริมแม่หลังคลอดของกระทรวงสาธารณสุข และหลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไปนั้น ควรให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยด้วย เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารครบถ้วน
รศ.พญ.กุสุมา ชูศิลป์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “หลัง 6 เดือนควรให้เด็กกินนมแม่อย่างน้อยจนอายุ 1 ขวบ โดยกินควบคู่กับอาหารอื่น เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร โดยสามารถดูได้จากสมุดบันทึกสุขภาพและเด็กที่ได้รับจากสถานพยาบาลตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ การกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน จะช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือป้องกันโรคอ้วนในเด็ก ได้ผล และป้องกันน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ได้”
ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก” บอกว่า อาหารอื่นที่ทารกได้รับมื้อนอกเหนือจากนมแม่ จะช่วยให้ทารกปรับตัวจากการกินอาหารเหลวเป็นอาหารกึ่งแข็ง กึ่งเหลว และอาหารแบบผู้ใหญ่ เพื่อให้มีพัฒนาการในการกินที่เหมาะสม ช่วง 6 เดือนแรก ทารกจะได้รับสารอาหารพอเพียงจากนมแม่ หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับพลังงาน และสารอาหารบางชนิดเพิ่มเติมจากอาหารตามวัยสำหรับทารก เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน วิตามินเอ เป็นต้น เพื่อให้การเจริญเติบโตตามปกติ
หากใครมองว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้อย่างน้อย 6 เดือนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะหลังครบกำหนดการลาคลอด ก็ต้องกลับไปทำงานตามปกติ ต้องบอกว่า เทรนด์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากในวันนี้ น่าจะรับรองได้ว่า คนเป็นแม่ทุกคน ถ้าคิดจะทำ ก็ย่อม “ทำได้”
วิลาสินี บุญมาสูงทรง หรือแม่กุ๊ก อนุคณะกรรมการเว็บไซต์ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เป็นคุณแม่อีกคนหนึ่งที่เลี้ยงลูกของเธอทั้ง 4 คน ด้วยนมแม่ควบคุ่กับการทำงานนอกบ้านมาตลอด เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่า "เกิดขึ้นเมื่อเข้าอบรมครรภ์คุณภาพตอนท้องลูกคนโต วิทยากร จากโรงพยาบาลศิริราช ได้บรรยายถึงคุณประโยชน์ของนมแม่ ทำให้มีความคิดว่าถ้ามีน้ำนมก็จะให้ลูกกินนมแม่ และด้วยความโชคดีที่ได้ย้ายไปคลอดที่รพ.สมุทรปราการซึ่งเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ทำให้สามารถให้นมแม่ได้สำเร็จ”
จากประสบการณ์การเลี้ยงลูกคนแรก และการหาข้อมูลเรื่องนมแม่ที่มากพอ ทำให้ลูกๆ ของแม่กุ๊กได้กินนมแม่ และกินอาหารตามวัยผสมนมแม่ โดยเมนูแรกเป็นข้าวบดไข่แดงผสมนมแม่เพราะลูกกินนมแม่มาตลอด อาหารเสริมที่มีนมแม่เป็นส่วนประกอบจะมีกลิ่น มีรสชาติที่ลูกคุ้นเคย เมนูอื่นที่ให้สลับกันคือข้าวบดใส่ตับ และข้าวบดตำลึงไข่แดง
แม่กุ๊กเล่าต่อว่า “เมนูที่ผสมนมแม่ช่วยลดความกังวลว่า ลูกจะไม่ยอมกิน เพราะป้อนแล้วลูกกินได้ดี เมนูที่ทำจะสลับผักและเนื้อสัตว์ไปในแต่ละวัน โดยจะมีไข่แดงและตับทุกสัปดาห์เพื่อเสริมธาตุเหล็ก เนื่องจากทราบมาว่าการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายจะถูกรบกวนเมื่อเริ่มอาหารเสริม ถ้าใส่ตับจะใส่ฟักทองหรือแครอท เพื่อใช้รสหวานกลบรสขมของตับ แต่ข้อเสียของฟักทองคือจะทำให้อึของลูกเหนียว จึงควรสลับด้วยผักใบเขียว เช่น ผักกาดขาว โดยเฉพาะตำลึงซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยระบายท้อง”
ซึ่งอาหารตามวัยทารกควรมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุ วิตามิน ปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของทารก ซึ่งมาจากอาหารที่หลากหลาย เช่น ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว น้ำมัน ผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน
อาหารที่มีเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดง อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เต้าหู้ ผักใบเขียว และอาหารที่มีวิตามินเอสูง ได้แก่ ตับ ไข่แดง ผักและผลไม้สีเหลืองส้ม
วิธีคงคุณค่านมแม่ในการปรุงอาหาร
แม่กุ๊กเล่าว่า เคล็ดลับในการปรุงอาหารด้วยนมแม่นั้นมีหลักการคือ ให้นมแม่ผ่านความร้อนให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้สารอาหารในนมแม่สลายไป โดยจะปรุงอาหารให้เสร็จแล้วราดด้วยนมแม่ทีหลังสุด โดยจะไม่ใส่นมแม่มากเกินไปเพราะจะทำให้อาหารคืนตัวเร็ว นมแม่นอกจากใช้ทำอาหารคาวแล้วยังทำเป็นเครื่องดื่มและของว่างได้ด้วย เช่นไอติมนมแม่แช่แข็ง หรือใส่รวมกับน้ำผลไม้หรือเนื้อผลไม้ปั่นให้ทานแบบสมูทตี้ แช่แข็งแล้วขูดเป็นเกล็ดน้ำแข็งให้ตักทานเอง
อยากทำอาหารด้วยนมแม่ให้ลูก ต้องทำอย่างไร
แม่กุ๊กแนะนำว่า สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีเวลา แนะนำให้ทำอาหารเสริมแช่แข็งไว้สำหรับกินภายในสัปดาห์ โดยนำน้ำซุปที่ผสมนมแม่เทใส่ในพิมพ์น้ำแข็ง เพื่อหยิบมาใส่ครั้งละก้อน พร้อมเนื้อสัตว์ และผักที่สับละเอียดไว้แล้ว จะช่วยประหยัดเวลาได้เยอะ
มาร่วมสร้างโภชนาการที่ดีสำหรับลูกน้อย ตั้งแต่วันนี้กันเถอะค่ะ...
ที่มา: นางสาวอาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากเพจมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และอินเทอร์เน็ต
โพสท์โดย: I sea u