หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

คนไทยกับความเข้าใจเรื่องแผ่นดินไหว

โพสท์โดย บุญส่อง

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกาะสุมาตรา ในปี 2004 ดูเหมือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน จะติดภาพความน่าสะพรึงกลัวและตื่นตระหนกทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะสุมาตรา - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะสุมาตรา - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
 
แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ในปี 2004 ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จากจุดศูนย์กลางทางตอนเหนือบนเกาะสุมาตรา ที่มีแรงสั่นสะเทือนขนาด 9.1 ผลที่ตามมาคือคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ความสูงของคลื่นสูงที่สุดที่มีการวัดได้คือ 30 เมตร มีประเทศที่ได้รับความเสียหาย 15 ประเทศ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 230,000 คน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ครั้งนี้
แต่ใครจะไปคิดว่าในอีก 7 ปีต่อมา ในวันที่ 11 เมษายน 2012 จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.6 และ 8.2 ในเวลาไล่เลี่ยกัน ใกล้เคียงกับจุดเดิมที่เคยเกิดขึ้นในปี 2004 โชคดีที่แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนตามแนวระดับ ต่างจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2004 ที่เป็นแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนย้อน จึงไม่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งสร้างความเสียหายแต่อย่างใด ประวัติศาสตร์จึงไม่ซ้ำรอย
เพียงไม่กี่วันหลังจากแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา วันที่ 16 – 22 เมษายน 2012 ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้เกิดแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกนับเป็นระลอกได้กว่า 20 ครั้ง แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่วัดได้มีขนาด 4.3 เพียง 1 ครั้ง นอกนั้นเป็นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง มีขนาดเพียง 2.0 – 2.7 เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตครั้งนี้ ไม่ใช่สึนามิขนาดใหญ่ แต่เป็นความหวั่นวิตกของประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับข่าวลือว่าเกาะภูเก็ตกำลังจะจมเพราะภัยพิบัติแผ่นดินไหว
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายถึงขั้นเป็นความหายนะมีอยู่จริง และเคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย แต่แผ่นดินไหวบนเกาะภูเก็ตที่เกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รุนแรงเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เกาะภูเก็ตจมได้ตามที่หลายคนตื่นตระหนก เรื่องเหล่านี้สามารถหาคำตอบได้ตามหลักวิทยาศาสตร์
รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการศึกษารอยเลื่อนและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยอธิบายว่า แผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงไม่ถึง 9.0 ไม่สามารถทำให้เกาะภูเก็ตจมได้ เนื่องจากเกาะภูเก็ตตั้งอยู่บนฐานหินตะกอนอายุกว่า 100 ล้านปี ซึ่งมีความแข็งแรงมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 9.0 บนเกาะภูเก็ต เพราะรอยเลื่อนที่พาดผ่านเกาะภูเก็ตเป็นรอยเลื่อนที่ตายแล้ว คือไม่มีพลังงานสะสมมากจนจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
อาจกล่าวได้ว่าแผ่นดินไหวไม่ใช่เหตุการณ์ที่คุ้นชินสำหรับคนไทย หากจะไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นประจำอย่างญี่ปุ่น ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวคนไทยย่อมตื่นเต้นมากกว่าเป็นธรรมดา ที่น่าสนใจก็คือ ตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดในปี 2004 เป็นต้นมา คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นจากเดิมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องความถี่ในการเกิด และขนาดของแผ่นดินไหว
การเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในแต่ละปี - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
การเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในแต่ละปี - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Geological Survey) ได้ทำการบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 1900 จนถึงปัจจุบัน พบว่าค่าเฉลี่ยของการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในแต่ละปีมีมากกว่า 1 ล้านครั้ง เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 7.0 – 7.9 จำนวน 15 ครั้งต่อปี และ ขนาดตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไป เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2000 – 2012 พบว่ามีจำนวนปีที่มีแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไป มากกว่าค่าเฉลี่ย มีจำนวน 4 ปี คือปี 2004, 2006, 2007 และ 2012 ซึ่งในปี 2012 มีแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไป เกิดขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน บริเวณเกาะสุมาตรา
หมายความว่า แผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 4.0 ที่ตรวจจับได้ในปัจจุบัน เกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 55 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของประเทศไทยที่มีการตรวจจับแผ่นดินไหวขนาด 4.3 บนเกาะภูเก็ตได้เพียงครั้งเดียวในปี 2012 และตรวจพบแผ่นดินไหวที่มีขนาดเกินกว่า 4.0 เฉลี่ยไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ทั่วประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประเทศไทยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก ในขณะที่ แผ่นดินไหวขนาด 2.0 – 2.9 ที่เกิดขึ้นบนเกาะภูเก็ตหลายสิบครั้ง และสร้างความกังวลให้กับคนไทยนั้น แต่ละปีทั่วโลกเกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่ากันนี้มากกว่า 1 ล้านครั้ง
นอกจากเรื่องความถี่ของแผ่นดินไหวแล้ว ในเรื่องขนาดและการวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มาตรวัดที่คนไทยคุ้นชินกับการตรวจสอบขนาดของแผ่นดินไหว คือมาตรวัดแบบ “ริกเตอร์” (Richter scale) แต่ในปัจจุบัน มาตรวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่าคือมาตรวัดแบบ “แมกนิจูด” (Moment magnitude scale) ซึ่งไม่มีหน่วย เมื่อเขียนแสดงตัวเลขจะบอกเป็นขนาด เช่น แรงสั่นสะเทือนขนาด 4.3 หรือ M 4.3 ทำให้เกิดความสับสนในการใช้มาตรวัดทั้ง 2 วิธี
ในทฤษฎีทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการวัดขนาดของแผ่นดินไหวพบว่า การใช้มาตรวัดแบบแมกนิจูด จะสามารถระบุขนาดของแผ่นดินไหวในระดับใหญ่ได้เที่ยงตรงกว่า มาตรวัดแบบริกเตอร์ ที่เหมาะกับการวัดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางและขนาดเล็ก ทำให้ปัจจุบัน สำนักธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกาและนักธรณีวิทยาส่วนใหญ่ของโลกหันมาใช้มาตรวัดแบบแมกนิจูดแทนการวัดแบบริกเตอร์ แต่อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวที่มีขนาดปานกลางยังคงมีการใช้มาตรวัดทั้ง 2 แบบสลับกันบ้าง เนื่องจากมีค่าที่ใกล้เคียงกัน
โดยค่าที่ได้จากตัวเลขตามมาตราริกเตอร์ที่เพิ่มขึ้นหนึ่งค่า เช่น จาก 4.0 ริกเตอร์ เป็น 5.0 ริกเตอร์ จะมีพลังงานที่ปลดปล่อยจากแผ่นดินไหว ต่างกัน 10 เท่า แต่การวัดแบบแมกนิจูด ตัวเลขตามมาตราแมกนิจูดที่เพิ่มขึ้นหนึ่งค่า จะมีพลังงานที่ปลดปล่อยจากแผ่นดินไหวต่างกันประมาณ 32 เท่า
ขนาดของแผ่นดินไหวและพลังงานที่ปลดปล่อย - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
ขนาดของแผ่นดินไหวและพลังงานที่ปลดปล่อย - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
หากคิดเป็นค่าพลังงานที่ปลดปล่อยออกจากขนาดของแผ่นดินไหวแล้ว แผ่นดินไหวที่ทำให้คนรู้สึกได้จะมีขนาดอยู่ที่ 4.0 มีความรุนแรงเทียบเท่ากับฟ้าผ่าขนาดใหญ่ แต่ในแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่ 6.0 ขึ้นไป ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเทียบได้กับการปลดปล่อยพลังงานของระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูก ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลในอดีต เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกาะสุมาตราในปี 2004 แรงสั่นสะเทือนขนาด 9.1 หรือ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น ในปี 2011 แรงสั่นสะเทือน 9.0 มีพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ถึง 32,768 ลูก
ดังนั้น แผ่นดินไหวบนเกาะภูเก็ตที่มีแรงสั่นสะเทือนขนาด 4.3 จึงเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ที่มีการปลดปล่อยพลังงานออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต แม้ตัวเลขที่ได้จากการวัดขนาดของแผ่นดินไหวจะดูเหมือนมีความใกล้เคียงกัน เช่น 4.3 กับ 6.0 หรือ 7.0 แต่พลังงานที่ปลดปล่อยออกมา มีความแตกต่างกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า
การรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวด้วยความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จะสร้างให้เกิดความโกลาหลตามมา ความตื่นตระหนกที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าเรายังคงต้องใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอีก เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เพราะแผ่นดินไหวเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่อยู่คู่กับโลกใบนี้ แม้ว่าการตื่นตัวและไม่ประมาทเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าตื่นตัวมากเกินไปจนขาดสติก็ย่อมมีผลเสียตามมาเช่นกัน
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
บุญส่อง's profile


โพสท์โดย: บุญส่อง
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
28 VOTES (4/5 จาก 7 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
พอรู้ที่มาของน้ำตกในภูสอยดาว..เล่นเอาแทบลมจับเลยทันทีเจนนี่ทำเซอร์ไพรส์ใหญ่! มอบบ้านพร้อมโฉนดให้ “ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น” ฉลองอายุครบ 20 ปีหนุ่มขับรถกู้ภัยอ้างไม่ทราบ ปิดถนนขบวนรถซิ่งนักท่องเที่ยวดับ5! พิษ'เหล้ามรณะ'จากลาว!เปิดตัวแฟชั่นทนายสายหยุด ที่มาพร้อมกับเครื่องประดับสุดหรู ราคาต่อชิ้นไม่ธรรมดาจั๊กบุ๋ม ปลดหนี้แม่ปูนาเกือบ 300,000 หมดแล้ว11 ตำรวจ บุกรีดเงินประชาชนในบ้านเปิดใจ ขนม อดีตภรรยานักร้องดัง หลังประกาศยุติความสัมพันธ์ุมาเจาะเลือด แต่คนไข้หนังเหนียว เข็มแทงไม่เข้ากรี๊สสสส!! พี่จี๋ สุทธิรักษ์ กับการเป็นพระเอกซีรีส์ญี่ปุ่นครั้งแรก กำหนดฉายมกราคมปีหน้า😊รวมภาพเรียกรอยยิ้มประจำวันนี้ วันที่เป็นวันศุกร์แล้ว พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันหยุดของหลายๆคนแล้วน๊า สู้ๆ"ช็อกแป๊บ! เจอ 'หลวงพี่เท่งตัวจริง' เดินบิณฑบาต คนถามหนังหรือชีวิตจริง"
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
คนไข้ฟันแทงไม่เข้า แม้แต่เข็มยังเอาไม่อยู่..ทำเอาหมออยากรู้ขึ้นมาทันทีจั๊กบุ๋ม ปลดหนี้แม่ปูนาเกือบ 300,000 หมดแล้วฝรั่งเผยชีวิตไทยสุดชิล! ไม่คิดกลับอเมริกา แถมซึ้งใจเมืองพุทธจนใจละลายกรี๊สสสส!! พี่จี๋ สุทธิรักษ์ กับการเป็นพระเอกซีรีส์ญี่ปุ่นครั้งแรก กำหนดฉายมกราคมปีหน้า😊เปิดตัวแฟชั่นทนายสายหยุด ที่มาพร้อมกับเครื่องประดับสุดหรู ราคาต่อชิ้นไม่ธรรมดา
ตั้งกระทู้ใหม่