วิธีปอกผลไม้!!
ทุเรียน เป็น "ราชาแห่งผลไม้" ฉายานี้คาดว่าน่าจะมาจากรูปร่างของผลที่มีขนาดใหญ่ มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ หนามรอบผลคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีรสชาติอร่อย หวานเล็กน้อย ไม่แข็งไม่นิ่ม ไม่เยิ้มน้ำจนเกินไป ยากที่จะหาผลไม้อื่นมาเทียบเคียง โดยทั่วไปทุเรียนเป็นผลไม้ที่ออกผลตามฤดูกาล ซึ่งตรงกับฤดูกาลของมังคุดและเงาะ ในภาคตะวันออกของไทยคือเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และในภาคใต้คือเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกคือ หมอนทอง, ชะนี, ก้านยาว, และกระดุม ปกติทุเรียนจะมีราคาสูงกว่าผลไม้ไทยอื่นๆ ปีนี้หมอนทองขายชั่งทั้งผลในกรุงเทพราคากิโลกรัมละ 80 บาท
ผู้ซื้อทุเรียนจะเลือกทานทุเรียน เฉพาะเยื่อหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกว่า "เนื้อ" หรือ "พู" ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 15-30% ของน้ำหนักรวมทั้งผล แต่อันที่จริงเมล็ดทุเรียนหากนึ่งสุกก็ทานได้ เปลือกทุเรียนก็สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ทุเรียนสามารถรับประทานในรูปแบบเนื้อทุเรียนสด ทุเรียนกวน ทุเรียนทอด หรือผสมในอาหาร-ขนม เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ท๊อฟฟี่ทุเรียน เป็นต้น ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง มีกำมะถันสูง มีวิตามินซีสูง มีโพแทสเซียม กรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิกทริปโตเฟน เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันอย่างดี จึงมีการแนะนำให้บริโภคทุเรียนแต่น้อย ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ร้อนใน และรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว มีความเชื่อโบราณบอกว่าทุเรียนมีคุณสมบัติที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกาย อาจทำให้เหงื่อออก แต่แก้ไขได้โดยรินน้ำลงในเปลือกทุเรียนหลังจากรับประทานเนื้อแล้วและดื่มน้ำนั้น อีกวิธีหนึ่งคือให้รับประทานมังคุดตามหลังทุเรียน เพราะมังคุดมีคุณสมบัติเป็นธาตุเย็น จะไปช่วยดับธาตุร้อนของทุเรียนได้ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อโบราณห้ามสตรีมีครรภ์ หรือผู้มีความดันเลือดสูงรับประทานทุเรียน รวมทั้งเมื่อทานทุเรียนแล้ว ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเข้าไปเด็ดขาด เพราะระดับกำมะถันสูงในเนื้อทุเรียนเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายยับยั้งการสร้างเอนไซม์อัลเดไฮด์ ดีไฮโดรเจเนส ซึ่งทำให้ร่างกายลดความสามารถในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายลงไปถึง 70%
วางใจได้ทุกลูก เพราะน้องชายคัดเลือกทุเรียนมาแล้ว แบบนี้มีแนวโน้มว่า หากจะซื้อทุเรียนเพิ่ม คงจะต้องเป็นเจ้านี้แน่นอน
สับปะรด มีสรรพคุณทางสารเคมีคือ มีเอนไซม์ย่อยโปรตีน มีเกลือแร่ และวิตามินซีจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้าจึงนิยมนำน้ำคั้นสับปะรดมาหมักเนื้อหมักหมู และมีสรรพคุณทางสมุนไพรคือ ช่วยบรรเทาอาการแผลเป็นหนอง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้ร้อนกระสับกระส่ายกระหายน้ำ ช่วยบรรเทาอาการโรคบิด ช่วยย่อยอาหารพวกโปรตีน แก้ท้องผูก แก้โรคนิ่ว แก้ส้นเท้าแตก เป็นต้น
สละ เป็นพืชในวงศ์ปาล์ม อยู่ในสกุลเดียวกับระกำ สละ ออกผลเป็นทะลายเรียกว่า "คาน" ในแต่ละคานมีทะลายย่อยเรียกว่า "กระปุก" ผลของสละเป็นทรงยาวรี เมื่อผลยังอ่อนมีสีน้ำตาล เปลือกเป็นเกล็ดซ้อนกัน เมื่อผลแก่ จะมีสีแดงอมน้ำตาล บนผลมีขนแข็ง สั้น คล้ายหนาม ลักษณะของผลสละต่างจากผลระกำคือ มีเมล็ดเล็กกว่า สีเมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้มกว่า เนื้อสละเป็นสีเหลืองอ่อน ส่วนเนื้อระกำเป็นสีเหลืองอมส้ม และสละจะมีกลิ่นหอมมากกว่า
ในเมืองไทย พันธุ์สละที่นิยมปลูกคือ พันธุ์เนินวง ผลหัวท้ายเรียว สีส้มอมน้ำตาล หนามยาว ผลดิบฝาดเปรี้ยว ผลสุก หวานหอม เมล็ดเล็ก, พันธุ์หม้อ ผลยาว ปลายแหลมเป็นจะงอย เปลือกสีแดงเข้ม, พันธุ์สุมาลี ทรงต้นคล้ายระกำ ผลป้อมสั้น เนื้อเป็นสีส้มคล้ายระกำ เป็นต้น สละ นิยมทานผลเป็นผลไม้สด หรือนำไปทำน้ำผลไม้ ทำสละลอยแก้ว และนำไปสกัดกลิ่นเพื่อใช้แต่งกลิ่นอาหาร
วิธีปอกสละ นำผลสละประมาณ 4-8 ลูกมาใส่ในตะกร้าโปร่ง แล้วเขย่าหรือร่อนให้หนามรอบผลสละร่วง จะได้ปอกเปลือกสละได้สะดวกและรวดเร็ว จับเปลือกส่วนก้นของผลสละแล้วบิดเล็กน้อย เปลือกสละก็จะหลุดร่อนออกจากผล แต่อย่าบิดจนเปลือกขาด ควรแกะเปลือกแบบหมุนเปลือกเป็นเกลียว จะช่วยให้ปอกเร็วและง่าย เหตุที่แนะนำให้ปอกเปลือกโดยบิดส่วนก้นเพราะส่วนก้นจะมีความเหนียวและเปลือกหนากว่าส่วนขั้ว