หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

" คอคอดกระ " แผนที่บริเวณกล่องดวงใจของสยาม อันเป็นพื้นที่ล่อแหลม

โพสท์โดย Beyonce Knowles

 ไกรฤกษ์  นานา 
                                                                                                                                                                                                                   นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ 

                ในยุคที่การก่อความไม่สงบทางภาคใต้ของไทย เป็นปัจจัยใหม่ๆ ที่กลบกระแส “คอคอดกระ” ได้อย่างมิดชิด  ทั้งที่ก่อนหน้านี้คลองกระเคยเป็นเมกะโปรเจ็กต์ และเป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยอำนวยประโยชน์มหาศาล  ให้กับรัฐบาลไทยหากขุดคลองขึ้นเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้สำเร็จ  ข้อมูลใหม่ชี้ว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงอนุญาตให้บริษัทฝรั่งข้ามชาติไปสำรวจ ทำแผนที่และประเมินราคาจนเกือบได้เริ่มต้นดำเนินการ แต่เหตุการณ์บางอย่างทำให้ต้องระงับไปโดยปราศจากคำอธิบายด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนมากกว่าที่รู้กัน อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของอุปสรรคจนกลายเป็นจุดบอดถาวรของโครงการที่ไม่ได้แจ้งเกิด นอกจากนี้ผลสำรวจที่คนโบราณเริ่มต้นไว้ยังเป็นเรื่องที่คนสมัยใหม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง หรือไม่ก็พยายามกลบเกลื่อนไว้ 

แผนที่ต้นแบบและแผนภูมิคอคอดกระ ฉบับของนายเดอลองก์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับ
พระบรมราชานุญาตให้สำรวจคอคอดกระอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑)
 แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยปรากฏให้เห็นในประเทศไทย และตกค้่างอยู่ในฝรั่งเศสไม่ตำ่กว่า ๑๓๐ ปี
 (ไกรฤกษ์ นานา ประมูลกลับมาได้จากปารีส เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๕)

ในงานมหกรรมสิ่งพิมพ์โบราณ ณ กรุงปารีส (SALON du LIVRE et PAPIERS ANCIENS, Paris 2-12 Fev. 2012) เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ มีการประมูลขายแผนที่ประเทศสยามแผ่นหนึ่งที่แปลกออกไปกว่าที่เคยพบมา  มันมิใช่รูปขวานทองที่นักล่าแผนที่แสวงหากันแบบไม่เกี่ยงราคา แต่แผนที่ฉบับนี้เป็นแผนภูมิพิเศษบ่งบอกพิกัดทางธรณีวิทยาว่าด้วยภูมิลักษณะเฉพาะส่วนของพื้นที่ที่ต้องการสำรวจ วาดขึ้นตามหลักวิชาเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ

อันว่าแผนที่ลักษณะนี้  ผู้เขียนเคยเห็นมาบ้าง มักจะเป็นแผนที่ของทางราชการ  จัดทำโดยกรมแผนที่หลวงสมัยรัชกาลที่ ๕  ที่สำรวจภายใต้การคว บคุมโดยวิศวกรชาวอังกฤษชื่อ นายแมคคาร์ธี (James McCarthy) ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมแผนที่หลวงคนแรกของสยาม (Director-General of the Siamese Government Surveys) ทำราชการมีความดีความชอบ  ต่อมาจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล  

นายแมคคาร์ธีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสยามให้สำรวจภูมิประเทศ และทำแผนที่ประเทศสยามอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๔  (ค.ศ. ๑๘๘๑)  ด้วยเหตุผลหลัก เพื่อถ่วงอิทธิพลของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจคาบสมุทรอินโดจีน รวมทั้งภาคตะวัน ออกของสยามและลำแม่น้ำโขง  จนฝรั่งเศสสามารถจัดพิมพ์แผนที่ทางการฉบับแรกของภูมิภาคนี้สำเร็จในปี ค.ศ. ๑๘๗๓  (พ.ศ. ๒๔๑๖) เรียกแผนที่ฉบับนี้ว่า Carte Generale de L’indoChine  ในขณะที่นายแมคคาร์ธี ก็ประสบความสำเร็จในการเขียนแผนที่ราชอาณาจักรสยาม และประเทศราช หรือ Map of the Kingdom of Siam and Its Dependencies ฉบับแรกเช่นกัน แต่ในอีก ๑๕ ปีต่อมาคือ ปี ค.ศ. ๑๘๘๘  (พ.ศ. ๒๔๓๑) 

แต่สิ่งที่ค้นพบใหม่ที่ปารีสนี่สิน่าทึ่ง  มันเป็นแผนที่บริเวณกล่องดวงใจของสยาม อันเป็นพื้นที่ล่อแหลมเรียกว่า
 คอคอดกระ โดยที่ประเทศมหาอำน าจจากตะวันตกต่างก็ช่วงชิงความได้เปรียบเพื่อที่จะได้มันไป แผนที่ฉบับนี้ทำให้เข้าใจว่านักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่ล้วนเป็นคนแปลกหน้าและไม่น่าไว้ใจเลย แต่กลับได้รับความเห็นชอบ ให้ดำเนินการแทนชาวอังกฤษ  วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอลองก์ (Deloncle) เป็นม้ามืดที่ได้สัมปทานสำรวจ และเขียนแผนที่ฉบับนี้ตัดหน้าชาวอังกฤษไปอย่างมีเงื่อนงำ

 

แผนที่โลกสมัยรัชกาลที่ ๔ พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) ปีเดียวกับที่นโปเลียนที่ ๓ ส่งนายมงตีญี่ราชทูต
เข้ามาทำสัญญาการค้ากับสยาม แสดงเส้นทางเดินเรือจากคลองสุเอซ ผ่านทะเลแดงทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย 
อ่าวเบงกอล ผ่านคลองกระ ออกไปสู่ทะเลจีนใต้ เวียดนาม และต่อไปยังจีน ทำให้ไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูทางภาคใต้
ของสยามแผนที่ฉบับนี้ยังแสดงอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน ดินแดนในฝันของชาวยุโรป

 

การที่คนฝรั่งเศสได้ดำเนินการสำรวจ และทำแผนที่จุดยุทธศาสตร์ภายในประเทศ  ในบริเวณที่ไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน โดยได้รับความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์สยาม ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาและสุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลภายในให้กับฝ่ายตรงข้าม นอกเสียจากจะมีความจำเป็นและเกิดขึ้นโดยเจตนา แต่เราไม่รู้เหตุผลเท่านั้น

ความระทึกใจต่อมาก็คือคนไทย ไม่เคยเห็นแผนที่สำรวจคอคอดกระฉบับนี้ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่จริง เพียงแต่รู้เลาๆ ว่ามีการสำรวจเกิดขึ้นในสมั ยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าการสำรวจสำเร็จลงหรือไม่ เพราะเกิดความไม่มั่นใจกลางคัน ดังพระราชดำรัสของรัชกาลที่  ๕ ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“อนึ่งวันนี้ กัปตันลอฟตัส ซึ่งไปตรวจทางกับพวกฝรั่งเศสจะขอขุดคลองแต่เมืองชุมพรไปออกเมืองกระนั้น กลับเข้ามาถึงได้เฝ้าที่ออฟฟิศกราบบังคมทูลว่า ได้ไปเซอร์เวย์มีที่ซึ่งสูงอย่างเอกสูงกว่าทะเลถึง ๒๕๐ ฟิต ความปรารถนาของพวกที่ขุดคลองนั้นเห็นจะท้อถอยไปแล้ว”  

คำว่า “ท้อถอยไปแล้ว” หมายถึง การที่พวกฝรั่งเศสอาจตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับบ้าน เพราะเจออุปสรรคมากมายจนการสำรวจไม่สามารถลุล่วงต่อไปได้ ทั้งยังแสดงความคลุมเครือว่า รัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ทรงแน่พระทัยในชาวฝรั่งเศสชุดนี้สักปานใดแต่ก็จำยอมอนุญาตไปโดยไม่เต็มใจนัก ทว่าความสมบูรณ์ของหลักฐานแผนที่ที่พบทำให้ต้องปรับความเข้าใจเสียใหม่

หลังจากค้นคว้าโดยละเอียดอีกครั้ง ก็พบเงื่อนงำเบื้องหลังแผนที่ฉบับนี้ และความสำคัญของมันซึ่งขาดหายไปจากฐานข้อมูลในประเทศของเรา จึง ตัดสินใจประมูลแผนที่ฉบับดังกล่าวกลับมาเมืองไทย เพื่อมิให้หลักฐานสูญหายไปอีก สิ่งที่ควรทราบคือโครงการนี้มีผลสัมฤทธิ์
ทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงดังที่จะได้อธิบายต่อไป

 

 

 

นโปเลียนที่ ๓ จักรพรรดิฝรั่งเศส (ซ้าย) ทรงสนับสนุนใหุ้ขุดคลองสุเอซ และทรง
ทาบทามที่จะขุดคลองกระแต่ไม่สำเร็จในรัชสมัยของพระองค์ และรัชกาลที่ ๔ 
(ขวา)  ทรงปกป้องคอคอดกระไว้ทุกวิถีทาง เพราะกลัวเสียดินแดนทางภาคใต้

 

โครงการยิ่งใหญ่
ล่อใจนักลงทุนทุกยุคทุกสมัย
ก่อนที่จะชี้แจงคุณค่าของแผนที่ฉบับนี้จำเป็นต้องอธิบายถึงความสำคัญของบริเวณคอคอดกระเสียก่อนก็จะเข้าใจง่ายขึ้นถึงความกระตือรือร้น และ ความละโมบของผู้มีอำนาจทั้งหลายที่ต้องการมีส่วนปลุกปั้นให้เกิดเส้นทางคมนาคมนานาชาติแห่งใหม่เชื่อม ๒ โลกเข้าด้วยกัน ด้านหนึ่งเป็นโลกตะวันตกที่ร่ำรวยและมีอำนาจคือ ยุโรปและอเมริกาส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นโลกตะวันออกที่อ่อนแอ แต่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลคือ เอเชียและออสตราเลเซียทั้งหมด ผืนดินคอดกิ่วที่กั้น ๒ โลกให้แยกจากกันนี้มีความยาวประมาณ ๙๐ กิโลเมตรเท่านั้น และอยู่ในประเทศสยาม

ในทางทฤษฎี มันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านความมั่นคงทางการทหาร ความได้ เปรียบทางการค้าและเหตุผลทางเศรษฐกิจอันใหญ่ยิ่ง แต่ในท างปฏิบัติมันเป็นจุดเปราะบางของความขัดแย้งด้านผลประโยชน์  เป็นตัวบ่อนทำลายเสถียรภาพของอังกฤษในสิงคโปร์  แต่กลับเพิ่มพูนศักยภาพของฝรั่งเศสในไซ่ง่อนแทน และเนื่องจากเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของการเดินทางสู่จีนและญี่ปุ่นที่ย่นย่อ จึงเป็นเดิมพันชั้นเลิศสำหรับการแข่งขันของอังกฤษ ฝรั่งเศส แต่ผู้ที่สูญเสียที่สุดจะเป็นคนกลางคือ  สยามที่อ่อนแอและป้องกันตนเองไม่ได้

คอคอดกระไม่ใช่พื้นที่ใหม่ แต่เป็นบริเวณเก่าแก่ที่คาราวานของพวกพ่อค้าไทย และอินเดียในอดีตกาลรู้จักกันดีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มี ความสำคัญเป็นเส้นทางลัดทางบก ซึ่งนักเดินทางนิยมใช้กันมาก เพราะในสมัยก่อนการเดินทางไปยังประเทศทางด้านตะวันออกไกล หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังต้องใช้เส้นทางผ่านไปทางช่องแคบมะละกา และช่องแคบซุนดาที่ซึ่งมักจะมีโจรสลัดคอยดักปล้นสะดมนักเดินทางอยู่เสมอ พวกพ่อค้าจึงหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางลัดด้านอื่นข้ามผ่านคาบสมุทรมลายู และที่นิยมกันมาก็คือ ทางข้ามบริเวณคอคอดกระจากตะกั่วป่าด้านตะวันตกไปยังไชยาทางด้านตะวันออก เนื่องจากสะดวกและสั้นที่สุด

หนังสือของ คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม อธิบายว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงยอมยกเกาะสอง (บางทีเรียก Victoria IsIand) ให้อังกฤษ เื่พื่อปกป้องคอคอดกระไว้และทรงแต่งตั้งตันกิมเจ๋ง คหบดีจีนผู้มีสัญชาติอังกฤษไปเป็นเจ้าเมืองกระบุรีเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของอังกฤษ มีรูปนายตันกิมเจ๋งอยู่บนหน้าปกหนังสือด้วย

ส่วนพวกพ่อค้าฝรั่ง เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็หันมาใช้ทางลัดผ่านคอคอดกระเช่นกัน เพื่ อเดินทางตรงมายังกรุงศรีอยุธยาเลย โดยไม่ต้องเดินเรือรอบแหลมมลายู เพื่อจะมาทางอ่าวไทยให้เสียเวลา อีกทั้งยังประหยัดค่าภาษีผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งเก็บโดยชาวโปรตุเกส คู่แข่งของพวกตนอีกต่างหาก

และที่ส่งเสริมให้คอคอดกระมีศักยภาพทางกายภาพมากขึ้นไปอีก ก็เพราะคอคอดนี้ม
ีแม่น้ำกระบุรี เชื่อมอยู่แม่น้ำสายนี้มีกำเนิดจากลำธารซึ่งไหลผ่านมาจากพม่า ผ่านอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภ อเมืองระนอง ไปลงทะเลอันดามัน ในระหว่างที่ไหลไปนี้ ก็มีน้ำจากคลองจั่นไหลเข้าไปสู่แม่น้ำกระบุรีตรงชุมพรกับเมืองระนอง และยังเป็นท่าเรือกลไฟสำหรับเรือที่จะไปยังระนอง และภูเก็ตด้วย (รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ มาขึ้นเรือที่ท่านี้เมื่อเสด็จฯ มาทอดพระเนตร   คอคอดกระในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ -ผู้เขียน) แม่น้ำกระบุรีตั้งแต่จุดนี้จนออกทะเลเรียกว่า “แม่น้ำปากจั่น” ดังนั้นแม่น้ำปากจั่นกับคอคอดกระจึงมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก

แม่น้ำปากจั่นกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในสมัยจักรวรรดินิยมเฟื่องฟูช่วงตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เนื่องจากบรรดาประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และเยอร มนีพากันเดินทางเข้ามาค้าขายกับจีนและตะวันออกไกล และต่างก็แสวงหาเส้นทางลัดที่สั้นที่สุด ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่สุดเพื่อความได้เปรียบ ทฤษฎีขุดคอคอดกระเพื่อเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้เข้าด้วยกัน จึงเป็นแนวคิดของฝรั่งตะวันตกที่ถูกสร้างขึ้นเป็นกระแสใหม่ในระดับภูมิภาคโดยมีคู่แข่งที่สูสีกันมากได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศสแข่งขันกันเพื่อจะได้เป็นเจ้าภาพในการขุดคลองนี้ แรงกดดันนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ของไทยที่เริ่มเปิดประเทศรับชาติตะวันตก กระแสเกี่ยวกับการขุดคลองกระได้ทวีขึ้นทีละน้อย และพระมหากษัตริย์ไทยใน ๒ รัชกาลนี้ก็เริ่มตระหนักถึงความกดดันที่กระทบกระทั่งเข้ามา ทำให้ทรงตั้งรับอย่างระมัดระวังและด้วยความสุขุมคัมภีรภาพอย่างน่าชื่นชมที่สุด

ดังนั้นหากพิเคราะห์ดีๆ ก็จะพบว่าเป้าหมายสูงสุดของโครงการขุดคอคอดกระนั้นมิใช่ความต้องการของราชสำนักสยามเลย แต่เป็นแรงกดดันและความต้องการของชาติมหาอำนาจจากตะวันตก ที่มีปัจจัยด้านผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจล่อใจอยู่ตั้งแต่ต้น 

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณรัชกาลที่ ๓) ความคิดเรื่องขุดคอคอดกระเกิดเป็นกระแสขึ้น เริ่มจากชาวอังกฤษก่อน โดยนักสำรวจชาวอังกฤษหลา ยคนของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เสนอแนวคิดที่จะหาผลประโยชน์ทางด้านการเดินเรือและเศรษฐกิจของอังกฤษ แต่กัปตันทรีเมนเฮียร์ (Captain G.B. Tremenhere) วิศวกรชาวอังกฤษกลับโต้แย้งว่า การขุดคอคอดกระทำได้ยาก เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหินแข็งพาดผ่านภูเขาหลายลูก ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการขุดเจาะและกินเวลายาวนาน

ต่อมานายไรลีย์ (O. Riley) ผู้แทนข้าหลวงอังกฤษ เมืองพะโคได้เข้ามาสำรวจคอคอดกระในปี พ.ศ. ๒๓๙๒ (ค.ศ. ๑๘๔๙) และได้เสนอให้ขุดคลอ งเชื่อมสาขาของแม่น้ำปากจั่นเข้ากับแม่น้ำชุมพร เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ภูเขา พร้อมกับรายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด เช่น ดีบุก ถ่านหิน ฯลฯ รายงานดังกล่าวทำให้บริเวณคอคอดกระได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และชาวอังกฤษพยายามได้ครอบครองมันก่อนคู่แข่งอื่นๆ จากยุโรป เพราะรู้ความตื้นลึกหนาบางของภูมิภาคนี้ดี

 

 

รูป Sa-Id Pasha เจ้าผู้ครองนครอียิปต์ (ซ้าย) และนายเดอเลสเซป นายช่างใหญ่ผู้ขุด
คลองสุเอซ (ขวา) คนฝรั่งเศสได้รับสัมปทานขุดคลองสุเอซ เพราะมีเส้นสายอยู่กับผู้นำอียิปต์


กัปตันริชาร์ด (Captain Richard) เป็นชาวอังกฤษคนหนึ่งที่เข้ามาสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) และเป็นอีกผู้หนึ่งที่กระตุ้นให้รัฐบาลของตนเห็นความสำคัญของคอคอดกระ เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้ารัชกาลที่ ๔ ของไทย หมายถึงก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑) นั้นเป้าหมายของทางรัฐบาลอังกฤษ ยังมี
เหตุผลทางเศรษฐกิจอยู่เหนือเหตุผลทางการเมือง แต่เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๔ แล้วสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างร วดเร็ว เพราะ ๑. อังกฤษเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับฝรั่งมากขึ้นกว่าในรัชกาลก่อนๆ และทรงเกรงใจอังกฤษมากกว่าชาติใดๆ และ ๒. ทรงเชื้อเชิญให้ฝรั่งทุกชาติเข้ามาติดต่อทำสัญญากับสยามอย่างจริงจัง อังกฤษจึงเสนอแนวคิดแบบจู่โจมเรื่องคอคอดกระ เพื่อความได้เปรียบก่อนฝรั่งชาติอื่น เหตุผลของอังกฤษเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุผลทางการเมืองเหนือเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยได้จัดส่งนายไว ส์ (Mr. H. Wise) แห่งบริษัทลอยด์ (Lloyd Company) เข้ามาเร่งรัด เพราะเห็นว่าคลองนี้จะส่งเสริมแสนยานุภาพของอังกฤษ

สืบเนื่องจากสงครามฝิ่นครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๘๕๗-๖๑) เซอร์จอห์น เบาริ่ง ตัดสินใจใช้กำลังบังคับจีนให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญานานกิง เป็นผลมาจากที่จีนขัดขืนนโยบายการค้าเสรีของอังกฤษ เซอร์จอห์น เรียกกองเรือรบจากฐานทัพอินเดีย ให้เดินทางมาเสริมกำลังในจีน แต่กว่าเรือจะแล่นอ้อมแหลม มลายู ทำให้การสู้รบยืดเยื้อออกไปเป็นสัปดาห์ กระแสเรื่องขุดคอคอดกระจึงโด่งดังขึ้นมาอีก อังกฤษเห็นว่าคลองที่ขุดขึ้นจะส่งเสริมความมั่นคง และเพิ่มแสนยานุภาพของอังกฤษให้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นที่จีน อังกฤษต้องการผลักดันให้โครงการนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกถึงกับส่งผู้แทนมาเจรจาถึงกรุงเทพฯ

นายไวส์ ตัวแทนห้าลอยด์แห่งลอนดอน ได้เขียนจดหมายเสนอตัวเข้ามาถวายคำแนะนำต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๘ กร กฎาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๙) ซึ่งนับว่าเป็นจดหมายทางการฉบับแรกต่อรัฐบาลสยามเกี่ยวกับโครงการนี้

“ถวาย โยสมายิศตี พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระองค์เอก ข้าพเจ้าได้มียศ เมื่อราชทูตของพระองค์ออกไปอยู่ที่เมืองอังกฤษ ความคิดของบริติด กาวแมนด์ ถึงเรื่องอันจะทำคลองทางเรือเดินทะเล แหลมเมืองกระ เพื่อจะให้ทางเมล์ถึงเมืองจีนสั้นเข้า ข้าพเจ้าก็ได้กล่าวด้วยความยินดีเป็นอัน มากว่า โยสมายิศตีมีพระทัยเห็นดีด้วยอย่างนั้น ซึ่งจะให้บ้านเมืองของพระองค์มาชิดใกล้เข้ากับอินเดียและยุโรป แต่บัดนี้ดูเหมือนเพราะราคามาก ที่คาดเป็นค่าที่ทำคลองเดินเรือนั้น คนมีทุนไม่มีใจจะจับแล่นเข้าในการสำคัญนั้น แต่เป็นที่คิดอยู่ว่า ทางเล็กจะได้ตลอดแหลมนั้น ถ้าโยสมายิศตีพระองค์จะช่วยสงเคราะห์ในการอันนั้นเป็นอันมาก

ใต้อำนาจการเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้ากล้าวางใจว่า โยสมายิศตีพระองค์จะยกโทษ ซึ่งข้าพเจ้าแต่งเรื่องราวฝากมาถึงพระองค์ ด้วยเห็นแก่พวกที่คิดจะตั้งตั วขึ้นด้วยชื่อสยามเรลเวลกมปนี เพื่อจะได้รู้ว่าเพียงไหนการซึ่งจะตั้งขึ้นเป็นที่ถูกพระทัย และเพียงไหน โยสมายิศตีพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วย จะพระราชทานในแผ่นดิน หรือจะโปรดให้มีคนทำหรือประการใด

มีความคิดแทรกเข้ามาว่า โยสมายิศตีพระองค์จะไม่ขัดขวาง แต่จะพระราชทานให้แก่เจ้าพนักงานกมปนนีเป็นนิจ คิดเอาราคาแผ่นดินประมาณสัก ๕ ไมล์ หรือสักโยชน์หนึ่งทั้งสองข้างทางเล็กนั้น ให้เขามีอำนาจสำเร็จจะบังคับพื้นแผ่นดินและการแร่ในแผ่นดินนั้นด้วย เมื่อจะให้เจ้าพนักงานกมป นนีนั้นมีกำลังเกลี้ยกล่อมเก็บเงินให้สมแก่การนั้นด้วยเร็วมิให้เนิ่นช้า

ฝ่ายหนึ่งเล่า ถ้าโยสมายิศตีพระองค์จะต้องพระราชประสงค์การแห่งพวกแอนไชนีย์ของกมปนีนั้นได้มาช่วยทำทางเล็กใกล้เคียงกันกับกรุงเทพฯ นั้น และเวลาใดจะมีความปรารถนาอยากจะได้อินจเนียอย่างเอก และแท่งเหล็กอันเตรียมเป็นสำรับแล้ว ข้าพเจ้าจะวางใจแน่ว่าต้องพระราชประสงค์ในการนี้หรือการอื่น จำจะถูกรับด้วยความคิดอันเป็นที่ไว้วางใจ ว่าเรื่องความนี้จะได้ยกเป็นเรื่องอันโยสมายิศตีพระองค์ได้คิดทำความสัญญาตามธร รมเนียมอย่างนอกเป็นความ ๑๐ ข้อ กับหนังสือซึ่งจะตอบออกไปถึงมิศแหนรไวมีความแจ้งอยู่ในนี้ แล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม (ต่อไปนี้เห็นจะเป็นร่างตอบตามคำแนะนำของฝรั่งนั้น)

“เกาวะแมนสยามจะรับยอมให้กมปนีพวกหนึ่งทำทางรถไฟที่เมืองกระ สำหรับคนโดยสานบรรทุกของค่างเฉล่ฝ่ายตะวันออก และเฉล่ฝ่ายตะวันตก ให้ไปมาถึงกันได้ทางรถไฟจะไปถึงแม่น้ำแห่งใดก็ใช้ได้แต่พวกกมปนีต้องยอมทำตามสัญญาที่ว่ามานี้ข้อหนึ่งคือจะให้ทำ...(จดหมายเหตุขาดหายไปไม่เต็มเล่ม)” 

 

รูปเครื่องจักรบนแพของพวกฝรั่งเศสขณะขดุเจาะคลองสุเอซ ในสมัยนโปเลียน ที่ ๓


เท่าที่ปรากฏในจดหมายเหตุฉบับนี้ชี้ให้เราเห็นว่าสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา รัฐบาลอังกฤษใช้นโยบายเชิงรุกติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินสยามโดยตรง เพราะพระองค์ก็คือ ผู้นำประเทศและหัวหน้ารัฐบาลที่สามารถตัดสินใจได้เอง ข้อมูลนายไวส์ทำให้เข้าใจว่าคำขอของเขาอาจจะได้รับความยินยอม จากสยามแล้วแต่ยังหาผู้ลงทุนไม่ได้ อังกฤษจึงเปลี่ยนความคิดเป็นขออนุญาตสร้างทางรถไฟแทน แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้อยู่ดี ทำให้ก้าวแรกของอังกฤษชะงักไปชั่วคราว

สมัยรัชกาลที่ ๔
สยามเสียเกาะสองเพื่อรักษาคอคอดกระไว้
แม้นว่ารัชกาลที่ ๔ จะทรงสามารถถ่วงเวลามิให้พวกอังกฤษที่ชอบทำเป็นเจ้ากี้เจ้าการเข้ามาขุดคลอง หรือทำทางรถไฟข้ามคอคอดกระก็ตาม แต่กา รเร่งเร้าของอังกฤษก็มิได้หมดสิ้นไป กลับปรากฏชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพวกฝรั่งเศส พุ่งความสนใจมายังคอคอดกระเช่นกัน ภายหลังประสบความสำเร็จจากการขุดคลองสุเอซเชื่อมยุโรป และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ส่งเสริมให้ชื่อเสียงและเทคโนโลยีของฝรั่งเศสแซงหน้าอังกฤษ และเป็นตัวแปรใหม่ที่สร้างความหนักใจให้สยาม

ชาวฝรั่งเศสกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่สร้างความหวาดระแวง ไม่เฉพาะกับสยามเท่านั้น แต่กับอังกฤษด้วย เพราะฝรั่งเศสเพิ่งจะมีผลงานมาสดๆ ร้อนๆ จากคลองสุเอซที่พิสูจน์ว่าคุ้มค่าคุ้มเวลากับผืนดินที่ขุดออกไป

พวกฝรั่งเศสมีประสบการณ์ขุดคลองมากกว่าอังกฤษ ได้วางแผนแม่บท และตั้งชื่อคลองใหม่อย่างเพราะพริ้งว่า
คลองกระ (KRA Ishmus) แต่บางทีก็เรียกว่าคลองตระ ล้วนเป็นคลองเดียวกัน ความคิดของฝรั่งเศสในเรื่องขุดคลองกระ เป็นที่เลื่องลือวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าสยามถูกฝรั่งเศสบังคับ บ้างก็ว่าสยามจะใช้ฝรั่งเศสถ่วงดุลอำนาจอังกฤษ บ้างก็ว่าสยามสนับสนุนฝรั่งเศส เพราะมีผลงานขุดคลองสุเอซมาแล้ว แต่นักประวัติศาสตร์ไทยกลับไม่เชื่อเรื่องพวกนั้นเลย คิดแต่ว่า ๑.ไม่ว่าฝรั่งเศสหรืออังกฤษได้สัมปทาน สยามก็จะเสียดินแดนทางภาคใต้ (แหลมมลายู) ไปอย่า งแน่นอน และ ๒. ถ้าฝรั่งเศสได้สัมปทานอังกฤษก็ต้องไม่พอใจ เพราะนอกจากจะเสียเพื่อนบ้านแล้ว ยังหมายความว่า สยามจงใจทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์ทางการค้า เพราะจะไม่มีเรือลงไปค้าขายที่เกาะหมาก (ปีนัง) และสิงคโปร์อีก เนื่องจากเรือหันมาใช้คลองกระ ทว่าที่จริงแล้วสยามไม่สนับสนุนทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ข่าวลือนี้กลับทำให้สยามเสียหาย เพราะอังกฤษต้องพานเชื่อว่าสยามสนับสนุนฝรั่งเศสอย่างแน่นอน

อุบายของสยามคือ ต้องไม่ผิดใจกับอังกฤษ แต่ก็ต้องไม่ให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าใจผิด ดังสุภาษิตว่า บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น วิธีที่แยบยลที่สุดก็คือ แต่งตั้งเจ้าเมืองลงไปคลี่คลายสถานการณ์ที่เมืองกระ คนๆ นั้นต้องเป็นที่ไว้วางใจของทางราชสำนักและชาวต่างชาติ ในที่สุดก็ทรงเลือกชาวจีนคนหนึ่งที่เป็นคนในบังคับอังกฤษ และเป็นนักธุรกิจใหญ่ ส่งลงไปเป็นเจ้าเมืองกระบุรี แต่ที่จริงต้องการส่งลงไปขัดตราทัพมิให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเ ห็นว่าสยามทอดทิ้งคอคอดกระเพราะอยู่ไกลหูไกลตา และเป็นเพียงหัวเมืองบ้านนอก เถ้าแก่ผู้นี้ชื่อ
ตันกิมเจ๋ง เป็นเอเย่นต์ส่วนพระองค์อยู่ที่สิงคโปร์ และเป็นคนไว้ใจได้ แต่ที่สำคัญคือ ทรงแน่พระทัยว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสไม่เคยมีความจริงใจต่อสยามในเรื่องขุดคลองกระ ทรงพระราชดำรัสว่า “ถ้ายอมให้ฝรั่งเศสขุดคลองกระ อังกฤษก็คงพาลชิงเอาหัวเมืองในแหลมมลายู หรือมิฉะนั้นฝรั่งเศสก็คงพาลชิงเอาเป็นอาณาเขต จะอย่างไรไทยก็ไ ม่มีกำลังพอจะรบพุ่งป้องกันได้ มีทางที่จะรอดแต่อย่าให้ขุดคลองกระได้”  

 

 

แผนภูมิคลองสุเอซ ตัดทะลุคอคอดกระในประเทศอียิปต์ 
เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านบนเข้ากับทะเลแดงด้านล่าง

คนงานชาวอาหรับขนดินบรรทุกออกไปบนหลังอูฐ
 ถ้าเป็นคอคอดกระคงต้องใช้ช้างและวัวเป็นหลัก


เหตุที่รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งตั้งเถ้าแก่คนจีนชื่อตันกิมเจ๋ง เป็นเจ้าเมืองกระบุรี แล้วพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนนางไทยเต็มขั้น โดยในชั้นแรก ทรงตั้งเป็น พระพิเทศพานิช ต่อมาก็พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอัษฎง คตทิศรักษาสยามประชานุกูลกิจ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงในสาส์นสมเด็จว่า

“เรื่องประวัติเมืองกระบุรีนั้น เดิมมีเศรษฐีจีนที่เมืองสิงคโปร์คนหนึ่ง แซ่ตัน ชื่อ กิมจึ๋ง เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ได้เฝ้าแหนคุ้นเคยของพระอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีความสวามิภักดิ์ จึงทรงตั้งเป็น พระพิเทศพานิช ตำแหน่งกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ ครั้นถึงสมัยเมื่อดีบุกขึ้นราคาด้วยขายดีในยุโรป มีพวกฝรั่งและจีนพากันทำการขุดแร่ดีบุกในเมืองมะลายูแดนอังกฤษมากขึ้น พระพิเทศพานิชสืบทราบว่าที่เมื องกระมีแร่ดีบุก จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำเหมืองขุดหาแร่ดีบุกที่เมืองนั้น ประจวบเวลานั้น มีเหตุสำคัญในทางการเมืองเกิดขึ้นด้วย เมื่อฝรั่งเศสขุดคลองสุเอซเห็นว่าจะสำเร็จได้ คิดจะขุดคลองตัดแหลมมลายูที่เมืองกระอีกคลอง ๑ เอมปเรอร์นโปเลียนที่ ๓ ให้มาทาบทามรัฐบาลสยามพอรัฐบาลอังกฤษทราบข่าวก็ให้มาทาบทามจะขอเกาะสองแขวงเมืองระนอง เป็นเกาะเปล่าไม่มีบ้านเรือนผู้คน แต่อยู่ตรงทางเข้าลำน้ำ ‘ปากจัน’ อันจะเป็นต้นคลองที่ขุดใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า ถ้ายอมให้ฝรั่งเศสขุดคลองกระ อังกฤษก็คงพาลชิงเอาหัวเมืองในแหลมมลายู หรือมิฉะนั้นฝรั่งเศสก็คงพาลชิงเอาเป็นอาณาเขต จะอย่างไรไทยก็ไม่มีกำลังพอจะรบพุ่งป้องกันได้ มีทางที่จะรอดแต่อย่าให้ขุดคลองกระได้ จึงโปรดฯ อนุญาตให้เกาะสองเป็นของอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเรียกกันว่า เกาะวิกตอเรีย อยู่บัดนี้แต่ยังทรงพระราชวิตกเกรงว่าฝรั่งเศสจะใ ช้อุบายอย่างอื่นมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกระ จึงโปรดให้ยกเมืองกระขึ้นเป็นหัวเมืองและทรงตั้งพระพิเทศพานิช เป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี เข้าใจว่าเพราะทรงพระราชดำริห์ว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษ ถ้าพวกฝรั่งเศสบังอาจมาข่มเหงประการใด ก็คงต้องกระเทือนถึงอังกฤษแต่จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม การที่ฝรั่งเศสจะมาขุดคลองกระในครั้งนั้นสงบไปได้ดังพระราชประสงค์”  

แผนการขุดคลองกระที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ กลายเป็นเรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคง การฉกฉวยผลประโยชน์ และการปกป้องชาติบ้านเมื องมากกว่าผลกำไรทางการค้า และความพัฒนาถาวร เพียงฝรั่งออกปากจะขอขุดคลอง สยามก็ตั้งการ์ดรับอย่างเสียขวัญและครั่นคร้ามใจในยุคนั้นอังกฤษมีอำนาจมาก แม้แต่เมืองจีนยังเอาไม่อยู่ ประเทศที่เล็กกว่าจีนย่อมไม่ใช่ข้อต่อรองสำหรับอังกฤษ ต่อมาเมื่ออังกฤษออกปากขอเกาะสองไว้กันท่าฝรั่งเศส สยามก็จำใจยกให้โดยไม่ขัดขืน เพื่อไม่ให้อังกฤษพานหาเรื่องที่ใหญ่โตไปกว่านี้ และ

การขุดคอคอดกระในสมัยนี้อาจมองว่าเป็นช่องทางไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย และแสวงหาผลกำไรทางการค้าของประเทศเจ้าภาพในระบบเศรษฐกิจแ บบทุนนิยม แต่ในสมัยนั้นเป็นแต่ความเสียเปรียบของสยามและหนทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทั้งยังเป็นการกอบโกยผลประโยชน์ของนายทุนต่างชาติในขณะที่ประเทศเจ้าภาพยังใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง พออยู่พอกิน และมิใช่ผู้กำหนดนโยบายระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นรองชาติมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน

 

 

คนงานนับพันช่วยกันถากหน้าดิน และเจาะแซะเนินเขาเพื่อขุดเป็นคลอง
สุเอซให้เรือสำเภาขนาดใหญ่แล่นผ่านออกไปได้ ในรูปมองเห็นนายช่าง
ชาวฝรั่งเศสด้านหน้าคอยควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด

นายช่างชาวฝรั่งเศส ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วม
กับข้าราชการชาวอียิปต์ขณะขุดคลองสุเอซ


ที่มาของทีมงานสำรวจจากฝรั่งเศส
ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ เกิดจากการสวนกระแสของชาวฝรั่งเศส ที่เบียดบังชาวอังกฤษเข้ามาเป็นตัวชูโรงเรื่องสำรวจคอคอดกระ กล่าวคือ ในบทที่แล้วเราจะเห็นแต่สภาวะตามหลังอังกฤษของคนสยามในยามสงบ การที่อังกฤษได้ปกครองอินเดีย พม่า และมลายู ทำให้อังกฤษพลอยได้เป็นมหาอำนาจชาติเดียวจากยุโรปที่ผูกขาดอยู่ในสยาม อังกฤษมีฐานทัพอยู่ทั่วไปตามเมืองท่าของอินเดีย อ่าวเบงกอล สิงคโปร์ และฮ่องกง อำนาจของอังกฤษแผ่ไพศาลไปทั่วเอเชีย เป็นที่ริษยาของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑-๖๘) อังกฤษมีอิทธิพลต่อกิจการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษส่งราชทูตฝีมือดีข องพระราชินีอังกฤษเข้ามาข่มขวัญสยามอย่างสม่ำเสมอ มีอาทิ เซอร์จอห์น เบาริ่ง และ เซอร์แฮรี่ ปาร์ค บีบคั้นสยามให้ทำสนธิสัญญาต่างๆ นานา ทั้งยังมีผู้แทนถาวรอยู่ที่กรุงเทพฯ คอยให้คำปรึกษา แต่ส่วนมากชอบสั่งสอนรัฐบาลสยามเสียมากกว่า ดังเช่น ราชทูตผู้โอหัง เช่น เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก และมิสเตอร์น็อกซ์ ในกิจการที่สยามไม่ค่อยชำนาญนัก เช่น การต่างประเทศ การคลัง การทหาร การโยธา แม้แต่แผนกสำรวจทำแผนที่ดังกล่าวมาแล้วก็ยังมีคนอังกฤษแทรกซึมอยู่ทั่วไป

แต่พอขึ้นรัชกาลที่ ๕ (ค.ศ. ๑๘๖๙) ฝรั่งเศสก็เริ่มเข้ามามีบทบาทบดบังอำนาจผูกขาดของอังกฤษ ในกิจการบางอย่างที่ชาวฝรั่งเศสก้าวหน้ากว่า หนึ่งในภารกิจที่ชาวฝรั่งเศสชำนาญและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วก็คือ การขุดคลองลัดตัดแผ่นดินที่คนทั่วโลกยอมรับ เรียก
“คลองสุเอซ” ในประเทศอียิปต์

จุดกำเนิดของคลองสุเอซอันเป็นคลองลัดที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ทวีปยุโรป) กับทะเลแดง (ทวีปเอเชีย) และเป็นคลองลัดที่ยาวที่สุดแห่งแรกในโลกจะปฏิวัติการเดินทางในอดีตที่ดำเนินมานาน ๒,๐๐๐ ปี อ้อมแหลมกู้ดโฮป (แอฟริกาใต้) กลายเป็นเรื่องล้าสมัย   สิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และเสียเวลา  เพราะคลองสุเอซช่วยให้ระยะการเดินทางจากยุโรปมาเอเชียสั้นลงกว่าครึ่งเหลือ ๑ ใน ๓ คือ ใช้เวลาเพียง ๑ เดือน แทนที่จะเป็น ๓ เดือน ดังที่เคยเป็นมา

ผู้ที่จุดประกายเรื่องคลองสุเอซ คือ จักพรรดินโปเลียนที่ ๑ (ค.ศ.๑๗๖๙-๑๘๒๑) แห่งฝรั่งเศส ผู้ออกแบบสร้างและดำเนินการขุดก็เป็นวิศวกรฝรั่งเศส เงินลงทุนก็มาจากฝรั่งเศส แถมผู้ที่รับช่วงต่อก็เป็นทายาทเชื้อพระวงศ์ (คือจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ค.ศ. ๑๘๐๘-๗๓) และสามารถบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์อันแท้จริง จนได้รับการยกย่องนับถือว่า เป็นต้นแบบของคลองลัดที่ดีที่สุดในโลก

ปี ค.ศ. ๑๗๙๘ (พ.ศ. ๒๓๔๑) นโปเลียนที่ ๑ ทรงเคลื่อนทัพผ่านเข้ามายังอียิปต์ ที่นั่นทรงเกิดความสนพระทัยในคลองโบราณที่เชื่อมแม่น้ำไนล์กับ ทะเลแดง อียิปต์มีเมืองท่าโบราณชื่ออเล็กซานเดรียบนฝั่งทะเลด้านยุโรป จึงทรงเกิดความคิดที่จะขุดคลองจากทะเลนี้ไปออกทะเลแดง ก็จะส่งเสริมให้กองทัพฝรั่งเศส มีช่องทางดีกว่าในการยาตราทัพออกไปพิชิตโลกกว้างได้โดยสะดวก

 

ภาพมุมกว้างของคลองสุเอซเมื่อขุดเจาะเสร็จแล้ว มองเห็นเมืองท่า
 Port Said (ได้ชื่อมาจาก Sa-Id Pasha) และเรือสำเภาขนาดใหญ่
 กำลังผ่านออกไปยังทะเลแดง (มุมบนขวา) บ่ายหน้าออกไปสู่เอเชียและโลกกว้าง


แต่ความฝันของพระองค์ก็ต้องดับวูบลงเพราะมีอุปสรรคเฉพาะหน้าขวางทางอยู่คือ ๑.ระดับน้ำในทะเลแดงสูงกว่าระดับน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึง ๑๐ เมตร  และต้องใช้เวลาหาทางแก้ปัญหาอีกนาน ๒. จะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเกินกว่าที่จำเป็น ในการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์กั้นน้ำไม่ให้ ทะลักเข้ามายังทะเลฝั่งยุโรป ถ้าผิดพลาดก็จะเกิดความหายนะอย่างมิอาจประเมินค่าได้ และ ๓. เกิดสงครามนโปเลียน (ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๔) เสียก่อน จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของนโปเลียนที่ ๑ ทำให้โครงการคลองสุเอซมีอันต้องระงับไปชั่วคราว

พอขึ้นรัชกาล นโปเลียนที่ ๓ (ค.ศ. ๑๘๔๘) พระองค์ทรงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของพระราชปิตุลา (นโปเลียนที่ ๑) จึงทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สร้างคลองสุเอซขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองเต็มรูปแบบ

รัฐบาลฝรั่งเศสมีภาษีดีกว่าชาติอื่นๆ ในการรณรงค์ขุดคลองสุเอซ เพราะเมื่อขึ้นรัชกาล นโปเลียนที่ ๓ รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาณานิคม และเศรษฐกิจที่เติบโตขนานใหญ่ อีกทั้งองค์จักรพรรดิก็มิได้ทรงสนพระทัยในการศึกสงครามเหมือนในสมัยพระราชปิตุลา ทำให้ทรงทุ่มเทงบประมาณ และเวลากับโครงการคลองสุเอซได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่สำคัญคือ นายช่างใหญ่เจ้าของโครงการนี้คือ นายเดอเลสเซป (M. Ferdinand de Lessep) เคยดำรงตำแหน่งราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ ช่วงทศวรรษ ค.ศ. ๑๘๓๐ และเป็นพระสหายสนิทของเจ้าผู้ครองนครอียิปต์ในสมัยนั้น คือ Sa-Id Pasha ช่วยให้นายเดอเลสเซปมีช่องทางทำมาหากินพิเศษ และเอื้ออำนวยให้เขาได้รับสัมปทานโดยตรงจากรัฐบาลอียิปต์โดยไม่ลำบากนัก

นายเดอเลสเซปได้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ (The Suez Canal Company หรือ Compagnie Universelle du Canal Maritime de Suez) ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๑๘๕๘ และเริ่มต้นขุดคลองทันที เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๑๘๕๙ โดยเริ่มขุดจากเมืองท่า Port Said บนฝั่งทะเลแดงด้า นเอเชียก่อน เรียกต้นทางนี้ว่าด้านเหนือ ปลายทางอยู่ที่เมืองท่า Port Tawfik หรือด้านใต้ที่บรรจบกับทะเล   เมดิเตอร์เรเนียนของยุโรป เมื่อแรกขุดเสร็จคลองนี้มีความยาว ๑๖๔ กิโลเมตร กว้าง ๒๐๕ เมตร ลึก ๒๔ เมตร (ในภายหลังถูกปรับแต่งให้สั้นลงเหลือความยาวเพียง ๑๖๒.๒๕ กิโลเมตร- ผู้เขียน) ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น ๑๐ ปี จึงแล้วเสร็จ (ค.ศ. ๑๘๕๙-๖๙)  

 

 

รัชกาลที่ ๕ ทรงฉายเมื่อเสวยราชย์ใหม่ๆ ขณะเดียวกันคลองสุเอซก็เพิ่งเริ่มเปิดใช้เป็นปีแรก 
(รูปซ้าย) และพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในอีก ๑๒ ปีต่อมา (รูปขวา) เมื่อพระราชทานพระ
บรมราชานุญาต ให้ฝรั่งเศสสำรวจคอคอดกระได้  ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑)


ผู้บริหารและดำเนินกิจการคลองสุเอซ คือ รัฐบาลอียิปต์ ภายใต้กฎบัตรนานาชาติแต่อนุญาตให้คนนอกที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปมีสิทธิ์ถือหุ้นด้วย โดยมีข้อตกลงที่ใครก็สามารถใช้คลองนี้ได้ทั้งในยามสงบ และยามสงครามโดยไม่มีการเลือกฝักเลือกฝ่าย แต่คนที่ได้หน้าก็คือ ชาวฝรั่งเศสและราชสำนักฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่และผู้บุกเบิกโดยชอบธรรม ดังปรากฏว่าเจ้าผู้ครองนครอียิปต์ได้ทูลเชิญให้พระนางเออเจนี พร ะอัครมเหสีของนโปเลียนที่ ๓ เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดคลองนี้ในเดือนพฤศจิกายน ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๔๑๒) ซึ่งเป็นปีแรกในรัชกาลที่ ๕

ขณะเสด็จแปรพระราชฐานมายังอียิปต์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ได้สร้างพระตำหนักเคลื่อนที่หลังเดียวในโลกถวายพระนางเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ พระตำหนักอันน่าพิศวงนี้ ต่อมาได้ถูกพระราชทานเป็นของขวัญแก่พระบาทนโรดมกษัตริย์แห่งเขมรในปี ค.ศ. ๑๘๗๔ เพื่อตอบแทนความดีที่เขม รยอมอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศส ยังปรากฏพระตำหนักหลังนี้ตั้งอยู่ภายในวังเขมรินทร์ ณ กรุงพนมเปญจนทุกวันนี้ (ดูรูปประกอบ)

ฝ่ายอังกฤษซึ่งเสียผลประโยชน์ พยายามขัดขวางโครงการขุดคลองสุเอซทุกวิถีทาง เพราะคลองนี้มีแนวโน้มว่า  จะทำลายเป็นเส้นทางการค้าของอังกฤษไปสู่อินเดียและจีน ซึ่งอังกฤษเคยผูกขาดมาก่อน  โดย ๑. อังกฤษเสนอแผนสำรองให้สร้างทางรถไฟสายอเล็กซานเดรีย-ไคโร-สุเอซ คร่อมคอ คอดสุเอซแทนคลอง และอังกฤษจะเป็นเจ้าภาพเอง แต่แผนนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอียิปต์ (ทว่าต่อมาทางรถไฟสายนี้ก็ถูกสร้างขึ้นจนได้ และยังมีใช้อยู่จนทุกวันนี้ - ผู้เขียน)  ๒. เมื่อดูท่าจะขัดขวางพวกฝรั่งเศสไม่อยู่  อังกฤษจึงหันมาปลุกระดมมวลชนให้แรงงานต่างด้าวที่ส่วนใหญ่พวกทาสที่ถูกเกณฑ์มาจากแอฟริกา และชาวอาหรับเร่ร่อนลุกฮือขึ้นก่อการจลาจลด้วยการผละงาน

แต่ความวุ่นวายก็สงบลงในไม่ช้า เพราะโครงการนี้กลับเป็นการสร้างงาน และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อชุมชนในท้องที่อย่างมหาศาล ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานา ชาติที่พากันเข้าข้างฝรั่งเศส เพราะต่างก็เห็นความสำคัญว่า คลองนี้มีความหมายต่อมวลมนุษยชาติมากกว่าเรื่องส่วนตัว

อย่างไรก็ตามอังกฤษก็ยังตามราวีและเป็นไม้เบื่อไม้เมา ขัดขวางนโยบายทางธุรกิจของฝรั่งเศสต่อการขุดคลองลักษณะเดียวกันในที่อื่นๆ ด้วย ดังเช่ น คลองกระในสยามประเทศก็พลันเกิดเป็นมรภูมิแห่งใหม่ให้อังกฤษ และฝรั่งเศสขับเคี่ยวกันยับยั้งฝ่ายตรงข้ามมิให้ทำการสำเร็จได้

ทัศนคติใหม่กลายเป็นดาบสองคม
แผนที่จุดยุทธศาสตร์ตกอยู่ในมือคนฝรั่งเศส
และเพราะความสำเร็จของฝรั่งเศสจากคลองสุเอซนี่เอง  ที่มัดใจชาวโลกและชาวสยามอย่างดิ้นไม่หลุด   ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า โครงการที่มีชาวฝรั่งเศส ดำเนินการอยู่มักจะมีอิทธิพลของรัฐบาล รวมทั้งนายทุนและนักการเมืองหนุนหลังอยู่ด้วยเสมอ แต่กระแสแห่งภาพลักษณ์ของประสบการณ์ และเทคโนโลยีอันล้ำหน้าก็พิสูจน์ว่า ฝรั่งเศสมีอุดมการณ์และแนวคิดที่เปิดเผยกว่าอังกฤษ ในเรื่องการสร้างหลักประกันและเปิดโอกาสมากกว่าต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพรวม

 

รูปกองทัพฝรั่งเศสตีกรุงเวียดนามแตกในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ (ค.ศ. ๑๘๘๓) หลังจากนี้คาบ
สมุทรอินโดจีนก็ตกเป็นเมืองขึ้นและฐานที่มั่นของฝรั่งเศสในเอเชีย ดังนั้นถ้าฝรั่งเศสได้ขุด
คอคอดกระแล้ว ฝรั่งเศสก็จะได้ครอบครองเส้นทางการค้าการเดินเรือสายใหม่มายัง
ตะวันออกไกลแทนอังกฤษ (ภาพจาก
 L’ ILLUSTRATINO, วันที่ ๒๓ เมษายน ๑๘๕๙)


ชื่อเสียงของคนฝรั่งเศสในโครงการนี้ จึงกลบกระแสนักล่าอาณานิคมซึ่งทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างก็เป็นจำเลยของสังคมลงได้บ้าง ดังจะเห็นว่ารัฐบาลสยามเริ่มมีทัศนคติที่ดี และไว้วางใจบริษัทฝรั่งเศสโดยปิดตาข้างเดียวให้กับการพิจารณาคำขอของคนฝรั่งเศส

สถานการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากสมัยรัชกาลที่ ๔ จากที่เราเคยปกป้องคอคอดกระอย่างหวงแหน และเคยยึดภาษิต ประจำใจอยู่เสมอว่า กันไว้ดีกว่าแก้ และไม่เห็นน้ำตัดกระบอก กลายมาเป็นโยนหินถามทาง และน้ำขึ้นให้รีบตักอย่างรวดเร็ว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสขุดคลองลัดผ่านสยาม ได้รับการผลักดันในทางลับโดยรัฐบาลฝรั่งเศส   ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ. ๑๘๗๑ (พ.ศ. ๒๔๑๔) เมื่อฝรั่งเศสกลายเป็น
สาธารณรัฐแทนรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐบาลสมัยสาธารณรัฐมีนโยบายเชิงรุกที่เข้มข้นมากขึ้น ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะ

๑. รัฐบาลสาธารณรัฐจำเป็นต้องแสวงหาเมืองขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายหลังการพ่ายแพ้ในสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๗๐-๗๑

๒. เพื่อเรียกชื่อเสียงและกิตติศัพท์ของบรรพชนและความเป็นชาติชั้นนำของโลกกลับคืนมาภายหลังสงครามและ

๓. เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนที่สูญเสียความเชื่อมั่น  จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบใหม่ คือ สาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

หลักฐานที่แสดงถึงความซับซ้อนของสถานการณ์รอบด้าน เมื่อคณะนักสำรวจฝรั่งเศสเข้ามาชักชวน (และเกลี้ยกล่อม) ราชสำนักสยาม ไม่มีชิ้นใดเข้มข้นและเข้าถึงปัญหาเท่ากับพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๕ ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับในระยะนั้น อธิบายถึงเหตุผลของสยามเมื่อจ ำเป็นต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจถึง ๒ ขั้วในเวลาเดียวกัน และการตัดสินพระทัยเมื่อต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อลดแรงเสียดทานที่ซ้ำเติมเข้ามา

โครงการขุดคอคอดกระถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งภายหลังการยื้อเวลา และซื้อเวลาตลอดยุครัชกาลที่ ๔ แต่เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๕ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปดังมีปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ ฝรั่งเศสรบชนะเวียดนาม ในปี ค.ศ. ๑๘๘๓ (พ.ศ. ๒๔๒๖) โดยก่อนหน้าและหลังจากปีนั้นฝรั่งเศสเริ่มหาเส้นทางลัดจ ากมหาสมุทรอินเดีย เพื่อเป็นเส้นทางใหม่ตรงไปยังเวียดนาม โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูซึ่งเป็นเขตอังกฤษ

พระราชหัตถเลขาฉบับแรกที่สุดในรัชกาลที่ ๕ บ่งบอกถึงความตื่นตัวของราชสำนักเมื่อถูกรบเร้าจากพวกฝรั่งเศส

ร. ที่ ๗๘
       ๔๓
ถึง ท่านกรมท่า
         ด้วยเธอส่งหนังสือพระยาสยามธุรพาห นำหนังสือเลเฟเวียกำปนี ขอขุดคลองตัดแหลมมลายูมานั้น ได้ทราบแล้ว
ความเรื่องนี้ เหนว่าได้เอะอะกันมาช้านานแล้ว จะได้ปฤกษาหาฤๅกันไว้อย่างไร แต่เดิมมาฉันก็ไม่ทราบ เหนเป็นการใหญ่สำคัญในเวลานี้ก็ปฤกษากันเอะอะมาก ทั้งที่ลอนดอนแลที่สิงคโปร์
         ในเธอนำหนังสือที่เขามีนานี้กราบเรียนปฤษาสมเดจเจ้าพระยา ขอความคิดความเหนของท่านเก่าใหม่ แลปฤกษาคุณสุรวงษผู้เป็นเจ้าของบ้านเมืองเสียให้เหนพร้อมกันด้วย
         จดหมายมา ณ วันที่ ๑ฯ๗ ค่ำ ปีมเสงตรีศก ศักราช ๑๒๔๓
                     (พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

ร. ที่ ๒๘๘
       ๔๓
ถึงท่านกรมท่า
         ด้วยเรื่องที่จะขุดคลองแหลมตะวันตกนั้น ไม่รู้แน่ว่าแห่งใดไปแห่งใด ให้เธอส่งต้นหนังสือไป ขอให้คุณสุรวงษตรวจแผนที่แลให้ไล่เลียงผู้ที่รู้ระยะทาง ให้ได้ความแน่ว่าจะเปนแห่งใดพาดไปแห่งใด
         จดหมายมา ณ วัน ๒ฯ๓ ค่ำ ปีมเสงตรีศก ศักราช ๑๒๔๓ 
                   (พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

ข้อสังเกต
๑. การที่ฝรั่งเศสจู่โจมเข้ามาทาบทามสยามครั้งใหม่นี้ ห่างจากครั้งเก่าสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง ๓๓ ปี (ค.ศ. ๑๘๖๘-๘๑) รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงทราบเรื่องร าวในอดีตมาก่อน อีกทั้งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายสยามมิได้มีความกระตือรือร้นในเรื่องการขุดคลองกระเลย แต่เป็นความต้องการของฝรั่งเศสมากกว่า

๒. สมเดจเจ้าพระยา คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ และมือขวาของรัชกาลที่ ๔ ย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีกว่าใครเพื่อน

๓. คุณสุรวงษคือพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาฯมีตำแหน่งเจ้าเมืองปกครองพื้นที่ปักษ์ใต้ตอนบนคือ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ซึ่งคอคอดกระตั้งอยู่

๔. ท่านกรมท่าคือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ (กรมท่า) คนแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕
ว่าด้วยคำขอของคณะสำรวจจากฝรั่งเศส
จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕ ฉบับที่ ๑ ว่าด้วยจดหมายถ้อยคำซึ่งมงซิเออร์ฟรังซัว เดอลองก์ กราบบังคมทูลและพระราชดำรัสตอบ ในวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๒๔๔

“เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาบ่าย ๔ โมง มองซิเออร์เลอคอกเตอฮารมัน กงซุลและคอมมิสแซฝรั่งเศส นำพระราชสารกรุงเวียตนามทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ มองซิเออร์เดอลอง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว มองซิเออร์เดลอง เข้ามาเฝ้า ผู้ซึ่งอยู่ในโต๊ะที่เสด็จออกนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย กงซุลฝรั่งเศสมอง ซิเออร์ลอย แต่เจ้าพนักงานกรมท่าและมหาดเล็กเฝ้าอยู่ห่าง แต่พอได้ยินความสนัด มองซิเออร์เดลอง ถวายสำเนาหนังสือซึ่งมองซิเออร์เดอลาเสปจะหาประโยชน์เอง ทรงทอดพระเนตรแล้ว มองซิเออร์เดลองกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตที่จะขุดคลองในชื่อของมองซิเออร์เดลาเสป ดำรัสถามถึงที่ซึ่งจะขุด และการที่ทำนั้นอย่างไร มองซิเออร์เดลองทูลชี้แจงบ้าง และรวมความลงขอพระราชทานคอนเสสชั่น จึงดำรัสว่า การเรื่องที่จะขุด คลองนี้มีข้อขัดขวาง ซึ่งจะยอมให้คอนเสสชั่นไม่ได้เดี๋ยวนี้ ๒ ประการ ประการที่ ๑ นั้น ยังไม่ทรงทราบว่าการที่ขุดนั้นจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กันแน่ เพราะที่นั่นยังไม่ได้เซอรเวดู ให้รู้ว่าจะทำยากทำง่ายเป็นประการใด และเรือซึ่งจะมาเดินทางนั้น จะมากน้อยประการใด ก็ยังไม่ได้คิดกะประมาณการเป็นแน่ รวมใจความว่า เมื่อคอเวอนเมนต์สยามยังไม่ได้พิจารณาการเรื่องนี้โดยละเอียดถ้วนถี่ ให้เห็นว่าจะเป็นประ โยชน์แน่แล้ว จะยอมให้คอนเสสชั่นยังไม่ได้

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า แผนที่และประมาณการเรื่องนี้ เขามีพร้อมที่จะยื่นถวายให้ทราบได้ แต่ซึ่งจะเอาเป็นแน่ละเอียดลออ เมื่อก่อนยังไม่ได้เซอรเวนั้นไม่ได้อยู่เอง มองซิเออร์เดอลาเสปได้คิดไปว่า เมื่อใดได้คอนเสสชั่นแล้ว จึงจะประชุมผู้ซึ่งชำนาญในการเซอรเว มาเซอรเวตรวจการให้ได้โดยละเอียด ต่อเมื่อตรวจแล้วเห็นว่าควรจะทำ จึงจะทำได้

จึงดำรัสว่า   ส่วนกมปนีจะต้องตรวจเห็นว่าควรจะทำได้แล้วจึงจะทำ   ส่วนเราก็ต้องขอตรวจให้รู้ก่อนว่า  ควรจะอนุญาตแล้วจึงจะอนุญาตเหมือนกัน เพราะที่เหล่านี้เป็นที่มีบ่อแร่เป็นต้น และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ของแผ่นดินและของราษฎรอย่างไรบ้าง เราต้องรู้ก่อนที่จะตกลง

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า ถ้าจะทำการเซอรเว ดังเช่นมองซิเออร์เดอลาเสปคิดจะต้องลงทุนมาก ถ้าไม่ได้ทำก็เป็นอันป่วยการเงินมาก เพราะฉะนั้นจะต้องคอนเสสชั่นซึ่งเป็นที่มั่นใจเสียก่อน จึงจะได้ลงมือเซอรเว

ทรงดำรัสตอบว่า การซึ่งจะต้องลงทุนนั้น ก็เป็นของมองซิเออร์เดอลาเสปจะหาประโยชน์เอง ส่วนเราก็หาประโยชน์ของเราเหมือนกัน แต่ใช่แต่เท่า นั้นยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นที่สุด คือ คลองที่จะขุดเดี๋ยวนี้ เราเข้าใจว่าจะขุดที่กระต่อมลิวัน ที่นั่นฝั่งหนึ่งเป็นของอังกฤษ ฝั่งหนึ่งเป็นของเรา ถ้าจะไม่ขอให้อังกฤษใช้ใช้ฝั่งหนึ่งของเขา จะให้เราให้คอนเสสชั้นข้างเดียวยังไรได้

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า มองซิเออร์เดอลาเสปก็คิดว่าจะไม่ขุดคลองนี้ตรงที่ต่อเขตแดน เพราะเห็นว่าจะขุดแม่น้ำเก่ารักษายาก เปลืองเงินมาก คิดจะขุดในที่ใหม่ให้ตลอดคลองที่นั่นคงจะเป็นที่แผ่นดินของกรุงสยามทั้งสิ้น จะทรงอนุญาตคอนเสสชั่นเดี๋ยวนี้ ก็จะไม่เป็นที่ขัดขวางอันใดกับอังกฤษ

ดำรัสว่า ถ้าจะขุดต่ำลงไปมาก กลัวจะไม่มีประโยชน์ด้วย ทุกวันนี้เรือไปเมล์ยุโรปเดินเร็ว ถ้าจะต้องอ้อมสเตรด เสตเตอลเมนต์ ทางยาวไปไม่มากนั กเห็นจะดีกว่าที่จะมาเข้าคลองต้องเสียค่าธรรมเนียม และบางทีจะต้องรอช้า เสียเวลาเหมือนเราได้ยินมาว่าคลองสุเอซได้เป็นดังนั้นบ่อยๆ

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า การที่จะขุดที่ไหนดีจะต้องรดต่อได้เซอรเวก่อนจึงจะเอาเป็นแน่ได้ แต่เห็นว่าถึงโดยจะขุดในที่กระต่อมลิวันต่อกัน ก็ไ ม่เกี่ยวข้องอันใดกับอังกฤษด้วยแม่น้ำ หรือทางทะเลในระหว่างเขตแดนต่อกันตามกฎหมายอินเตอนาชั่นนัลลอ ก็ต้องถือว่าเป็นที่กลาง ไม่เป็นของใคร อีกประการหนึ่ง ที่คลองปนามาคอเวอนเมนต์อเมริกันจะเอาเป็นของตัวฝ่ายเดียว หลอดแกรนวีลล์ก็ได้มีหนังสือไปตัดสินว่าเป็นของกลาง ครั้งนี้หลอดแกรนวีลล์จะมาตัดสินกลับไปอย่างอื่นไม่ได้ อีกประการหนึ่งที่คลองเดิมตั้งแต่ทะเลเข้ามา ๒๕ ไมล์จึงถึงคลองเล็ก ที่ต้องขุดก็ตกเข้ามาในเขตแดนฝ่ายสยามแล้ว ไม่เห็นว่าจะมีข้อขัดขวางอันใดที่จะให้คอนเสสชั่นในเวลานี้

ดำรัสว่า การซึ่งจะขุดคลองนี้ ทรงเห็นว่าฝ่ายอังกฤษก็คงจะอยากขุดเหมือนกัน ก็ไม่อยากที่จะให้เป็นการขัดขวางกับอังกฤษ ฝ่ายมองซิเออร์เดอลาเสปเล่า ก็เป็นคนเคยทำการเห็นปรากฏว่าเป็นคนเคยทำสำเร็จ เราก็ไม่อยากจะขัดขวาง ถ้าการคลองนี้จำเป็นต้องขุดเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์เดอลาเสป จะเป็นผู้ขุด เราก็จะมีความยินดี ด้วยได้เห็นการที่มาแล้ว แต่การตกลงซึ่งจะให้คอนเสสชั่นให้เป็นการตกลงแน่ในเวลานี้ไม่ได้ เพราะเหตุที่เรายังไม่รู้การตลอด ในแผนที่และการต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่เรา และจะต้องรู้แน่ว่าคอเวอนเมนต์ต่างๆ ทั้งปวงซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้อง มีอังกฤษซึ่งเป็นผู้มีประโยชน์ใหญ่ เป็นต้น ได้เข้าใจดีตกลงพร้อมกัน เพราะเป็นการสำคัญซึ่งเราจะต้องระวังให้เป็นการเรียบร้อยตลอดไป

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า การซึ่งจะพูดกับคอเวอนเมนต์ต่างประเทศนั้น มองซิเออร์เดอลาเสปจะรับเป็นธุระพูดจาเอง ไม่ต้องให้ไทยพูด ถึงเมื่อครั้งคลองสุเอสและคลองปนามา เจ้าของก็ไม่พูดจาอันใด มองซิเออร์เดอลาเสปพูดทั้งสิ้น

ทรงตอบว่า ดีแล้ว ถ้าดังนั้น ให้มองซิเออร์เดอลาเสปพูดจาเสียให้ตกลงก่อน จึงค่อยเอาคอนเสสชั่น

มองซิเออร์เดลอง ทูลว่า ยังไม่ได้คอนเสสชั่นจะไปพูดจากับประเทศทั้งปวงก็เป็นการขัดขวางอยู่ การเรื่องนี้เขาได้รู้เป็นแน่แล้ว เพราะได้รับหนังสือจาก ฟอเรียนออฟฟิศอังกฤษว่า อังกฤษจะไม่ขัดขวางอันใด และมองซิเออร์เดอลาเสปได้รับรองปริ๊นสออฟเวล แล้วได้มีหนังสือไปถึงขอขุดคลองนี้ ปริ๊นสออฟเวลได้ตอบมาว่าให้คิดขุดเถิดอังกฤษจะไม่ขัดขวาง

ดำรัสว่า ซึ่งฟอเรียนออฟฟิศอังกฤษยอมนั้น ไม่ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นอย่างนั้น และที่ปริ๊นสออฟเวลรับสั่งนั้นก็ไม่เป็นการสำคัญอันใด

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า ปริ๊นสออฟเวล เป็นคนใหญ่มีอำนาจมาก

ดำรัสว่า ทรงทราบว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่มีการอันใดที่จะเกี่ยวข้องกับปริ๊นสออฟเวล มีธุระแต่กับหลอดแกรนวีลล์ ที่เป็นผู้สำหรับพูดกับเรา

มองซิเออร์เดลอง ทูลว่า ถ้าดังนั้นจะเข้าใจว่า การอันใดต้องสำเร็จที่คอเวอนเมนต์อังกฤษแห่งเดียว ตามคำสั่งและคำที่ท่านเสนาบดีได้บอก 

ดำรัสว่า จะสำเร็จได้ต้องเราได้เข้าใจตลอดว่า จะเป็นผลประโยชน์อย่างไร และเข้าใจกันในระหว่างคอเวอนเมนต์ทั้งปวงที่ได้มีประโยชน์เกี่ยวข้องว่าไม่มีการขัดขวางอันใด จึงจะอนุญาตให้

มองซิเออร์เดลอง พูดว่า การซึ่งจะกลัวว่าจะไม่เป็นประโยชน์นั้น เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แน่แท้ และถ้าโดยว่าการจะไม่เป็นประโยชน์จริง กมปนีก็คงจะไม่คิดทำและการที่จะพูดกับคอเวอนเมนต์ต่างประเทศนั้น ก็เห็นว่าคงสำเร็จเป็นแน่ เว้นแต่ถ้าทิ้งช้าไป กลัวจะมีความคิดต่างๆ ขึ้น การที่ทำนั้นจะต้องทำ แต่ประโยชน์ไทยจะน้อยไป เพราะ

๑. จะเชิญเจ้าพนักงานต่างประเทศมาประชุมกันปรึกษาการในเรื่องนี้ให้ตกลงกัน และจะขอให้มีเจ้าพนักงานฝ่ายสยามออกไปประชุมด้วย และมองซิเออร์เดอลาเสป... (ต้นฉบับชำรุด)

โฉมหน้าตัวการใหญ่ผู้กำหนดนโยบายล่าเมืองขึ้น
ของฝรั่งเศสในอินโดจีน เขาคือ นายจูล แฟรี่ ดำรง
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๘๐-๘๕ และเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังทีม
วิศวกรชาวฝรั่งเศส ที่กำลังเสนอโครงการขุดคอ
คอดกระในปี ค.ศ. ๑๘๘๑ (ภาพล้อนายจูล แฟรี่ 
ขึ้นปกหนังสือพิมพ์ L’ECLIPSE, 
วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๑๘๖๙)


จดหมายรัชกาลที่ ๕
ว่าด้วยพระบรมราชวินิจฉัยให้ฝรั่งเศสสำรวจได้
จดหมายเหตุฉบับที่ ๒ นี้ เข้าใจว่าเป็นหนังสือของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีกรมท่า มีถึงมงซิเออร์ฟรังซัว เดอลองก์ มีข้อความว่า

 
“ด้วยข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ตอบหนังสือของท่าน ที่มีถวายเมื่อวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๓ เดือนยูนนั้น ให้ท่านทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้รับสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นท่านกล่าวว่าถึงการที่จะเป็นอย่างหนึ่งอย่ างใดก็ดี คอเวอนเมนต์สยามจะให้คอนเสสชั่นที่จะขุดคลองตลอดเมืองกระแก่มองซิเออร์เดอลาเสปผู้เดียวดังนั้น

ท่านจะไม่เข้าใจในพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงถือว่ามองซิเออร์เดอลาเสป เป็นคนดีมีชื่อเสียงปรากฏในการขุดคลองอย่างนี้ และมีพระราชดำรัสว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบว่า คลองนี้ควรจะขุดได้ดีจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดพระราชทานให้คนอื่นทำ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้สัญญาอย่างหนึ่ งอย่างใดตามคำของท่าน เมื่อท่านมาจดหมายลงเหมือนหนึ่งว่า เป็นสัญญากับท่านผู้แทนมองซิเออร์เดอลาเสปแล้ว จึงมีพระบรมราชโองากรโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าแจ้งความมายังท่านให้ทราบโดยชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ทรงสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย และแม้ว่าการที่ท่านจะมีอำนาจเป็นผู้แทนมองซิเออร์เดอลาเสปได้เพียงไรนั้น ก็ยังไม่ทรงทราบ

คอนเสสชั่นที่ท่านขอนั้น ก็ได้ขอในชื่อของท่านเอง มิได้เป็นเหมือนดังผู้มีอำนาจแทนมองซิเออร์เดอ ลาเสป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นความชัดว่าคลองนี้ไม่ว่าเป็นประโยชน์ และยังไม่ทรงทราบเนื้อความที่ละเอียด หรือบาญชีที่จะชี้ประโยชน์ให้เห็นจริง จึงมีรับสั่งแก่ท่านว่า ยังไม่ทรงพระราชดำริห์เห็นบุตรที่สมควรจะพระราชทานคอนเสสชั้นให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด

และอีกประการหนึ่ง ได้รับสั่งว่า จะมีพระราชหฤทัยยินดีที่จะได้ทรงรับริโปตจากท่านในการเรื่องนี้ด้วย ท่านก็ไม่ได้นำเนื้อความสิ่งใดมากราบทูล ที่จะให้เห็นว่าการเรื่องคลองนี้ควรจะคิดทำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรวจแผนที่หลายฉบับ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า บางทีเรือกำปั่นที่มาจากเมืองยุโรป หรือเมืองอินเดีย ไปเมืองไซ่ง่อนหรือเมืองจีนนั้น คงจะไม่ใช้คลองนี้ ด้วยเวลาที่เรือนั้นเดินเข้ามาใกล้แม่น้ำปากจั่น และที่ต้องเดินช้าในลำคลองนั้น จะยิ่งยาวไปกว่าที่จะตัดทางให้สั้นก็ได้เพียง ๒๐๐-๓๐๐ ไมล์ ในหนทางเดิม และการที่จะคิดให้ทางทะเลในระหว่างเมืองกัลกัตตากับกรุงเทพฯ ให้สั้นเข้านั้น พระบาทสมเด็ จพระเจ้าอยู่หัวไม่สู้โปรดมากนัก โดยความจริง หากว่าคอเวอนเมนต์อังกฤษจะคิดให้ทางนี้สั้นแล้ว คอเวอนเมนต์ไทยก็ยังไม่อยากจะคิด กรุงเทพฯ กับกัลกัตตาก็ใกล้กันพอดีอยู่แล้ว

แม้นว่าถ้าทราบความเป็นแน่ว่า คลองนี้ควรจะคิดขุดแล้วก็ดี และได้รับรู้เป็นแน่ว่าคอเวอนเมนต์ซึ่งมีอำนาจใหญ่ในประเทศยุโรป ได้เห็นชอบด้วยแล้วก็ดี และว่าอังกฤษจะให้คอนเสสชั่นในแม่น้ำปากจั่นแล้วก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่มีพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานคอนเสสชั่น ตามอย่างที่ท่านขอมา

เนื้อความข้างท้ายหนังสือของท่าน ไม่ควรที่จะเขียนอย่างนั้น เนื้อความอย่างนี้เป็นการที่จะต้องปรึกษากัน ในระหว่างผู้แทนคอเวอนเมนต์ต่างประเทศที่ตั้งมา และแม้นว่ามองซิเออร์เดอลาเสปมาเองก็พอจะคิดการตามความข้างท้ายหนังสือนั้นได้ ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ท่านไม่ได้สำแดงหนังสือตราตั้งมอบอำนาจอย่างใด ที่จะให้เห็นว่าเป็นผู้แทนมองซิเออร์เดอลาเสป และเป็นสลักสำคัญว่ามองซิเออร์เดอลาเสปจะต้องทำทุกอย่าง ตามคำที่ท่านว่านั้นเลย

ในข้อที่สุด ข้าพเจ้าแจ้งความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยยินดีอยู่เสมอ ที่จะได้รับหนังสือทุกอย่าง ที่จะชี้ให้เห็นเป็นพยานว่า คลองที่คิดจะทำนั้น คะเนราคาได้เท่านั้น และผลประโยชน์ที่จะคิดจากคลองนั้นจะได้เท่านั้นแน่

อนึ่ง ได้ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบ ในการที่จะตรวจทางนั้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยเต็มพระราชหฤทัย ให้ท่านไปเมืองชุมพรด้วยเรือกลไฟของไทย แต่ในเวลานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีสิ่งไรที่จะดำรัสแก่ท่าน

แจ้งความมาณวัน ฯ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔

ข้อสังเกต
๑. มงซิเออร์เดอลองก์ (M. Francois Deloncle) เป็นวิศวกรชาวฝรั่งเศส เข้ามาขออนุญาตขุดคลองในนามมงซิเออร์เดอเลสเซป ผู้บุกเบิกคลองสุเอซ แต่ในตอนแรก ม.เดอลองก์ก็มิได้นำจดหมายตำจา ม.เดอเลสเซปเข้ามา ฝ่ายสยามจึงมีข้อสงสัย แต่ภายหลังก็สามารถเคลียร์ตัวเองได้ ทำให้ฝ่ายสยามพอใจ

๒. รัชกาลที่ ๕ ทรงบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัมปทานในการขุดโดยทันที (คอนเสสชั่น = Concession) แต่ต้องการให้มีการสำรวจ (Survey) ก่อน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่เป็นเรื่องเร่งด่วนเหมือนที่ฝรั่งเศสต้องการ

๓. รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นกังวลเรื่องขัดใจกับฝ่ายอังกฤษ แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็แก้ต่างด้วยเหตุผลร้อยแปดว่า ไม่มีปัญหาและสามารถเคลียร์กันเองได้ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เห็นว่าอังกฤษ และฝรั่งเศสสามารถตกลงกันได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีวันจะเป็นไปได้

๔. ปรินซ์ออฟเวลส์คือ องค์มกุฎราชกุมารอังกฤษ ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแอดเวิร์ดที่ ๗ กษัตริย์อังกฤษเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจทางฝ่ายอังกฤษ

ในปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑) รัชกาลที่ ๕ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ม.เดอลองก์สำรวจคอคอดกระอย่างเป็นทางการ การสำรวจดังนี้กระทำโดยทีมงานฝรั่งเศสซึ่งมีผลประโยชน์แอบแฝงแต่เนื่องจากชื่อของนายเดอเลสเซปถูกนำมาอ้างอย่างถูกต้องที่ถู กเวลา ทำให้แผนการของฝรั่งเศสดูน่าเชื่อถือและมีน้ำหนัก แผนที่สำรวจคอคอดกระจึงเกิดขึ้นเป็นฉบับแรก และฉบับเดียวในสมัยรัตนโกสินทร์ ท่ามกลางความกังวลและความไม่แน่นอน ส่อให้เห็นพิษภัยของการสำรวจครั้งนี้

การที่สยามยอมให้ฝรั่งเศสสำรวจและทำแผนที่จุดยุทธศาสตร์ภายในประเทศของเราผลเสียก็คือฝรั่งเศสล่วงรู้ข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นก่อนใครแม้แต่ สยามเองก็ยังต้องเชื่อถือแผนที่ฉบับนี้ จุดอ่อนของมันคือ ข้อมูลด้านความมั่นคงรั่วไหลออกไปสู่อุ้งมือของศัตรู และมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียเปรียบในอนาคต สยามเราจะเสียดินแดนเพิ่มเติมหรือไม่ และแผนที่ฉบับนี้จะส่งผลอย่างไร เป็นเรื่องที่จะติดตามมา.

                                                                                                    จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๕ หน้า ๙๔-๑๑๙.

 

 

 

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Beyonce Knowles's profile


โพสท์โดย: Beyonce Knowles
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
68 VOTES (4/5 จาก 17 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เบี้ยวไม่ไหว! เจ้าของรถขยะจัดหนัก แก้เผ็ดถึงหน้าบ้านขำเรียกน้ำย่อย ตอน สีสันธรรมชาติทำไมสนมเมื่อออกจากวังหลวงจึงมีบุตรยาก? ฮ่องเต้ปูยีเปิดเผยความลับนี้ถอนผมหงอก ยิ่งถอนยิ่งหงอกจริงหรือไม่ ดูแลเส้นผมอย่างไรเมื่อเริ่มมีผมหงอก"ทุ่งบัวตอง" มหัศจรรย์ทางธรรมที่อยากให้ทุกคนได้มาชมเมื่อลูกค้าต่างชาติมาลองลำโพง เปิดเพลงเต้นกันมันจนลืมซื้อเลยน๊าในประวัติศาสตร์จีน ชีวิตของภรรยาทหารที่เสียชีวิตในสงครามชีวิตจะเป็นอย่างไร?หลายคนยังไม่รู้ เปิดใช้ซอสหอยนางรมแล้ว"ต้องทำแบบนี้"วัดป่าภูทับเบิก วัดสวย ในเพชรบูรณ์หิมะแรกแห่งปีที่ “ภูเขาเหล่าจุน” (老君山) งดงามดุจแดนสวรรค์เรือลาดตระเวน Admiral Nakhimov ค่าซ่อมสูงกว่า 200,000 ล้านรูเบิลเกือบสองเท่าของประมาณการเบื้องต้นหลังคาเขียวแห่ง Mykines: สถาปัตยกรรมที่งดงามท่ามกลางธรรมชาติหมู่เกาะแฟโร
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เมื่อลูกค้าต่างชาติมาลองลำโพง เปิดเพลงเต้นกันมันจนลืมซื้อเลยน๊าภูเขาน้ำแข็ง : ความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความสำคัญและอันตรายหลังคาเขียวแห่ง Mykines: สถาปัตยกรรมที่งดงามท่ามกลางธรรมชาติหมู่เกาะแฟโรหิมะแรกแห่งปีที่ “ภูเขาเหล่าจุน” (老君山) งดงามดุจแดนสวรรค์ในประวัติศาสตร์จีน ชีวิตของภรรยาทหารที่เสียชีวิตในสงครามชีวิตจะเป็นอย่างไร?
ตั้งกระทู้ใหม่