มารู้จักสาหร่ายสีแดงจากสแกนดิเนเวียกัน
สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประวัติการค้นพบและความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ สาหร่ายจัดเป็นแหล่งอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการเนื่องจาก มีไขมันต่ำ มีโปรตีน เส้นใยอาหาร กรดไขมันไม่อิ่มตัว รวมทั้งวิตามิน เกลือแร่อยู่หลายชนิด
สาหร่ายสามารถแบ่งตามขนาดออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- สาหร่ายขนาดเล็กหรือสาหร่ายไมโครแอลจี (Microalgae) สามารถพบได้ทั้งที่อยู่บริเวณพื้นทะเล ริมฝั่งทะเลหรืออยู่ในน้ำทะเลเช่นพวกไฟโตแพลงตอน เป็นต้น
- สาหร่ายขนาดใหญ่หรือสาหร่ายมาโครแอลจี (Macroalgae) หรืออาจเรียกว่า ซีวีด (Seaweeds) สามารถพบได้บริเวณริมฝั่งทะเลซึ่งจะเติบโตแตกต่างกันไปตามระดับความลึกของน้ำทะเล (Gupta and Abu-Ghannam, 2011)
สาหร่าย ฮีมาโตคอกคัส พลูวิเอลิส (Haematococcus pluvialis) ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน จัดเป็นสาหร่ายขนาดเล็กที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหาร เมื่อสาหร่ายชนิดนี้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ขาดอาหารและน้ำ เผชิญกับแสงแดด ความร้อนหรือความหนาวเย็นที่มากเกินปกติ สาหร่ายจะปรับกลไกการทำงานของเซลล์ให้ผลิตสารสีแดงซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่า “แอสตาแซนธิน” ขึ้นมาเก็บสะสมไว้ใช้เป็นเสมือนเกราะที่ทำหน้าที่ปกป้องนิวเคลียสของเซลล์จากภาวะขาดน้ำและอาหารที่เกิดขึ้น จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าสาหร่าย ฮีมาโตคอกคัส พลูวิเอลิส ที่ผลิตแอสตาแซนธินขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องเซลล์ จะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ แม้จะอยู่ในสภาวะขาดน้ำและอาหาร ได้นานกว่า 20 ปี เมื่อกลับมาอยู่ในสภาวะปกติสาหร่ายก็สามารถปรับตัวกลับมาเป็นสาหร่ายไมโครแอลจีสีเขียวได้อีกครั้งหนึ่ง (Kumar Ashok 2006, Capelli and Cysewski 2007)
แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) เป็นสารในกลุ่มแซนโทรฟิลล์ ตระกูลแคโรทีนอยด์ที่มีสีชมพูถึงแดงจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าแอสตาแซนธินมีความสามารถในการยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของออกซิเจนโมเลกุลเดี่ยวหรือค่าแสดงการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าโคเอนไซม์ คิวเทน 800 เท่า สูงกว่าคาทีซินซึ่งเป็นสารสกัดจากชาเขียว 560 เท่าและมีค่าสูงกว่าวิตามินซี 6,000 เท่า (Nishida et al. 2007) จากการศึกษาเพิ่มเติมของ Shimidzu และคณะ พบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินอี 550 เท่า และสูงกว่าเบต้าแคโรทีน 40 เท่า
จากผลของการศึกษาที่พบว่าแอสตาแซนธินเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงจึงมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ถึงการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพและความงามหลากหลายด้าน ดังนี้
1. ผลการศึกษาถึงประโยชน์ต่อสภาพผิว
Yamashita E.ได้ทำการวิจัยทางคลีนิคโดยศึกษาแบบ Single Blind Randomized Control ในอาสาสมัครหญิงที่อายุประมาณ 47 ปี จำนวน 49 คน โดยให้รับประทานแอสตาแซนธิน 2 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการศึกษาพบว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 จนถึงสัปดาห์ที่ 6 ของการทดลอง อาสาสมัครรู้สึกว่าสุขภาพผิวดีขึ้น คือ ความแห้งและหยาบกระด้างของผิวลดลง ผิวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น ความยืดหยุ่นมากขึ้น ริ้วรอยลดลง
2.ผลการศึกษาถึงประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด
Iwamoto T. และคณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองถึงฤทธิ์ในการต้านการเกิด แอล ดี แอล ออกซิเดชั่น (LDL Oxidation) ของแอสตาแซนธิน เทียบกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่นเช่น วิตามินอี และลูทีน ซึ่งพบว่าแอสตาแซนธินมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด จากการศึกษาโดยวัดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และแอล ดี แอล คอเลสเตอรอลในเลือดของอาสาสมัครที่ทานแอสตาแซนธินเสริมที่ 1.8- 21.6 มิลลิกรัมเป็นเวลา 14 วันพบว่ามีการไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ค่า แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล lag time ซึ่งแสดงค่าการต้านการออกซิเดชั่นเพิ่มขึ้นแปรผันตามปริมาณของแอสตาแซนธิน นักวิจัยจึงสรุปว่าการทานแอสตาแซนธินเสริมอาจช่วยในการลดการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้
3.ผลการศึกษาถึงประโยชน์ต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2
Uchiyama และคณะได้ทำการศึกษาวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการแล้วค้นพบว่าแอสตาแซนธินมีคุณสมบัติในการป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ตับอ่อนจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกายส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือด (Fasting blood sugar) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังเพิ่มความไวต่อการทำงานของอินซูลินกับเซลล์ภายในร่างกายอีกด้วย
4.ผลการศึกษาถึงประโยชน์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและการฟื้นฟูสภาพ
จากการศึกษาของ Sawaki และ คณะ ที่ประเทศญี่ปุ่นพบว่าหลังจากการให้นักกีฬาวิ่ง 1,200 เมตรรับประทานแอสตาแซนธินต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ส่งผลให้ลดการเกิดการสะสมของกรดแลคติกอันเป็นสาเหตุของการทำให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพออย่างมีนัยสำคัญ
สรุป
แม้ว่ามนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นกว่าอดีต แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังอยากมีสุขภาพที่แข็งแรงอีกทั้งยังมีผิวพรรณที่สดใสเปล่งปลั่ง ดังนั้นผู้ที่รักสุขภาพและปรารถนาให้ตัวเองดูดีสวยหล่ออยู่เสมอ จึงพยายามหาวิธีลดและชะลอความเสื่อมของผิวพรรณ ทำให้แนวคิดในการดูแลสุขภาพด้วยการชะลอความเสื่อมและชราภาพได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก วิธีง่ายๆที่สามารถปฏิบัติได้คือการดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ด้วยการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อให้ได้คุณค่าสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการครบถ้วนและสมดุล โดยเฉพาะผักสดและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งแอสตาแซนธินที่สกัดได้จากสาหร่าย Haematococcus pluvialis นี้ จัดเป็นแหล่งกำเนิดใหม่ของสารต้านอนุมูลอิสระที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกในอนาคต