หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

คน (ไม่) สำคัญ : วิลเลียม เบย์ลิส และ เออร์เนสต์ สตาร์ลิง ผู้ค้นพบฮอร์โมน

โพสท์โดย moses

สฤณี อาชวานันทกุล

วิลเลียม เบย์ลิส

ในสังคมเร่งรีบของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ดูเหมือนจะหมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ยังคงทำงานด้วยความเร็ว (หรือความเชื่องช้า แล้วแต่มุมมอง) เท่ากับบรรพบุรุษยุคหิน เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่การดูแลรักษาสุขภาพกำลังอยู่ในกระแสนิยมของคนสมัย ใหม่ โดยเฉพาะ “มนุษย์เงินเดือน” ทั่วโลก คนจำนวนมากไม่หยุดยั้งอยู่เพียงแค่การรักษาสุขภาพให้ดีเท่านั้น หากยังพยายามใช้วิธีการ “ฝืนธรรมชาติ” มากมายหลายวิธีเพื่อให้ตัวเองดูเด็กกว่าวัย แข็งแรงผิดปรกติ หน้าตาดีกว่าที่พ่อแม่ให้มา ฯลฯ

หนึ่งในวิธีการซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิง “วัยทอง” จำนวนไม่น้อยคือ กระบวนการ “ทดแทนฮอร์โมน” (Hormone Replacement Therapy หรือย่อว่า HRT) ซึ่งเป็นวิธีฉีดฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น estrogen เข้าไปในร่างกาย ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยชะลอกระบวนการแก่ชราตามธรรมชาติได้ นอกจากนั้น HRT ยังกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ต้องการแปลงเพศบางรายที่ต้องการฮอร์โมนหลักของ เพศสภาพที่ตัวเองต้องการเป็น (testosterone สำหรับเพศชาย หรือ estrogen สำหรับเพศหญิง) เพื่อช่วย “ขับเน้น” ลักษณะของเพศที่ต้องการให้ออกมาเด่นชัดยิ่งขึ้น

ยังไม่นับการใช้สารกระตุ้นที่เรียกว่า สเตอรอยด์ (steroid) ซึ่งแน่นอนว่ามอบ “ความแข็งแรงเกินธรรมชาติ” ชั่วคราวให้แก่นักกีฬา แบบมักง่ายและไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต (growth hormone) ซึ่งผู้เลี้ยงสัตว์หลายรายฉีดให้ไก่ วัว และสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพื่อเร่งให้สัตว์เหล่านี้อ้วนท้วนสมบูรณ์ผิดธรรมชาติ ฮอร์โมนที่ฉีดให้สัตว์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา “เด็กโตก่อนวัย” ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิง

ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะฟันธงได้อย่างเด็ดขาดว่าเป็นเรื่องผิดหรือ ถูกเสมอไป แต่อย่างน้อยก็นำไปสู่คำถามว่า ความพยายามที่จะฝืนธรรมชาติเหล่านี้จะทำให้เรายิ่งยึดติดอยู่กับรูปลักษณ์ ภายนอก จนหลงลืมไปว่า “ความไม่เที่ยง” เป็นความเที่ยงแท้ของชีวิตหรือไม่ ?

ความทุรนทุรายของมนุษย์ที่จะฝืนสังขารตัวเองคงเบาบางลงมาก หากนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยค้นพบฮอร์โมน (hormone) “ผู้นำส่งสารเคมี” จากเซลล์หนึ่งหรือกลุ่มเซลล์ไปยังเซลล์อื่น ๆ ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (multicellular organism) คือมนุษย์ สัตว์และพืช เซลล์ที่ผลิตฮอร์โมน (ซึ่งรวมกันเป็นอวัยวะเรียกว่า “ต่อมไร้ท่อ” หรือ endocrine gland) จะปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ของเหลวชนิดอื่นๆ ในร่างกาย หรือเนื้อเยื้อใกล้เคียง หน้าที่ของฮอร์โมนคือการ “ส่งสัญญาณ” ให้เซลล์ผู้รับสัญญาณทำงานหรือหยุดทำงาน เช่น กระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโต กระตุ้นหรือยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมกระบวนการสร้างและสลาย (metabolism) ในร่างกาย

ฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการที่ธรรมชาติใช้กำหนด “ช่วงชีวิต” ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ นับจากวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น วัยมีครอบครัว และวัยทอง

การทำงานของฮอร์โมนและผลกระทบของฮอร์โมนต่อสุขภาพนั้นเป็นหนึ่งในหัวข้อยอด ฮิตที่อยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก แต่เรื่องราวของการค้นพบฮอร์โมนก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในเมื่อการค้นพบนั้นมี “บทเรียน” สอนเราหลายเรื่อง นับตั้งแต่บทบาทที่มองข้ามไม่ได้ของ “โชค” ในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงประเด็นทางศีลธรรมของการทรมานสัตว์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ค้นพบฮอร์โมนเป็นคู่แรก (“คู่” ไม่ใช่ “คน” เพราะพวกเขาทำงานด้วยกัน) เป็นคน (ไม่) สำคัญที่มีคนนอกวงการแพทย์รู้จักชื่อเสียงเรียงนามน้อยมาก

อลัน ไลต์แมน (Alan Lightman) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์และนักเขียนร่วมสมัยที่ผู้เขียนชื่นชอบ เล่าเรื่องการค้นพบฮอร์โมนโดยบังเอิญไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง “Wheels of Fortune” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science & Spirit (http://www.science-spirit.org/printerfriendly.php?article_id=625) จึงขอแปลและเรียบเรียงบางตอนมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

เออร์เนสต์ สตาร์ลิง

อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสุนัขที่เบย์ลิสและสตาร์ลิงใช้ในการทดลองจนค้นพบฮอร์โมน

“…ย้อนไปกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว ในวันหิมะตกวันหนึ่งของเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๒ นักวิทยาศาสตร์ ๒ คนฉีดมอร์ฟีนให้สุนัขหนัก ๖ กิโลกรัม ผ่าหน้าท้องมันออก แล้วสอดหลอดโลหะยาว ๆ ที่เรียกว่า cannula เข้าไปในตับอ่อน ในขณะที่สุนัขตัวนั้นนอนพะงาบ ๆ อยู่ในอ่างน้ำเกลือ ชีวิตแขวนอยู่บนสายออกซิเจนจากปั๊ม นักวิทยาศาสตร์ก็เทกรดไฮโดรคลอริกชนิดอ่อนเข้าไปในลำไส้เล็กของมัน เพื่อเลียนแบบผลลัพธ์จากการย่อยสลายอาหารบางส่วนในกระเพาะอาหาร หลังจากที่ทำแบบนี้ได้ ๒ นาที น้ำย่อยจากตับอ่อนก็เริ่มหยดออกมาจาก cannula อย่างช้า ๆ ในอัตราที่วัดได้เท่ากับ ๑ หยดต่อทุก ๆ ๒๐ วินาที

“การทดลองที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ วิลเลียม เบย์ลิส (William Bayliss) และเออร์เนสต์ สตาร์ลิง (Ernest Starling) เพียงแค่กำลังทำซ้ำการทดลองเรื่องระบบการย่อยอาหารที่มีคนทำมาก่อนแล้ว เป็นที่รู้กันในแวดวงวิทยาศาสตร์สมัยนั้นว่า เมื่ออาหารที่ถูกย่อยสลายไปแล้วบางส่วนเดินทางจากกระเพาะอาหารไปถึงลำไส้เล็ก จะมีอะไรสักอย่างกระตุ้นให้ตับอ่อนปล่อยของเหลวพิเศษออกมาช่วยในการย่อยสลายอาหาร แต่นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นแทบทุกคนก็ปักใจเชื่อด้วยว่า อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่ง “สัญญาณ” ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทางระบบประสาท (nervous system) เพียงอย่างเดียว “เรื่องใหม่” ที่เบย์ลิสและสตาร์ลิงพยายามทำในการทดลองของพวกเขาคือ พยายามค้นหาว่าเส้นประสาทเส้นไหนเป็นตัวส่งสัญญาณให้ตับอ่อนเริ่มหลั่งน้ำย่อยออกมา

“นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองทำการทดลองต่อด้วยการมัดปลายทั้งสองข้างของลำไส้เล็กส่วนกลาง ซึ่งศัพท์การแพทย์เรียกว่า jejunum แล้วก็ผ่าตัดเอาเส้นประสาททั้งหมดออกอย่างชำนาญ ทิ้งให้ jejunum ยังเชื่อมติดกับตัวสุนัขด้วยเส้นเลือดแดงและดำเท่านั้น ในเมื่อเส้นประสาททั้งหมดถูกทำลาย พวกเขาก็คาดว่าตับอ่อนจะต้องหยุดหลั่งน้ำย่อยแน่ ๆ

“เบย์ลิสและสตาร์ลิงจึงประหลาดใจมากเมื่อพบว่า ขณะที่พวกเขาเทน้ำกรดอ่อน ๆ ลงไปใน jejunum ที่ไร้ซึ่งเส้นประสาทใด ๆ ตับอ่อนก็ยังหลั่งน้ำย่อยออกมาในอัตราเท่าเดิม นั่นแสดงว่าลำไส้เล็กกำลังส่งสัญญาณไปยังตับอ่อนด้วยกลไกลึกลับที่ไม่มีใครรู้จัก เมื่อความตกตะลึงจางหายไป นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองก็ลองขูดเมือกจาก jejunum ออกมา ฉีดเมือกนั้นเข้าไปในเส้นเลือดสุนัขโดยตรง แล้วก็พบว่าตับอ่อนเริ่มหลั่งน้ำย่อยออกมาอีก พวกเขาจึงสรุปว่า ต้องมี “สารเคมี” ผู้ส่งสัญญาณอาศัยอยู่ในผนังเมือกของลำไส้เล็ก และสรุปต่อไปอีกว่า สารเคมีนี้มีลักษณะเฉพาะ ทั้งในแง่ที่อยู่และฤทธิ์ของมัน เพราะไม่พบสารเคมีชนิดนี้ในอวัยวะอื่นอีก พวกเขาค้นพบในการทดลองครั้งต่อ ๆ มาว่า สารเคมีนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในสุนัขเท่านั้น เพราะสามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยของตับอ่อนในกระต่าย ลิง และแม้แต่ในมนุษย์ด้วย

“เบย์ลิสและสตาร์ลิงซึ่งมีอายุเพียง ๔๑ ปี และ ๓๕ ปีตามลำดับในขณะนั้น ค้นพบฮอร์โมนโดยบังเอิญ พวกเขาขนานนามฮอร์โมนชนิดที่ค้นพบ คือผลิตในลำไส้เล็กส่วนต้นว่า ‘secretin’ และหลังจากนั้นไม่นาน สตาร์ลิงก็บัญญัติคำว่า ‘hormone’ ซึ่งมีรากศัพท์จากคำว่า horman ในภาษากรีก ที่แปลว่า กระตุ้นหรือทำให้เคลื่อนไหว ขึ้นมาอธิบาย ‘สารเคมีสื่อสาร’ ที่พวกเขาค้นพบ

“กว่า ๒,๐๐๐ ปีหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกโบราณค้นพบระบบประสาทในมนุษย์ เบย์ลิสและสตาร์ลิงค้นพบกลไกลำดับที่ ๒ ที่ธรรมชาติใช้ในการสื่อสารและควบคุมการทำงานของร่างกาย”

หลังจากที่สตาร์ลิงบัญญัติคำว่า “ฮอร์โมน” ขึ้นมา ศัพท์คำนี้ก็เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบ่อเกิดของวิทยาศาสตร์แขนงใหม่คือ การศึกษาต่อมไร้ท่อ หรือ endocrinology และกระตุ้นให้นักวิจัยหลายสาขาหันมาสนใจศึกษาการทำงานของฮอร์โมน ตั้งแต่นักเคมี นักชีววิทยา นักพยาธิวิทยา ไปจนถึงนักจิตวิทยา นักโบราณคดี และนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ภายในช่วงเวลาเพียง ๓๐ ปีหลังการค้นพบฮอร์โมน secretin ของเบย์ลิสและสตาร์ลิง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบโครงสร้างทางเคมีของฮอร์โมน และค้นพบฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ อีกมากมายในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น cortisone, thyroxine, estrogen, testosterone, progesterone และ insulin

นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบฮอร์โมนที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนได้รับรางวัลโนเบล แต่เบย์ลิสและสตาร์ลิง ผู้ค้นพบฮอร์โมนสองคนแรกของโลก กลับไม่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวตลอดอายุของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงว่าฮอร์โมนที่พวกเขาค้นพบคือ secretin นั้น ไม่ได้เป็นฮอร์โมนที่สำคัญหรือเป็นที่รู้จักเท่ากับ estrogen หรือ insulin การที่พวกเขาไม่เคยได้รับรางวัลโนเบลก็ดูจะเป็นเรื่องที่ “เข้าใจได้” แม้ว่าจะ “น่าเสียดาย” ไม่น้อยก็ตาม

นอกจากการศึกษาฮอร์โมนจะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างก้าวกระโดดแล้ว ก็ยังนำไปสู่ประโยชน์อันมหาศาลด้านสุขอนามัยและความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งดูเผิน ๆ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ยาอินซูลิน (insulin) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และวิธีการผสมเทียมที่เรียกว่า in vitro fertilization (IVF) หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เด็กในหลอดแก้ว” ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับคู่สามีภรรยาจำนวนนับไม่ถ้วนทั่วโลกที่มีลูกตามธรรมชาติไม่ได้

นักสังคมวิทยาจำนวนมากถึงกับกล่าวว่า ยาคุมกำเนิด (ซึ่งทำงานด้วยการใช้สารที่ผลิตจากฮอร์โมน estrogen และ progesterone ระงับการตกไข่ในผู้หญิง) เป็นสิ่งที่ช่วย “ปลดปล่อย” ผู้หญิงออกจากพันธะของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ากฎหมายสิทธิสตรีทุกฉบับ

นอกจากเบย์ลิสและสตาร์ลิงจะเป็นคน (ไม่) สำคัญแล้ว สุนัขตัวที่ต้องทนทรมานให้พวกเขาทดลองจนค้นพบฮอร์โมนโดยบังเอิญ ก็นับว่าเป็นสุนัข (ไม่) สำคัญเช่นกัน เพราะเบย์ลิสไปฟ้อง สตีเฟน โคลริดจ์ (Stephen Coleridge) เลขานุการกิตติมศักดิ์ของสมาคมต่อต้านการใช้สัตว์ในการทดลองแห่งอังกฤษ (National Anti-Vivisection Society) ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากโคลริดจ์อ้างว่าเบย์ลิสละเมิดกฎหมาย ๒ ฉบับในการทำการทดลองคราวนั้น แม้ว่าศาลจะตัดสินให้เบย์ลิสเป็นฝ่ายชนะ ได้เงินค่าเสียหายจำนวน ๒,๐๐๐ ปอนด์ แต่ขณะเดียวกันโคลริดจ์ก็ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวอังกฤษให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการใช้สัตว์ในห้องทดลอง จนนำไปสู่การสร้างอนุสาวรีย์สุนัขตัวนี้ขึ้นในสวนสาธารณะประจำเขต Battersea ในกรุงลอนดอน อนุสาวรีย์นี้ถูกรื้อถอนในปี ๑๙๑๐ และต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์รูปร่างคล้ายกัน แต่ไม่มีน้ำพุ ขึ้นมาแทนตรงตำแหน่งเดิมในปี ๑๙๘๕

กลายเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ให้เราระลึกถึงทั้งคน (ไม่) สำคัญ และสุนัข (ไม่) สำคัญ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของร่างกาย จนทำให้มนุษย์ทั้งสามารถ “รักษา” โรคร้าย ทั้งอยาก “เอาชนะ” ธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน

- See more at: http://www.sarakadee.com/2013/03/29/william-bayliss/#sthash.VCVBVtvt.dpuf

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 


โพสท์โดย: moses
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
20 VOTES (4/5 จาก 5 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
"ออกัส วชิรวิชญ์" เผยอีกด้านก่อนถูก "กันสมาย" แฉiPhone รุ่นประหยัดมาแล้ว!โหนกอูฐมีไว้ทำไม ?ผู้ป่วยใกล้ตายส่วนใหญ่จะได้เห็นอะไรก่อนที่จะตาย4สำนักดัง ให้เลขชนกันอีกแล้ว งวด 2 พฤษภาคม 256760 แคปชั่นความสุข ภาษาอังกฤษ ความสุข คิดบวก ความหมายดีรีวิว Saijaku Tamer wa Gomi Hiroi no Tabi wo Hajimemashitaเจ้าของห้องช็อค!! หลังเปิดห้องที่ฝรั่งค้างค่าเช่าส่องแฟชั่น "ผีฮ่องกง" เหตุดราม่าสาวไทยไปเที่ยวแล้วถ่ายเซลฟี่ ติดผียิ้มข้างหัวในภาพ!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
รีวิว Saijaku Tamer wa Gomi Hiroi no Tabi wo Hajimemashita3 จุดอันตรายที่ไม่ควรเสี่ยงบีบสิว เพราะอาจจะเสี่ยงถึงขั้นสมองตายได้เลยเน่อ"ออกัส วชิรวิชญ์" เผยอีกด้านก่อนถูก "กันสมาย" แฉ60 แคปชั่นความสุข ภาษาอังกฤษ ความสุข คิดบวก ความหมายดีผู้ป่วยใกล้ตายส่วนใหญ่จะได้เห็นอะไรก่อนที่จะตาย
ตั้งกระทู้ใหม่