ประโยชน์ทางยา..ของใบกระท่อม
ปัจจุบันใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน อาจเนื่องมาจากมีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น โดยมักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก ยากันยุง และยาแก้ไอ (4x100) พี่ๆ พยาบาลที่สถาบันธัญญารักษ์อยากให้เภสัชกรช่วยทบทวนความรู้เกี่ยวกับกระท่อม เข้าใจว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับผู้เสพติดใบกระท่อม และสนใจอยากรู้การออกฤทธิ์ของใบกระท่อมต่อร่างกาย มีเอกสารเกี่ยวกับกระท่อมที่พอจะนำมาเล่าได้ดังนี้ค่ะ
กระท่อม (Kratom) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa Korth. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม. กระท่อมพบได้ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
กระท่อมก้านแดง
กระท่อมก้านเขียว
ใบกระท่อมมีรสขมเฝื่อนเมา ใช้ประโยชน์ทางยาได้โดยเป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อยร่างกาย ระงับประสาทช่วยให้ทํางานทนไม่หิวง่าย ผู้ใช้พืชกระท่อมส่วนใหญ่มักเป็นชาวนา ชาวสวนและผู้ใช้แรงงานในชนบท
วิธีเสพใบกระท่อม เคี้ยวใบสด หรือบดใบแห้ง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก ส่วนมากจะเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ และดื่มน้ำอุ่น หรือกาแฟร้อนตาม ใช้วันละ 3-10 ครั้งต่อวันตามอาการเหนื่อย เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น (ประมาณร้อยละ 37 ใช้วันละ 21-30 ใบ)
มีการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ใบกระท่อมมีการศึกษาหนึ่งสรุปว่า การใช้ใบกระท่อมในขนาดต่ำให้ผลระงับประสาท แต่เมื่อขนาดสูงขึ้น กลับเปลี่ยนเป็นกระตุ้นประสาทแทน แต่จากการศึกษาหลายแห่งสรุปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การใช้ใบกระท่อมในขนาดต่ำให้ผลกระตุ้นระบบประสาท ส่วนขนาดสูงกดประสาท
ในรายงานการศึกษาในคนที่เสพติดกระท่อมในประเทศไทย พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) ทํางานได้นานขึ้น ทนแดด แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น อาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม) แต่ในบางรายเสพเพียง 3 ใบ ก็ทำให้เมาได้
เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน จะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด นอนไม่หลับ ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้มมีสีคล้ำขึ้นคล้ายหน้าผู้ป่วยโรคตับ ประมาณร้อยละ30 ของผู้ติดกระท่อม รายงานว่า มีความต้องการทางเพศลดลง และต้องใช้กระท่อมร่วมกับแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศ บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
ถ้าหยุดเสพ จะเกิดอาการขาดยา ได้แก่ ไม่มีแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลียไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า นํ้าตาไหล นํ้ามูกไหล ก้าวร้าว
จากการศึกษาสารสำคัญในใบกระท่อม พบว่ามีแอลคาลอยด์หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ mitragynine จำนวนใบกระท่อม 20 ใบ สกัดให้สาร mitragynine ประมาณ 17 มิลลิกรัม สารนี้พบได้เฉพาะในพืชกระท่อมเท่านั้น จึงใช้เป็นสารพิสูจน์เอกลักษณ์พืชกระท่อมได้ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดจากใบกระท่อมและ mitragynine ในสัตว์ทดลอง พบฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้
1. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จึงมีฤทธิ์ทำให้เกิดการชาเฉพาะที่ได้ และยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางคล้ายโคเคน
2. ฤทธิ์ระงับปวดในลักษณะเดียวกับมอร์ฟีนในฝิ่น โดยออกฤทธิ์ที่ mu-opioid receptor และ delta-opioid receptor และฤทธิ์ระงับปวดยังเกี่ยวพันกับฤทธิ์กดการทำงานของ 5-HT2A receptor จึงเป็นสารแก้ปวดที่แตกต่างจากมอร์ฟีนฝิ่น
3. ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยผ่านกลไกการออกฤทธิ์ที่ opioid receptors ทั้งนี้เชื่อว่า มีความเกี่ยวข้องกับอาการข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้เสพใบกระท่อมไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) จึงทำงานได้นานขึ้น
4. ฤทธิ์ลดการบีบตัวลำไส้ โดยออกฤทธิ์ที่ mu-opioid receptor และ delta-opioid receptor จึงแตกต่างจากสารกลุ่ม opioid อื่นๆ
5. ฤทธิ์ในการลดไข้ โดยทดสอบเปรียบเทียบกับ aminopyrin
จะเห็นได้ว่าใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติดได้และยังมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันนานๆ เล่ามาพอสังเขป ถ้าสนใจอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเอกสารอ้างอิงค่ะ