ดาราศาสตร์กับชาวมุสลิม
ดาราศาสตร์หรือในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า แอสโตรโนมี (Astronomy) และชาวมุสลิม (โดยเฉพาะชาวมุสลิมในภาคใต้) จะเรียกวิชาดาราศาสตร์เป็นภาษาอาหรับว่า อิลมู อัลฟาลัก จะมีความหมายว่า วิชาการโคจรวัตถุท้องฟ้า และดาราศาสตร์ หรือ อัลฟาลัก ถือว่าเป็นวิชาที่เก่าแก่มากวิชาหนึ่งที่เริ่มต้นจากการสงสัยแล้วสังเกตของมนุษย์ เป็นวิชาความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัยจนมาถึงปัจจุบัน และยังมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ภาพท่ี 1 ภาพวาดแสดงนักดาราศาสตร์ชาวมุสลิมในยุคกลาง
ดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) เป็นวิชาศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า เป็นวิชาที่ฮาลาล (วิชาที่ไม่ผิดกฏของศาสนาอิสลาม) อนุมัติในอิสลาม ถือว่าเป็นวิชาที่บังคับสำหรับสังคมมุสลิม (ฟารดูกีฟายะฮ์) เนื่องจากการปฏิบัติศาสนากิจในแต่ละวันของชาวมุสลิมล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้ทางดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) ทั้งสิ้น แต่มีอีกวิชาหนึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า แอสโตรโลยี (Astrology) ซึ่งคนไทยเราจะเรียกว่าโหราศาสตร์ หรือในภาษาอาหรับจะเรียกว่า อิลมูลตานัจจิมีน (علم التنجيم) ซึ่งเป็นวิชาที่ฮารามหรือต้องห้ามในอิสลาม เพราะเป็นวิชาที่ใช้การพยากรณ์ชะตาชีวิตในอนาคตของบุคคล โดยอาศัยตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้า ซึ่งต่างกับดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) จะเป็นการพยากรณ์หรือการคาดคะเนทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ และการคำนวณทางวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่แน่นอน เช่นการคำนวณหาเวลาการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แม้กระทั้งคำนวนหาวันเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์ต่างๆทางดาราศาสตร์ เช่น สุริยุปราคาจันทรุปราคา และปรากฏการณ์อื่น แต่เป็นที่น่าเสียดายเรื่องจาก
ภาพที่ 2.1 ภาพที่ 2.2
ภาพที่ 2.1 ภาพหอสังเกตการณ์อูลุ๊ก บายค์ (Ulugh Beg) ในเมืองซามาร์คันด์ (Samarqand) ประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน
ภาพที่ 2.2 ภาพวาดการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์หอสังเกตการณ์อูลุ๊ก บายค์ (Ulugh Beg)
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่า วิชาดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) คือวิชาเดียวกันกับโหราศาสตร์ ซึ่งความจริงแล้วเป็นศาสตร์ที่แตกต่างกัน และจากความเข้าใจผิดดังกล่าวจึงส่งผลให้วิชาดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในสังคมมุสลิม
ภาพที่ 3 ภาพแสดงดาราจักรที่อยู่ไกลโพ้นในจักรวาล จากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล
ปัจจุบันวิชาดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) มีความก้าวหน้าไปมาก แบ่งเป็นรายวิชาย่อยๆที่มีความละเอียดและศึกษาลึกลงไปในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุฟ้าต่างๆ ตลอดจนการเดินทางในอวกาศ ประกอบกับเครื่องมือต่างๆได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นักดาราศาสตร์จึงสามารถศึกษา วัตถุที่อยู่ในหวงอวกาศลึก (Deep sky object) ได้สะดวกขึ้นและมีความแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตามวิชาดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) จะเกี่ยวข้องกับหลักชารีอะฮ์อิสลาม เนื่องจากวิชา อัลฟาลัก มีความจำเป็นต่อมุสลิมทุกคน
วิชาดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) มีความจำเป็นต่อมุสลิมทุกคน ในกรณีต่อไปนี้
1. ใช้กำหนดเวลาปฏิบัติศาสนกิจ (ศอลาต) หรือละหมาดในแต่ละเวลาของแต่ละวันโดยจะใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ที่ขึ้น-ตกในแต่ละวันเป็นหลัก
ภาพที่ 4 แสดงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่ใช้ในการกำหนดเวลาปฏิบัติศาสนกิจ (ศอลาต) หรือละหมาด ทั้ง 5 เวลา
2. ใช้กำหนดทิศกิบลัต (มหานครเมกะ) ที่มุสลิมทุกคนต้องผินหน้าเข้าหาเวลาศอลาต (ละหมาด) หรือทำกิจกรรมบางอย่างในศาสนาอิสลาม
ภาพที่ 5 แสดงการชี้ตำแหน่งมหานครเมกะ (ทิศกิบลัต)
3. ใช้กำหนดวันเริ่มต้นเดือนกอมารียะฮ์ โดยการสังเกตตำแหน่งดวงจันทร์เป็นหลัก จะสังเกตจันทร์เสี้ยวแรกเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นเดือนใหม่
ภาพที่ 6 ภาพจันทร์เสี้ยวแรก หลังจากดวงอาทิตย์ตกดินเพื่อจะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนใหม่และปีอิจเราะฮ์ศักราชใหม่ ของวันที่ 1 มุฮัรรอม ฮ.ศ.1434 ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
4. ใช้กำหนดเดือนจันทรคติของอิสลาม หรือเดือนกอมารียะฮ์ทั้ง 12 เดือน ของปีฮิจเราะฮ์ศักราช
5. ใช้กำหนดวันสำคัญของอิสลามในปีฮิจเราะฮ์ศักราช เช่น อิดิลอัฏฮา, อิดิลฟิตรี, 1 รอมฏอน, 1 มุฮัรรอม (ปีใหม่ของปฏิทินอิสลาม) เป็นต้น
ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าวิชาดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) มีความสำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับสังคมมุสลิมมาเป็นเวลาช้านาน เนื่องจากต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องทางด้านดาราศาสตร์ (อัลฟาลัก) เช่น การสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก เพื่อใช้ในการกำหนดวันเริ่มต้นเดือนกอมารียะฮ์(เดือนใหม่) รวมทั้งการกำหนดเวลาของการปฏิบัติศาสนกิจที่เกี่ยวข้องของชาวมุสลิมทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นด้วย
เรียบเรียงโดย รอยาลี มามะ
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
แหล่งข้อมูลมูลอ้างอิง
หนังสือ อัลฟาลัก ดาราศาสตร์ปัฏิบัติสำหรับมุสลิม “นิแวเต๊ะ หะยีวามิง”
อ้างอิงภาพ
- รูปที่ 1 http://www.electrummagazine.com/2012/11/muslim-astronomers-in-the-islamic-golden-age/
- รูปที่ 2.1,2.2 http://www.crescentwatch.org/cgi-bin/cw.cgi
- รูปที่ 3 http://th.wikipedia.org/wiki/กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
- รูปที่ 4 http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=842
- รปที่ 5 http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=30&id=927
- รูปที่ 6 http://www.pilk.net/update3.centralasia.html