นอนกรน ร้ายแรงกว่าที่คิด
นอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น
เสียงกรน คือ เสียงการสั่นพลิ้วสะบัดของลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน และช่องคอส่วนบน เกิดเมื่อมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน
ในคนวัยกลางคน (30-60 ปี) พบภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจได้ ประมาณ 4% ในผู้ชาย และ 2% ในผู้หญิง
การนอนกรน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. การนอนกรนธรรมดา ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวนต่อคนรอบข้าง
2. การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายใจหรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย เสียงกรนในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ มีเสียงกรนและหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ซึ่งในช่วงที่มีภาวะหยุดหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือดแดงอาจจะต่ำลงกว่าปกติ ทำให้หัวใจ ปอด และสมองทำงานหนักมากขึ้น อาจมีสะดุ้งตื่นกลางดึก ทำให้การหลับพักผ่อนไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อตื่นนอนผู้ป่วยจะรู้สึกว่านอนไม่พอ
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น ได้แก่ มีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงกลางวัน สมาธิไม่ดี และมีปัญหานอนกรน ทั้งนี้อาจพบอาการอื่นได้ ได้แก่
1 ตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่ไม่สดชื่น
2 มีอาการหายใจไม่ออกขณะหลับ
3 มีการหยุดหายใจขณะหลับและนอนกระสับกระส่าย (โดยได้ประวัติจากคนใกล้ชิด)
4 เจ็บคอ คอแห้งเมื่อตื่นนอน
5 หงุดหงิดง่าย บุคลิกภาพเปลี่ยน
6 ปัสาวะรดที่นอน (มักจะพบในเด็ก)
7 ความต้องการทางเพศลดลง และมีผลต่อสุขภาพ เช่น
- โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจขาดเลือด
- ภาวะตีบตันของหลอดเลือดในสมอง
- ความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดในปอด
ถ้าอยากเริ่มทำการรักษา โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการสอบถามข้อมูลจากตัวผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด เช่น สามีหรือภรรยา และให้ทำแบบสอบถามว่ามีอาการเผลอหลับในสถานการณ์ต่างๆหรือไม่
ปัจจัยที่ทำให้อาการกรนมากขึ้นและมีภาวะอุดตันทางเดินหายใจ
1. น้ำหนักตัวมากขึ้น ทำให้ไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจจึงแคบลง
2. เพศชาย เพื่อเชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเพศชายมีแนวโน้มจะมีอาการกรนและมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจมากกว่าเพศหญิง
3. อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนจะตึงตัวน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น
4. เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และยาบางชนิดกดการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะขาดออกซิเจนและภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้กล้ามเนื้อของช่องทางเดินหายใจยุบตัวง่ายขึ้น
5. การสูบบุหรี่ ทำให้ช่องทางเดินหายใจอักเสบ หนาตัวและมีเสมหะมากขึ้น
6. โครงสร้างกระดูกใบหน้า เช่น กระดูกแก้มที่แบนหรือคางที่เล็กและยื่นไปข้างหลัง
7. โรคทางช่องจมูก เช่น ภูมิแพ้อากาศ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกบวม
8. ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
รู้กันอย่างนี้แล้วก็อย่ารอช้ากันนะครับ ถ้าใครมีอาการอย่างที่ว่ามา ก็ควรจะรีบไปปรึกษาคุณหมอกันนะครับ