หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

วิทย์ (ทด)ลองของ – โทรจลน์ 

Share แชร์โพสท์โดย moses

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
เปิดประตูสู่เรื่องลี้ลับ เหนือธรรมชาติ หรือไสยศาสตร์
ที่ท้าทาย และยากพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ผมเคยเขียนถึง โทรจิต (telepathy) ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนถึง เทเลไคนีซิส(telekinesis) ที่ใช้อำนาจจิตในการสั่งการคล้ายๆ กันเลย คำหลังนี่มาจากภาษากรีกแปลว่า “การเคลื่อนที่ระยะไกล” แต่มักใช้ในหมู่ผู้สนใจเรื่องพลังจิตหรือเวทมนตร์ โดยหมายถึงการใช้พลังจิตเคลื่อนย้ายวัตถุ บ้างก็ใช้ว่า ไซโคไคนีซิส (psychokinesis)

บ้างก็ว่าน่าจะมีความหมายใกล้กับคำว่า เทเลพอร์เทชัน (teleportation) ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างของคำหลังสุดนี้ที่เห็นกันชัดๆ ก็อย่างในภาพยนตร์ที่ใช้พลังจิตส่งลูกเรือยานเอนเตอร์ไพรส์ไปลงบนผืนดาวเคราะห์ดวงต่างๆ ในเรื่อง สตาร์เทร็ก (Star Trek) หรือไม่ก็ส่งนักวิทยาศาสตร์จากตู้หนึ่งไปยังอีกตู้หนึ่งใน ไอ้แมลงวัน (The Fly) นั่นเอง

ทั้งสามคำข้างต้นยังไม่มีศัพท์บัญญัตินะครับ แต่เนื่องจากราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้คำ “พลังงานจลน์” แทน kinetic energy และ “ทฤษฎีจลน์” แทน kinetic theory ผมก็เลยคิดว่าน่าจะใช้คำว่า “โทรจลน์” แทน telekinesis ได้

ที่ว่ามานี้อาจเทียบเคียงกับ “วิชชา ๘” ของพุทธที่มี “อิทธิวิธิ” ที่เป็นฤทธิ์ในการไปนรก สวรรค์ หรือพรหมโลกได้ และยังรวมถึง “การล่องหนหายตัว” ด้วยเวทมนตร์แบบไสยศาสตร์ด้วยเช่นกัน

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำเรื่องแบบนี้ได้หรือไม่ และถ้าทำได้…ทำได้มากน้อยเพียงใด

วิทย์ (ทด)ลองของ – โทรจลน์ ภาพวาดเรื่องไซอิ๋วในพระราชวังฤดูร้อน กรุงปักกิ่ง เดินนำหน้าสุดคือหงอคง

อิทธิฤทธิ์หงอคงยุคใหม่

ในเรื่อง ไซอิ๋ว “หงอคง” ลิงวิเศษมีฤทธิ์ใช้จิตเรียกทวนและเมฆให้ลอยมาหาได้อย่างน่าอัศจรรย์  ในโลกยุคเทคโนโลยีไฮเทคอย่างปัจจุบันนี้ ความสามารถใช้ความคิดสั่งการสิ่งของให้เคลื่อนไหวได้แบบนี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมเสียทีเดียวนัก

ค.ศ. ๒๐๐๘ ทีมของนักประสาทวิทยา มิกูเอล นิโคเลลิส(Miguel Nicolelis) จากมหาวิทยาลัยดุ้ก (Duke University) สร้างระบบสั่งการที่ทำให้ลิงชื่อ ไอโดยา (Idoya) สั่งให้หุ่นยนต์หนักเกือบ ๑๐๐ กิโลกรัมเคลื่อนไหวได้ เพียงแค่ให้มัน “คิด” เท่านั้น

การทดลองครั้งหนึ่งเจ้าหงอคงรายนี้ตัวอยู่ในสหรัฐฯ แต่สามารถสั่งการแขนหุ่นยนต์ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ด้วยซ้ำไป !

วิทย์ (ทด)ลองของ – โทรจลน์ 

ภารกิจ “ลิงบังคับหุ่นยนต์” ในห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก

ลิงวิเศษในห้องทดลอง

ไอโดยาทำเช่นนั้นได้เพราะมันผ่านการฝึกฝนบังคับควบคุมความคิด โดยมีขั้วไฟฟ้าฝังไว้ที่สมองหลายตำแหน่ง ที่สำคัญคือส่วนที่บังคับแขนขาให้ทำงาน โดยมีซอฟต์แวร์คอยบันทึกรูปแบบคลื่นสมองเอาไว้และส่งข้อมูลที่ได้ผ่านไปยังทัชแลป (Touch Lab) ที่เอ็มไอที (MIT, Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งห่างออกไป ๙๕๐ กิโลเมตร ซึ่งจะมีซอฟต์แวร์แปลงสัญญาณให้กลายเป็นการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์อีกที

มีการทำวิจัยในหนูทดลองมาก่อนด้วย ซึ่งมิกกีเมาส์ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะแค่มันคิด แขนกลให้น้ำก็ขยับได้เช่นกัน  ในกรณีของหงอคงนี้การแปลข้อมูลจากเซลล์ประสาทซับซ้อนและมีจำนวนมากกว่ามิกกีเมาส์ การเคลื่อนไหวของแขนกลก็สลับซับซ้อนมากกว่า  นิโคเลลิสพบว่า เราไม่จำเป็นต้องรับรู้สัญญาณประสาททั้งหมดในสมอง อันที่จริงขั้วไฟฟ้าที่ฝังขยับแขนหุ่นยนต์นั้นวัดการทำงานของเซลล์ประสาทแค่ ๙๐ เซลล์เท่านั้น

แต่แค่นี้ก็เป็นความท้าทายมากแล้วสำหรับงานวิจัยสมองในยุคปัจจุบัน

ภารกิจลิงจ๋อล่อกล้วย

แต่ทีมของนิโคเลลิสไม่ใช่เพียงทีมเดียวที่มุ่งมั่นทำวิจัยแบบนี้ ดร. แอนดรูว์ ชวาร์ตซ (Dr. Andrew Schwartz) กับทีมที่มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ก็มีความก้าวหน้าไปมากเช่นกัน  ในปีเดียวกัน (ค.ศ. ๒๐๐๘) ทีมนี้ทำให้ลิงบังคับการเคลื่อนไหวของแขนกลที่มีระดับความซับซ้อนของการเคลื่อนไหวสูง คือมีจุดหมุนมากถึง ๔ ตำแหน่งได้สำเร็จ

ท่านที่สนใจชมภาพจากการทดลองนี้ รับชมได้ที่ ลิงก์ยูทูป

เทคโนโลยีจำเพาะที่ใช้ในการนี้เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เฟซสมอง–เครื่องกล (Brain–machine Interface (BMI) Technology) หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เฟซ สมอง-คอมพิวเตอร์ (Brain-computer Interface (BCI) Technology) และนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ เพราะน่าจะนำมาใช้ช่วยผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตได้เป็นจำนวนมาก

วิทย์ (ทด)ลองของ – โทรจลน์ 

วิทย์ (ทด)ลองของ – โทรจลน์ 

ผู้ป่วยอัมพาตทั้งสองรายใช้เพียงความคิดสั่งการแขนของหุ่นยนต์ให้ทำงานตามที่ต้องการ

ฝันที่เป็นจริง สั่งการด้วยจิต

กลางปี ค.ศ. ๒๐๑๒ มีงานวิจัยในวารสาร Nature แสดงให้เห็นว่าหญิงคนหนึ่งที่เป็นอัมพาตใช้ความคิดบังคับแขนกลให้หยิบแก้วมาเสิร์ฟแล้วดูดลิ้มรสกาแฟผ่านหลอดได้

กรณีนี้คล้ายกับกรณีของการทดลองก่อนหน้าในลิงคือ มีการฝังชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่สมองและมีระบบเชื่อมต่อทำให้บังคับสั่งการหุ่นยนต์ได้ งานนี้เป็นฝีมือของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) นำโดย จอห์น โดโนฮิว (John Donohue)

ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ นักวิจัยกลุ่มเดียวกันนี้เคยรายงานความสำเร็จที่คนไข้กระดูกสันหลังบาดเจ็บใช้เพียงความคิดเคลื่อนย้ายตัวชี้ตำแหน่ง (cursor) ของคอมพิวเตอร์บนจอคอมพิวเตอร์ได้

ในกรณีนี้แผ่นชิปที่ใช้มีขนาดเล็กเพียง ๔x๔ ตารางมิลลิเมตรเท่านั้น และมีขั้วไฟฟ้าที่เล็กขนาดเส้นผมรวม ๙๖ เส้นยื่นออกมาทางด้านหนึ่ง ฝังไว้ที่ผิวสมองส่วนที่เรียกว่า มอเตอร์คอร์เท็กซ์ (motor cortex) ลึกลงไปราว ๑ มิลลิเมตร ทำหน้าที่รับสัญญาณจากเส้นประสาทจำนวนหลายสิบเส้น

ขณะที่ตีพิมพ์ผลงานนี้มีผู้ป่วย ๒ ราย รายหนึ่งฝังแผ่นชิปมาแล้ว ๕ เดือน ส่วนอีกรายนั้นฝังมานานถึง ๕ ปีและยังใช้การได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีมาก เพราะปรกติแล้วหากมีสิ่งแปลกปลอม สมองจะพยายามหยุดการทำงานของเซลล์ประสาทรอบๆ ตำแหน่งดังกล่าวเสีย  จุดอ่อนสำคัญของการทดลองนี้คือสัญญาณสมองที่ได้ยังไม่สม่ำเสมอและความแรงของสัญญาณแตกต่างกันมากในแต่ละครั้ง ซึ่งก็ต้องปรับปรุงกันต่อไป

นอกจากนี้ นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวยังพยายามพัฒนาระบบเชื่อมต่อสัญญาณแบบไร้สายอีกด้วย

รอยกัดเล็ก ๆ ของหญิงคนหนึ่ง

ปลายปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กสร้างความประหลาดใจให้วงการอีกครั้ง พวกเขาแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยหญิงอายุ ๕๒ ปีรายหนึ่งซึ่งเป็นอัมพาตจากคอลงมา เนื่องจากความผิดปรกติทางสมองตั้งแต่ ๑๓ ปีก่อน บังคับควบคุมแขนหุ่นยนต์ให้ป้อนช็อกโกแลตตัวเองได้สำเร็จ ไม่ได้แค่ควบคุมมือเท่านั้นแต่เธอยังควบคุมแต่ละนิ้วของหุ่นยนต์ได้อีกด้วย

เธอกล่าวเลียนแบบคำพูดอันโด่งดังของ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ที่ว่า “นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดใหญ่ยิ่งของมนุษยชาติ (This is one small step for a man, one giant step for mankind)” ว่า “นี่เป็นการกัดคำเล็กๆ สำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เป็นการกัดคำโตสำหรับบีซีไอ (One small nibble for a woman, one giant bite for BCI)”

ในคนไข้รายนี้แพทย์ฝังแผ่นชิปไว้ ๒ แผ่นในสมอง โดยกำหนดตำแหน่งอย่างแม่นยำและอาศัยการวัดตำแหน่งของสมองที่ทำงานเมื่อคิดเรื่องการขยับแขน โดยอาศัยเทคนิคที่เรียกกว่า fMRI (functional magnetic resonance imaging) เข้าช่วย

การแปลงสัญญาณสมองไม่ได้จำกัดแค่ต้องเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหวเท่านั้น อาจแปลงไปเป็นการพิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขก็ได้ ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะสามารถพิมพ์ข้อความได้ด้วยเพียงแค่คิดเท่านั้น

ในที่สุดระบบนี้อาจจะเชื่อมต่อกับสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า โครงร่างภายนอก (exoskeleton) ที่คล้ายกับเป็นชิ้นส่วนแขนหรือขาของหุ่นยนต์ที่เมื่อต่อกับร่างกายแล้ว จะช่วยให้ยกของหนักหรือเดินขึ้นลงที่สูงได้อย่างสะดวกง่ายดายขึ้น

ผู้ป่วยอัมพาตและคนสูงอายุจำนวนมากอาจกลับมาเดินเหินอย่างสะดวกสบายได้อีกครั้งผ่านอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้

เทคโนโลยีทำให้โลกในความเป็นจริงกับโลกในความฝันขยับใกล้กันเข้ามาทุกที และ “โทรจลน์” ก็ไม่เป็นแค่ความฝันอีกต่อไปแล้ว !

- See more at: http://www.sarakadee.com/2013/05/17/telekinesis/#sthash.wGebwvq7.dpuf

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 


โพสท์โดย: moses
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
16 VOTES (4/5 จาก 4 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
สารก่อมะเร็ง 4 อย่าง ที่ลูกคุณอาจจะได้รับทุกวันลาวขุดพบเจอหีบกะไหล่โบราณ รอการเปิด คาดว่าน่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ!มหาวิทยาลัย ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มากที่สุดในประเทศ!รพ.แม่ลาน แจง! "บังชาติ"หรือ"แม่หญิงลี" ไม่ได้เป็นบุคลากรรพ.แม่ลาน หลังบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด!จดไว้เลย!! 2ตัวล่าง 78ให้มาตรงๆ 1 เมษายน 2567ศาลอาญามีนบุรี พิพากษาจำคุกอัจฉริยะ​หมิ่นทนายเดชา แต่ให้รอการลงโทษ 2 ปี😀 มาดูสถานการณ์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่จะทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ 😊“กางเกงท้องถิ่นไทย” คุณประโยชน์ด้าน Sustainable Fashionครูหนุ่มชาวจีนโพสต์รูปตัวเอง เปรียบเทียบสมัยก่อนเเละหลังทำงานได้ 6 ปี เปลี่ยนไปจริง ๆ 😌
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
“กางเกงท้องถิ่นไทย” คุณประโยชน์ด้าน Sustainable Fashionลาวขุดพบเจอหีบกะไหล่โบราณ รอการเปิด คาดว่าน่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ!ประเทศในทวีปเอเชีย ที่มีมูลค่าการส่งออกทองคำมากที่สุด
ตั้งกระทู้ใหม่