ฝึกให้จิต 'สงบ' เมื่อถึง 'วาระสุดท้าย'
เราทุกคนเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ฉายแสง บ้างก็เพิ่งพ้นขอบฟ้า บ้างก็อยู่กลางฟ้า และบ้างก็กำลังคล้อยต่ำ แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหนก็ตาม ในที่สุดก็ต้องลับขอบฟ้าไป เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น...
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ผู้ร่วมบุกเบิกค้นคว้าหนทางแห่งการตายดีในสังคมไทย บอกว่า อันที่จริงคนเราทุกคนล้วนรู้อยู่แก่ใจว่า "ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราก็จะต้องตาย"และทันทีที่นึกถึงความตายของตัวเองแล้ว ส่วนลึกในจิตใจยังยอมรับไม่ได้กับการตายของตนเองที่ยังมาไม่ถึง เพราะหลายคนยังทำใจไม่ได้ที่จะต้องจากทรัพย์ พ่อแม่ ลูก เมีย สามี อันเป็นที่รักไป
ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ว่า "ความตายทั้งทางกายและทางวิญญาณ เป็นจุดรวมของความกลัวทุกชนิด"
จึงไม่แปลกที่มนุษย์เกือบทุกคน กลัวความตาย ไม่อยากพูดถึง ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากให้มาเยือนตนเองหรือผู้คนที่แวดล้อมอยู่รอบตัว และไม่สนใจจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความตาย ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเป็นผลให้ความกลัวตายเพิ่มเป็นทวีคูณ กับทั้งทำให้ตั้งอยู่บนความประมาท คิดว่าความตายยังอยู่ไกลตัว โดยพยายามผลักความตายให้ออกห่างตนเองให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของมนุษย์
เวลาที่เผชิญกับปัญหา สิ่งที่ทำให้เราทุกข์และเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายนั้นส่วนใหญ่มาจากความคิดฟุ้งซ่านของเราเอง ยิ่งคิดยิ่งเกิดความรู้สึกทางลบต่อสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล กลัว โกรธ และหากยังไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดก็จะยิ่งคิดตอกย้ำและเชื่อว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นความจริง
บางคนยังปรุงแต่งต่อไปจนแยกไม่ออกว่าอะไรคือความจริงอะไรคือความคิดของเรา สุดท้ายก็ส่งผลออกมาเป็นพฤติกรรมความเครียดมากมายที่ยิ่งทำให้เราออกจากปัญหาไม่ได้เสียที เพราะทำให้เสียพลังงาน พลังกาย พลังใจ ไปกับความคิดจนขาดสติปัญญาที่จะมองเห็นและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
“หนทางที่จะนำเราออกจากวังวนของวงจรความคิดความรู้สึกวิตกกังวลจากการเผชิญหน้ากับความตายได้นั้นคือ การฝึกใจและสติ”
การฝึกใจ ให้คุ้นเคยกับความตายจะช่วยให้เรายอมรับความตายได้มากขึ้น และสามารถเผชิญหน้ากับความตายด้วยใจสงบ แต่ยังมีอีกสองสามปัจจัยที่สำคัญด้วยเช่นกัน ได้แก่ การหมั่นทำความดี สร้างกุศลอยู่เสมอ ผู้ที่ได้ทำกรรมดีไว้ตลอดชีวิต เมื่อเผชิญกับความตาย ย่อมมีความอุ่นใจและมั่นใจว่าจะได้ไปสุคติ ตรงกันข้ามกับผู้ที่ทำกรรมชั่ว ย่อมมีความทุกข์เมื่อวาระสุดท้ายใกล้จะมาถึง
การฝึกสติ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การรักษาจิตให้เป็นปกติ ไม่ตื่นตระหนก หวาดกลัว หรือยินดียินร้าย จะช่วยให้จิตสงบได้ในยามที่ถือว่าเป็นวิกฤตของชีวิต คนที่ไม่มีสติ เมื่อร่างกายเจ็บปวด ใจก็จะทุกข์ทรมานไปด้วย แต่ผู้ที่มีสติเข้มแข็ง แม้กายจะเจ็บปวด แต่ใจจะไม่ทุกข์ไปกับร่างกาย สติช่วยให้ใจไม่ติดยึดกับความเจ็บปวด หรือไปยึดเอาความเจ็บปวด แต่รับรู้ว่ามีความปวดเกิดขึ้นเท่านั้น
ดร.นพ.โกมาตร ยังย้ำว่า หากเราฝึกฝนการทำสมาธิด้วยการตามลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดการมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ จะช่วยให้เรารู้ทันและเข้าใจกระบวนการความคิดที่เรายึดติด เมื่อฝึกบ่อยๆ จะช่วยตัดวงจรความคิดความรู้สึกได้เร็วขึ้น ทำให้จิตนิ่ง สงบ แจ่มใส มีพลัง กลับมารับรู้ความรู้สึกที่แท้จริงได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญจะช่วยบ่มเพาะความเมตตาในใจ ก่อเกิดมุมมองทางบวกต่อปัญหา ซึ่งจะช่วยให้เรายอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เผชิญและรับมือกับปัญหาได้โดยไม่ทุกข์อีกต่อไป
กล่าวได้ว่า ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนสำหรับพวกเราทุกคน การเตรียมตัวเอาไว้ให้พร้อมจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ยิ่งเราเตรียมตัวไว้พร้อมเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งหวาดกลัวความตายน้อยลงเท่านั้น และทำให้การจากตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานมากอย่างที่คิดนั่นเอง
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
โพสท์โดย: moses