สมานแผลผ่าตัดอย่างมหัศจรรย์ ด้วยกาวจากหอยแมลงภู่
สวัสดีครับ ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำสมัยถูกคิดค้นจากนักคิดมากมายหลายเรื่องราว และจากหลายวงการ การสมานแผลผู้ป่วยก็เช่นกัน แต่เดิมแพทย์ใช้ด้ายเย็บแผลผู้ป่วย เมื่อแผลสมานดีแล้วก็ค่อยตัดด้ายออก ต่อมาก็มีการใช้ไหมละลาย โดยไหมจะละลายไปเองเมื่อครบกำหนดเวลา ปัจจุบันยังมีการใช้เทปร่วมกับซิป และกาวสังเคราห์เพื่อสมานแผล แต่วิธีนี้มีไม่น้อยที่ผู้ป่วยเกิดการอักเสบ และเจ็บปวดจากการเย็บ
แล้วใครล่ะจะคิดว่าวันหนึ่งเราจะใช้เมือกเหนียวๆ จากหอยแมลงภู่มาปิดบาดแผลแทนการเย็บ
การคิดค้นการสมานแผลผู้ป่วยยังดำเนินต่อไป และจากการสังเกตุว่าหอยแมลงภู่สามารถยึดเกาะวัสดุที่อยู่ในน้ำได้ดี แม้คลื่นทะเลแรงๆ หอยก็ยังคงยึดติดไม่หลุด จากกรณีนี้เองจึงทำให้ ดร.โรเจอร์ นารายาน (Roger Narayan) จากภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina State University) ได้ค้นพบสารยึดติดที่น่าจะช่วยสมานบาดแผลได้โดยไม่ต้องเย็บแผล สารดังกล่าวเป็นกาวธรรมชาติที่ได้จากหอยแมลงภู่พันธุ์ เชซาพีค เบย์ (Chesapeake Bay blue mussel) กาวดังกล่าวเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง (Mussel Adhesive Protein : MAPs) ที่มีชื่อว่า ไดไฮดรอกซีฟีนิลอะลานีน (dihydroxyphenylalanine) หรือที่รู้จักกันในชื่อโดปา (DOPA) ถูกผลิตออกมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยยึดตัวเองเอาไว้กับพื้นผิวใดๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ โลหะ เทฟลอน หรือ โพลิเมอร์ ต่างๆ รวมทั้งพื้นทรายได้อย่างเหนียวแน่น สารดังกล่าวยังเป็นสารที่ไม่มีพิษ ปราศจากสารฟอร์มัลดีไฮด์ และสามารถย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากกาวสังเคราะห์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์และอาจจะเกิดความเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ
ด้วยสมบัติดังกล่าว ทีมวิจัยจึงแยกโปรตีนจากหอยมาทดลองกับบาดแผลของมนุษย์ ผลปรากฏว่ามันทำงานได้ผลดีและไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน แต่นารายานยังไม่ค่อยพอใจกับผลเท่าไรนัก เขาคิดว่าน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเมือกหอยได้อีกเล็กน้อย พวกเขาจึงพยายามปรับปรุงสมบัติของมันโดยเติมเหล็กเข้าไปในโปรตีนดังกล่าวตามความรู้เดิมจากงานวิจัยก่อนหน้าของศาสตราจารย์โจนาธาน วิลเกอร์ (Jonathan Wilker) หนึ่งในทีมวิจัย ที่เคยศึกษามาแล้วว่ากาวของหอยแมลงภู่จะเหนียวขึ้นด้วยโมเลกุลของเหล็ก และทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด พวกเขาพบว่าเมือกกาวที่ได้มีความเหนียวมากขึ้น เนื่องจากเหล็กที่เติมเข้าไปทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างโปรตีนเพิ่มมากขึ้น ปฏิกิริยาดังกล่าวมีผลต่อความเหนียวของเมือกกาว อย่างไรก็ตาม พวกเขายังไม่ทราบกลไกที่เกิดอย่างแน่ชัด
ในอนาคต เมื่อเราเกิดบาดแผลที่ใหญ่ระดับที่ต้องทำการเย็บ เราอาจเพียงแวะไปที่ร้านขายยา แล้วบอกเภสัชกรประจำร้านว่า "ขอซื้อกาวสมานแผลหนึ่งหลอดครับ" ก็เป็นได้ แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังอยู่ในขั้นของการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้กาวที่ได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วยต่อไป แล้วพบกับเรื่องราวดีๆ กันใหม่คราวหน้าครับ....mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
- หนังสือ Science Illustrated October 2013
- http://gajitz.com/flexing-mussels-natural-glue-printers-make-stitches-safer/
หนังสือ Science Illustrated October 2013 และ
http://gajitz.com/flexing-mussels-natural-glue-printers-make-stitches-safer/