เชื้อไวรัสดึกดำบรรพ์ 3 หมื่นปีคืนชีพ เตือนอย่าขุดเจาะผืนน้ำแข็ง เชื้อโรคร้ายจะกลับมา
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเชื้อไวรัสดึกดำบรรพ์ซ่อนอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งในภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซีย แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่มีอันตรายกับมนุษย์หรือสัตว์
ศาสตราจารย์ฌอง-มิเชลแคลแวรี่ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเอ็กซ์ มาร์กเซ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นไวรัสมีชีวิตผ่านห้วงเวลาอันยาวนาน
ผลการศึกษาไวรัสได้รับการเผยแพร่ในรายงานกระบวนการของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติระบุว่าเมื่อสิบปีที่แล้วนักวิทยาศาสตร์พบเชิ้อไวรัสดึกดำบรรพ์ฝังอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งลึก 30 เมตร และตั้งชื่อเชื้อชนิดนี้ว่า พิโธไวรัส ไซเบอริกัม (Pithovirus sibericum) ถือเป็นไวรัสที่มีขนาดยักษ์ สามารถส่องเห็นได้ด้วยกล้องไมโครสโคป วัดความยาวได้1.5ไมโครเมตร ใหญ่ที่สุดเท่าที่พ้นพบมา
ไวรัสชนิดนี้เคยแพร่เชื้อครั้งสุดท้ายเมื่อ 30,000 ปีที่แล้ว และกลับมาฟื้นมีชีวิตอีกครั้งระหว่างอยู่ในห้องทดลอง
ในการทดสอบพบว่า เชื้อไวรัสโจมตี”อะมีบา”ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว แต่ไม่ทำลายเซลล์ของมนุษย์หรือสัตว์
นักวิจัยชี้ว่า การพบเชื้อไวรัสใต้ผืนน้ำแข็งอันหนา แสดงว่า เชื้อโรคสามารถฟื้นคืนชีพได้ และหากสภาวะอากาศโลกเปลี่ยน อุณหภูมิร้อนขึ้น จะส่งผลต่อชั้นน้ำแข็ง ละลายลง ลดความหนาลง ภูมิภาคไซบีเรียกำลังอยู่ภายใต้การคุกคามจากสภาวะดังกล่าว
"ถ้ามนุษย์ยังเสาะแสวงหาพลังงานและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้วยการเจาะลึกเข้าไปในผืนน้ำแข็งอาจเป็นไปได้ว่าเชื้อโรคที่ฝังอยู่ คืนชีพกลับมาอีกครั้ง และบางเชื้อทำลายเซลล์ของมนุษย์ หรือสัตว์ชนิดอื่นๆก็เป็นได้"นักวิจัยเตือนในตอนท้าย