พบกระจุกดาวกระเด็นออกจากดาราจักร
นักดาราศาสตร์พบกระจุกดาวทรงกลมกระจุกหนึ่ง กำลังเคลื่อนที่หนีออกจากดาราจักรด้วยความเร็วสูงมาก สูงจนถึงระดับที่จนในที่สุดจะหลุดออกจากการคว้าจับของดาราจักรต้นกำเนิดอย่างถาวร กลายเป็นกระจุกดาวอิสระที่ลอยล่องไปท่ามกลางอวกาศระหว่างดาราจักรอันเวิ้งว้าง
This is an artist’s impression of the star cluster HVGC-1. Image credit: Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics.
กระจุกดาวนี้มีชื่อว่า เอชวีจีซี-1 (HVGC-1) กำลังเคลื่อนที่หนีออกจากดาราจักรเอ็ม 87 (M87) ดาราจักรเอ็ม 87 เป็นดาราจักรทรงรียักษ์ มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 6 ล้านล้านเท่า นับเป็นดาราจักรที่มีมวลมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอกภพ
เอชวีจีซี (HVGC) ย่อมาจาก hypervelocity globular cluster หรือกระจุกดาวทรงกลมความเร็วสูงยิ่ง
กระจุกดาวทรงกลมเป็นวัตถุดึกดำบรรพ์ของเอกภพ เพราะมีอายุมาก กำเนิดมาตั้งแต่ยุคต้นของเอกภพ กระจุกดาวทรงกลมกระจุกหนึ่งมีดาวฤกษ์อออยู่รวมกันหลายพันดวงขึ้นไป ดาราจักรทางช้างเผือกของเรามีกระจุกดาวทรงกลมประมาณ 150 กระจุก ส่วนดาราจักรยักษ์อย่างเอ็ม 87 มีนับพันกระจุก
This image shows the star cluster HVGC-1. Image credit: Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics.
การกระเด็นหลุดออกจากพันธนาการของดาราจักรไม่ใช่เรื่องแปลก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า การวิ่งหนี นักดาราศาสตร์เคยพบดาววิ่งหนีมาก่อน เป็นดาวฤกษ์ที่เคลื่อนที่ออกจากดาราจักรด้วยความเร็วสูงจนหลุดจากการยึดเหนี่ยวของดาราจักร แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์เห็นกระจุกดาวทั้งกระจุกวิ่งหนีออกจากดาราจักร
ขณะนี้นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า กระจุกดาวนี้ถูกดีดออกจากดาราจักรด้วยความเร็วระดับนี้ได้อย่างไร แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่ดาราจักรนี้มีหลุมดำยักษ์ที่ใจกลางสองหลุม กระจุกดาวกระจุกนี้อาจหลุดเข้าไปเฉียดใกล้หลุมดำสองหลุมนี้มากเกินไป จึงถูกหลุมดำเหวี่ยงออกมาพร้อมกับเสียดาวส่วนนอกออกไปจำนวนมาก แต่บริเวณใจกลางกระจุกที่หนาแน่นยังคงสภาพอยู่
การค้นพบเอชวีจีซี-1 บ่งชี้ว่าที่แกนของเอ็ม 87 อาจมีหลุมดำยักษ์สองหลุมแทนที่จะเป็นหลุมเดียวดังที่พบในดาราจักรทั่วไป การที่มีหลุมดำยักษ์สองหลุมอาจเป็นผลจากดาราจักรสองดาราจักรมาชนและเกาะรวมกันเมื่ออดีตอันไกลโพ้น การชนและหลอมรวมดาราจักรนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในเอกภพ และจะเกิดขึ้นกับดาราจักรทางช้างเผือกของเราด้วย นักดาราศาสตร์พบว่าดาราจักรทางช้างเผือกจะชนกับดาราจักรแอนดรอเมดาในอีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า ผลจากการชนก็จะเป็นดาราจักรทรงรีเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก
Entire star cluster thrown out of its galaxy - astronomy.com
http://thaiastro.nectec.or.th/news/uploads/2014/news-213-MjEzID0.jpg