นกหาอาหารตอนเช้า แต่เก็บไว้กินช่วงเย็น
จากการศึกษาพฤติกรรมของนกติ๊ดสีน้ำเงิน, นกติ๊ดใหญ่ และนกพันธุ์เล็กอีกหลายตัวพบว่า แม้นกจะออกหาอาหาร จับหนอนต่างๆ ตั้งแต่เช้า แต่ยังไม่กินทันที แต่จะเก็บไว้จนกระทั่งตอนบ่าย ทั้งยังเป็นกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของพวกนักล่าทั้งหลาย
การศึกษาครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ศึกษานกกว่า 2,000 ตัว โดยติดแถบสัญญาณวิทยุเล็กๆ เอาไว้ที่ตัวนก ซึ่งจะส่งสัญญาณมายังเครื่องรับเมื่อนกบินลงมาจิกอาหารที่ทางทีมงานซ่อนไว้ในป่าวายแธม ทางตะวันตกของเมืองออกซ์ฟอร์ด อาหารที่เตรียมไว้จะย้ายไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน ที่นกมีพฤติกรรมเช่นนี้ นักวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะนกต้องการสร้างหลักประกันให้กับตัวเอง เพราะตอนเช้านกตัวยังเบาอยู่ทำให้เคลื่อนไหวได้เร็ว จากนั้นจึงค่อยกินเหยื่อตอนบ่ายหรือเย็น เพื่อจะมีไขมันเพียงพอไปตลอดคืน และจะสำคัญมากในฤดูหนาวที่อาหารขาดแคลน ซึ่งสำหรับนกตัวเล็กแล้ว ถ้าไม่ได้กินอาหารเพียงแค่วันเดียวก็อาจตายได้ นอกจากนี้ การออกหากินแต่เช้าก็ไม่เสี่ยงชีวิตจากพวกนักล่าด้วย
นักสัตววิทยา ดาเมียน ฟารีน เผยว่า "นกต้องสะสมไขมันไว้ในร่างกายเพื่อไม่ให้หิวตายในช่วงกลางคืน นกจึงต้องออกหาอาหารแต่เช้าในเวลาที่ร่างกายของพวกมันมีความปราดเปรียวที่จะหลบหลีกจากผู้ล่าได้ จากการศึกษาของเราพบว่า ในตอนบ่ายเราเอาอาหารไปวางไว้เช่นกัน แต่นกไม่ค่อยจะมากินกัน ผิดกับตอนเช้าที่นกลงมาจิกอาหารที่ซ่อนไว้เกือบทั้งหมด ทำให้เรามั่นใจว่านกมีพฤติกรรมหาอาหารตอนเช้า จากนั้นค่อยกินในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนตะวันตกดิน เพื่อเป็นพลังงานยามค่ำคืนในฤดูหนาวที่ยาวนาน
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://th.wikipedia.org/