“ผื่น” ฮิตที่พบบ่อยในฤดูฝน
ใช่ว่าเรื่องผิวหนังจะดูแลกันแค่ “ฤดูร้อน” หรือ “ฤดูหนาว” หากแต่ "ฤดูฝน" ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหนังไม่แพ้กัน
สำหรับผู้ที่มีสุขภาพผิวดี คงสงสัยว่าทำไมถึงต้องระวังสุขภาพของผิวหนังใน “ฤดูฝน” กันด้วย ในเมื่ออากาศไม่ร้อน แดดไม่แรง เหงื่อไม่ออก อีกทั้งอากาศก็ไม่ได้หนาวจนผิวแห้ง ก่อให้เกิดอาการคันยิบๆ ที่ผิวหนัง พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนฤดูเข้าสู่หน้าฝน สิ่งที่ควรระวังมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ก็คือ (1) ปัจจัยความอับชื้นที่มาพร้อมกับสายฝน ซึ่งอาจก่อให้เป็นผื่นผิวหนังได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นผิวหนังที่เกิดจากความอับชื้น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ฉะนั้นหากเปียกฝนมา จึงควรรีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ หรือเช็ดตัวทุกสัดส่วนให้แห้ง ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะความอับชื้นเป็นปัจจัยให้ผิวไวต่อเชื้อแบคทีเรีย และแพ้ง่ายขึ้น (2) ผื่นผิวหนังที่เกิดจากการถูกแมลงกัด โดยเฉพาะ “แมลงก้นกระดก” หรือ “ด้วงก้นกระดก” ตามที่เป็นข่าวอยู่ในสังคมออนไลน์ว่ามีพิษร้าย หากผู้ใดสัมผัสโดนตัวแมลงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นั้น “ไม่เป็นความจริง” เลย
ผื่นผิวธรรมดา VS ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้ง 2 โรค ลักษณะอาการคล้ายกัน เพียงแต่ผื่นภูมิแพ้ คือ ผื่นที่ระบุสาเหตุการแพ้ ซึ่งเกิดจากภูมิ โดยลักษณะของผื่นจะเกิดเฉพาะบริเวณที่โดนสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ อย่าง น้ำหอม เกิดผื่นบริเวณที่ฉีด, นิกเกิล หรือ พลาสติก เกิดผื่นบริเวณที่จับ ทั้ง 2 อย่างรักษาตามอาการของการเกิดผื่น ซึ่งหากเป็นมาก ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
ผื่นจาก “ด้วงก้นกระดก” ตัวจิ๋ว
“ด้วงก้นกระดกมีหลายชื่อเรียก” พญ.มิ่งขวัญบอก ก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แมลงก้นกระดกคือด้ วงปีกสั้นที่มีหลายชื่อเรียก เช่น ด้วงก้นงอน ด้วงกรด หรือ แมลงเฟรชชี่ เนื่องจากพบบ่อยในกลุ่มนักศึกษาที่อยู่หอปีแรก ลักษณะของด้วงก้นกระดก ตัวเต็มวัยจะยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร หัวสีดำ ส่วนท้องมี 6 ปล้อง 4 ปล้องแรกสีส้มอมน้ำตาล ที่เหลือสีดำ เป็นแมลงที่มีอายุอยู่ได้ยาวนาน ว่องไว บินได้เร็ว พบบ่อยในช่วงฤดูฝน
“ด้วงก้นกระดกจะมีสารพิษที่ชื่อว่า พีเดอริน ซึ่งเป็นกรดอ่อน ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อได้ ตัวเมียมีสารพิษมากกว่าตัวผู้ เมื่อสัมผัสโดนด้วงตัวผู้ แล้วไม่ค่อยมีอาการแพ้ จึงเป็นเหตุให้เข้าใจผิดได้ว่าแมลงชนิดนี้ไม่มีอันตรายมาก”
ทั้งนี้จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 คือวัยรุ่นและวัยทำงาน (15-59 ปี) อาชีพที่พบมาก คือ นักเรียน นักศึกษา และแม่บ้าน ร้อยละ 35
อาการของผู้ที่สัมผัส
มักเกิดจากการที่แมลงมาเกาะแล้วเผลอปัด หรือบี้แมลงจนท้องมันแตก แล้วได้สารพิษนั้น ส่วนอาการจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการได้รับพิษ โดยอาการจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่จะมีอาการหลังจากสัมผัสแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง
“ลักษณะของผื่นจะป็นผื่นแดง เป็นรอยไหม้ทางยาว ทิศทางตามรอยที่แมลงถูกมือปัดออกไป ในระยะต่อมาจะมีตุ่มน้ำพองใส และตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมาภายใน 2-3 วัน ไม่คันมาก แต่จะมีอาการแสบร้อน ซึ่งหากสารพีเดอรินกระจายถูกบริเวณดวงตา ก็จะเกิดอาการบวมแดง และอาจทำให้ตาบอดได้” ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังอธิบาย
อาการอักเสบ จะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยอาจจะมีรอยดำหลังการอักเสบได้ในระยะสั้นๆ โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้ ตามที่มีการแบ่งปันข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพราะพิษของด้วงก้นกระดกไม่ส่งผลต่อระบบอื่น นอกจากตาและผิวหนัง เว้นแต่เป็นผู้ที่ได้รับพิษเป็นจำนวนมาก หรือมีอาการแพ้รุนแรง ก็จะมีไข้สูง และอาการทางระบบหายใจได้
การรักษาและป้องกัน
เมื่อรู้ตัวว่าได้สัมผัสกับแมลงก้นกระดก ขอให้ล้างผิวหนังบริเวณนั้นกับน้ำสะอาด ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย ไม่ควรแกะเกา เพราะอาจทำให้มีติดเชื้อแทรกซ้อนได้
“ถ้าอาอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบแพทย์ ทางคุณหมอจะให้สเตียรอยด์อย่างอ่อนทาบริเวณแผล และใช้วิธีประคบเปียกประมาณ 5-10 นาที ซึ่งหากมีผื่นหนองหรือตุ่มน้ำพองใสขึ้นด้วย ควรประคบอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ในรายที่คันมาก อาจให้ยาแก้คัน รวมกับยาปฏิชีวนะหากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ส่วนการป้องกันที่สามารถทำได้คือการปัดที่นอนทุกครั้งก่อนนอน ปิดประตู หน้าต่างมิดชิด เปิดไฟเฉพาะที่จำเป็นเพื่อไม่ให้แมลงชนิดนี้มาเล่นกับไฟนีออน หากแมลงมาเกาะ ไม่ควรตบหรือตี แต่ควรเป่าให้แมลงออกไป หรืออาจจะใช้เทปกาวใสมาแปะตัวแมลงนี้ออกไปก็ได้”
ที่เหลือจากนี้ หากต้องการมีสุขภาพผิวที่ดี ก็ต้องหมั่นทาครีมบำรุงผิว ออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงผิวเป็นประจำ เพราะสุขภาพของผิวหนังก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ ไม่ต่างกับการป่วยเป็นโรคอื่นๆ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โพสท์โดย: I sea u