วีรกษัตรีย์ผู้ถูกลืม
พระอัครชายาเธอเจ้าครอกฟ้าศิริรจนาเจ้าศรีอโนชา
วีรกษัตรีย์ผู้ถูกลืม
ปฐมบทราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์ ราชวงศ์ที่ 2 แห่งล้านนา
องค์ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์แห่งล้านนา
ภาพรวมพระปฐมวงศ์แห่งราชตระกูลเจ้าเจ็ดตนหรือราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์แห่งล้านนา
ครั้งสิ้นราชวงศ์มังรายแห่งล้านนาในสมัยพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ หัวเมืองต่างๆในล้านนาได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของพม่า แต่ยังมีอีกหลายเมืองที่ยังคงเป็นนครรัฐอิสระตามเดิม เช่น นครเขลางค์หรือนครลำปาง จนกระทั่งท้าวหนานมหายศผู้ครองนครลำพูน ได้ยกทัพมาตีนครลำปางโดยมีฐานที่ตั้ง ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ชาวเมืองจึงได้พากันมาขอให้หนานทิพย์ช้าง ผู้เป็นทั้งนายพรานควาญช้างที่เก่งกล้าทั้งปืนผาหน้าไม้ ช่วยเป็นผู้นำในการกอบกู้นครลำปาง โดยหนานทิพย์ช้างได้รบชนะและสังหารท้าวหนานมหายศ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง จากนั้นชาวเมืองจีงได้สถาปนาหนานทิพย์ช้างขึ้นครองนครลำปางในปี พ.ศ.2275 โดยมีพระนามว่า พญาสุวะลือไชย ต่อมาพระองค์ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ และได้รับพระราชทานนามว่า พญาไชยสงคราม ชาวเมืองมักเรียกรวมกันว่า พญาสุลวะลืมไชยสงคราม เมื่อสิ้นรัชสมัยพญาสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าฟ้าชายแก้วบุตรของพระองค์จึงได้ขึ้นครองนครลำปางต่อจากพระบิดาในปี พ.ศ.2303 โดยได้รับพระราชทานนามจากพม่าว่า เจ้าฟ้าสิงหราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ในรัชสมัยของพระองค์นั้นพม่าได้เข้ามาก้าวก่ายในบ้านเมืองและกดขี่ข่มเหงประชาชนมากขึ้น ทำให้พระองค์เริ่มมีแผนการในการกอบกู้เอกราชจากพม่า พระองค์ทรงมีราชโอรสและราชธิดารวม 10 พระองค์ ดังนี้
1.พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์ที่ 1 และทรงเป็นพระเจ้านครลำปางพระองค์ที่ 3 ด้วย
2.พระเจ้าคำโสม พระเจ้านครลำปางพระองค์ที่ 4
3.เจ้าหลวงธรรมลังกา พระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์ที่ 2
4.พระเจ้าดวงทิพย์ พระเจ้านครลำปางพระองค์ที่ 5
5.พระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา ในสมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท
6.เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่พิราลัยแต่ยังเยาว์)
7.เจ้าอุปราชหมูหล้า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง
8.เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 และเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1
9.เจ้าหญิงสรีบุญตัน (ถึงแก่พิราลัยแต่ยังเยาว์)
10.พระเจ้าบุญมาเมือง พระเจ้านครลำพูนพระองค์ที่ 2
นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน (หมายถึงผู้ครองเมืองทั้ง 7) ราชวงศ์แห่งวีรบุรุษวีรสตรีผู้ที่มีคุณูปการต่อการกอบกู้เอกราชล้านนาจากพม่าและเป็นราชวงศ์นักรบอย่างแท้จริง
พระประสูติกาลในร่มเศวตฉัตร
เจ้าฟ้าสิงหราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว พระบิดาในเจ้าหญิงศรีอโนชา
เจ้าหญิงศรีอโนชาหรือเจ้าศิริรจนา ประสูติเมื่อจุลศักราช 1112 ปีมะเมียโทศกหรือ พ.ศ.2293 เป็นราชธิดาในเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วกับแม่เจ้าจันทราราชเทวี และเป็นนัดดาในพญาสุลวะลือไชยสงครามกับแม่เจ้าพิมพาราชเทวี องค์ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน
พระเชษฐาร่วมกอบกู้เอกราชจากพม่า
พระบรมราชาธิบดีกาวิละพระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์ที่ 1
ในครั้งเมื่อพระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละได้คิดกบฏต่อพม่าด้วยการสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน(พระเจ้ากรุงธนบุรี) โดยได้รับการสนับสนุนทัพจากพระยาจักรี และพระยาสุรสีย์ และทำการกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จ พระยาจ่าบ้านจึงได้ขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่(ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์) และเจ้ากาวิละเป็นพระเจ้ากาวิละพระเจ้านครลำปางพระองค์ที่ 3 ต่อจากพระบิดาและเป็นพระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์ที่ 1 หลังจากพระยาวิเชียรปราการถูกคุมขังในข้อหาฆ่าอุปราชก้อนแก้ว จากนั้นพระเจ้ากาวิละจึงได้ถวายนัดดานารีผู้หนึ่งเพื่อหมายให้เป็นบาทบริจาต่อพระเจ้าตากสิน แต่กลับไม่มีบทบาทใดๆ ในขณะเดียวกันเจ้าหญิงศรีอโนชาพระขนิษฐาในพระองค์ก็ได้ถูกยกให้พระยาสุรสีห์ตามคำทูลขอ เช่นกัน
ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งเจ้าครอกฟ้า
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี)
หลังจากที่เจ้าศรีอโนชาหรือเจ้าศิริรจนาได้ถูกยกให้พระยาสุรีห์ตามคำทูลขอแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จกลับยังกรุงธนบุรีพร้อมกับพระยาสุรีห์ด้วย โดยได้เข้ารับราชการในแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาพระองค์จึงได้รับพระราชทินนามว่า เจ้าครอกฟ้าศิริรจนาเจ้าศรีอโนชา โดยคำว่าเจ้าครอกนั้นหมายถึง ผู้ทรงเป็นเจ้าแต่โดยกำเนิด
วีรสตรีปราบกบฏพระยาสรรค์
เมื่อครั้งพระยาจักรีซึ่งขณะทรงดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและพระยาสุรสีห์ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์พิศนุวาธิราช ได้ยกทัพไปปราบกบฏยังกัมพูชา ก็ได้เกิดเหตุกบฏพระยาสรรค์ขึ้นในพระนครเช่นกัน ครั้งนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชได้ถูกพระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจบังคับให้ออกผนวชพร้อมกับพระโอรสซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่และจองจำไว้ที่วัดแจ้งโดยหวังจะเสวยราชย์ แต่เหตุการณ์นั้นได้ล่วงรู้ถึงเจ้าศรีอโนชาที่ขณะนั้นพำนักอยู่ที่ปากคลองบางลำภู พระองค์จึงได้ร่วมมือกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญ และขอความร่วมมือจากชาวยวน(คนล้านนาเชียงแสน) ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานยังปากเพรียวในสมัยพระองค์(ดงปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี) จำนวน 300 คน โดยมีอาญาว่า “ครั้นสูเจ้าทั้งหลายยังอาสาเอาพระยาสรรค์พระยาสิงค์ได้ เมื่อกูมีชีวิตอยู่ กูมิให้สูเจ้าทั้งหลายได้รับราชการเมือง จักให้สุขสะดวกทางการค้าขายกินตามสบาย เว้นไว้แต่กูต้องประสงค์เท่านั้น” ชาวเมืองทั้ง 300 คนนั้นจึงได้รับอาสาจับพระยาสิงค์และพระยาสรรค์ได้แล้วฆ่าเสีย
ทรงหงายเมืองให้พระเชษฐภรรดาขึ้นเสวยราชย์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสรุสิงหนาท (พระสวามีในเจ้าศรีอโนชา)
หลังจากที่เจ้าศรีอโนชาทรงปราบกบฏพระยาสรรค์ได้สำเร็จ พระองค์จึงหงายเมืองแล้วให้ข้าราชการไปเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับมาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตรีย์วังหลวงฉลองพระราชทินนามว่า สมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมราชวงศ์จักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์พิศนุวาธิราชขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตรีย์วังหน้าหรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระราชวังบวรสถานมงคล ฉลองพระราชทินนามว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นเป็นพระราชภาตาร่วมพระราชชนกชนนี
ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งพระอัครชายาเธอ
เมื่อเจ้าศรีอโนชาได้ทรงหงายเมืองให้พระเชษฐภรรคาและพระสวามีขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระองค์จึงได้รับความดีความชอบและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครชายาเธอเจ้าครอกฟ้าศิริรจนาเจ้าศรีอโนชาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท รวมไปถึงพระเชษฐาคือเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์ที่ 3 ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบรมราชธิบดีพระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์ที่ 1 และรวมไปถึงพระราชธิดาในพระองค์ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร พระราชทานพระฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ชั้นเจ้าฟ้า และทรงกรมขุน เป็นกรณีพิเศษเพียงพระองค์เดียวในจำนวนพระโอรส-พระธิดารวม 43 พระองค์ในสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2352 สิริพระชันษาได้ 32 ปี
วีรสตรีที่ถูกลืม
วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
กู่เจ้าศรีอโนชา ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง
บั้้นปลายชีวิตของพระองค์เป็นอย่างไรและถึงแก่พิราลัยเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่ปรากฏกู่บรรจุอัฐิของพระองค์ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดกับกำแพงด้านนอกของวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นวีรสตรีชาติกษัตริย์คนหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นของยุครัตนโกสินทร์และการเป็นสยามประเทศอย่างแท้จริง แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ทราบถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์หรือแม้แต่ชื่อของพระองค์เอง แม้แต่กู่บรรจุอัฐิของพระองค์ก็ยังไม่ใหญ่โตหรูหรา ขาดคนบำรุงรักษาเป็นที่น่าเศร้าใจ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตรีย์ผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง...