หัวล้าน ๗ ประภท
***คำแนะนำเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ให้กดเล่นเพลงไปด้วย ไม่ต้องดู MV ก็ได้***
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อปีกลายราว ๆ กลางปีมีจังหวัดหนึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นจังหวัดใด (เพราะฟังจากวิทยุ) และมีงานอะไร แต่ในงานนั้นได้ประกาศว่ามีประกวดหัวล้าน ไม่ทราบว่าเขาประกวดอย่างไร มีกฎเกณฑ์ในการตัดสินเป็นไฉน ว่ากันมั่ว ๆ ไปสักแต่ว่าเห็นหัวไหนสวยก็ให้รางวัลหรือว่าแยกเป็นประเภท ชนิด ถ้าแยกเป็นประเภท-ชนิดละก็ รางวัลที่ ๑ เห็นจะต้องมีถึง ๗ รางวัล เพราะว่าหัวล้านนั้นมีอยู่ถึง ๗ แบบ ๗ ชนิด และจะหาคนหัวล้านจากที่ไหนมาประกวดได้ครบ
บางท่านอาจจะค้านว่า “อ้าว-ก็ว่ามีถึง ๗ ประเภท ๗ ชนิด แล้วทำไมถึงจะว่าหาไม่ได้ครบล่ะ”
ถูกละครับ มันมี ๗ แบบ ๗ ชนิด แต่ว่าในพื้นที่แคบ ๆ ระดับเมือง ระดับจังหวัดนั้นจะหาครบได้ที่ไหน มันต้องระดับโลกหรือระดับประเทศนั่นแหละครับ จะพอควานหากันได้
ในเมื่อเป็นเรื่องเอิกเกริกฮือฮากันถึงขนาดจัดประกวดกันแล้ว ก็ต้องเขียนตำรากันหน่อยเผื่อว่าใครเห็นงามจะจัดประกวดกันขึ้นอีกจะได้เอาเป็นแนวทางวินิจฉัย และหากประกวดกันครึกโครมจริง ๆ ฝรั่งก็เห็นจะต้องมาถ่ายวิดีโอไปออกข่าว เพราะฝรั่งเองก็ยังไม่มีตำราหัวล้านเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คนหัวล้านเต็มเมือง หาได้ง่ายกว่าเมืองไทยหลายเท่า
เท่าที่ได้ยินได้ฟังมาท่านว่ากันว่ามี ๗ ชนิด ได้พยายามสังเกตสังกามาตลอดก็ยังไม่เห็นมีเพิ่มมาเกินกว่าที่ท่านว่า ทั้งหัวฝรั่ง หัวไทย ๗ ชนิดที่ท่านว่านั้นมีดังนี้
๑. ทุ่งหมาหลง
๒. ดงช้างข้าม
๓. ง่ามเทโพ
๔. ชะโดตีแปลง
๕. แร้งกระพือปีก
๖. ฉีกขวานฟาด
๗. ราชคลึงเครา
เห็นไหมละครับ ท่านว่าของท่านเป็นบทเป็นกลอนเสียด้วย นี่ละครับคนไทย
เพลงร้องก็เคยมี แต่เนื้อเพลงจาระไนไม่สู้จะได้ความนัก เนื่องจากคนแต่งมือไม่ถึง และยังไม่เข้าใจลักษณะหัวล้านดีพอ จึงไม่ถ่องแท้ในชื่อที่เขาตั้ง
ลักษณะ
ทุ่งหมาหลง นั้นลักษณะก็คือ ล้านเกลี้ยง บนหัวไม่มีผมสักเส้น เปรียบเหมือนทุ่ง ซึ่งไม่มีต้นไม้ใบหญ้าให้สังเกตสังกาเอาเลย หมาจึงหลง เจ้าคุณไชยยศสมบัติไงล่ะครับ ลักษณะนี้ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอาจารย์เสนีย์ ปราโมช สมัยหลังสุดนี่ก็อีกท่านหนึ่ง
ดงช้างข้าม คือเลี่ยนเป็นทางตรงช่องกลางตั้งแต่หน้าผากจรดท้ายทอย เปรียบเสมือนป่า ที่ช้างมันข้ามมันเดินกันเป็นประจำ จนเป็นเทือกเป็นทาง ต้นไม้มันเลยไม่ขึ้น ไม่ว่าแต่ช้างหรอกครับ คนก็เหมือนกัน-ถ้าเดินทางใดเป็นประจำทางนั้นหญ้าก็ไม่ขึ้น เพราะเช่นนั้นจึงต้องมีการปักป้าย “ห้ามเดินลัดสนาม” ไงล่ะครับ เพราะลงได้หญ้าตายเป็นทางเสียแล้วคนก็ต้องเดินกันเรื่อยละ แล้วหญ้าจะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร
ลักษณะนี้เราได้เห็นกันอยู่ทุกวันทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และในโทรทัศน์ ก็โฆษกเอกของทำเนียบไงละครับ แต่ของท่านถ้าประกวดขณะนี้คงยังไม่ได้รางวัล เพราะยังมีหญ้าอยู่บาง ๆ
ง่ามเทโพ แหลมเข้าไปสองข้างตรงรอยแสก-ลักษณะเหมือนเงี่ยงปลาเทโพแทงเข้าไป แต่ถ้าปลายแหลมงุ้มเข้าหากันกลางศีรษะเขาเรียก “ง่ามถ่อ” ใครที่เคยเห็นง่ามถ่อคงหายสงสัย เพราะเป็นง่ามงุ้มเข้าหากันเหมือนเขาควาย อีนี่หาตัวอย่างให้ดูไม่ได้ มีครับ เยอะด้วยแต่มันไม่มีในบรรดาท่านที่ดัง ๆ ที่ได้เห็นหน้าหนังสือพิมพ์
ชะโดตีแปลง ลักษณะเป็นวงกลมข้างหลัง-เหมือนปลาชะโดที่มันดิ้นตีแปลงอยู่ในปลักตม มีตัวอย่างพอยกให้เห็นได้ครับอีนี่คุณสุประวัติ ปัทมสูตร ไงล่ะ
แร้งกระพือปีก อีนี่เลี่ยนกลางจากข้างหน้าเข้าไปท้ายทอย ลักษณะก็เหมือนดงช้างข้าม ทว่าผมสองข้างพองออกเป็นปีก เหมือนปีกนกที่กำลังกระพือ จึงเรียก “แร้งกระพือปีก”
ฉีกขวานฟาด อีนี่เถลิกหน้าเข้าไปเป็นแหลม เป็นรูปสามเหลี่ยม เหมือนดินที่ถูกขวานฟัน ลองเอาขวานฟันดินที่หมาด ๆ หนึก ๆ ดูเถอะครับ จิกคมขวานลงไปตรง ๆ ดินตรงโคนขวานจะเบอะออกไปรับกับตรงปลายขวานเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พอมีตัวอย่างบุคคลสำคัญครับลักษณะนี้ แต่เดี๋ยวนี้ลักษณะกลายไปเสียแล้ว อ้างไปก็มองไม่เห็นเว้นแต่คนที่เคยเห็นเมื่อก่อนนี้
ลักษณะนี้กลายง่ายครับ เมื่อเป็นใหม่ ๆ จะเป็นรูป ๓ เหลี่ยม แต่ไป ๆ พอมีอายุเข้าหน่อยจะกินวงกว้างออกไป และถ้าหากมีชะโดตีแปลงอยู่ข้างหลังด้วย ก็จะกินวงจดกันกลายเป็นดงช้างข้ามไป
ราชคลึงเครา อีนี่ก็ลักษณะของดงช้างข้ามหรือแร้งกระพืปีก แต่ว่ามีเคราตั้งแต่จอนหูลงมาจนจดถึงคาง ถ้าดก ๆ หนา ๆ และตัดแต่งให้ดีแล้ว อื้อฮื้อ งามชะมัด อีนี่คนไทยมักไม่ค่อยมี แขก ฝรั่ง มีเยอะและเขาเห็นว่าเป็นบุคลิกที่เข้ม จึงมักเอามาแสดงหนังให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ
นี่แหละครับ หัวล้านทั้ง 7
ทุ่งหมาหลง, ดงช้างข้าม, ง่ามเทโพ, ชะโดตีแปลง
แร้งกระพือปีก, ฉีกขวานฟาด และ ราชคลึงเครา นั่นเอง
รู้กันแล้ว ก็อย่านำไปวิเคราะห์ วิจารณ์ หัวของผู้อื่นกันนะครับ
เอาไว้เป็นความรู้เฉยๆ เพราะคนหัวล้าน เกลียดที่สุด
ก็คือ พวกคนที่ชอบมอง ขอบวิจารณ์
หรือ เอามืออุดจมูก (เหม็นเขียว) …. รับไม่ได้ครับ
.....
ในสมัยก่อน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เคยมีการละเล่นพื้นบ้าน ที่เรียกว่า หัวล้านชนกัน
..
ทำให้คนชอบล้อเลียน และขำขัน คนหัวล้าน อยู่เสมอ
และคนหัวล้าน ส่วนมาก ก็จะเป็นคนใจดี อารมณ์ดี
หมายเหตุ
รูปที่ผมนำมาแสดงนั้น ไม่ใช่คนจริงนะครับ
เป็นรูปจาก พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย นครปฐม นั่นเอง
----------------------------------
จขกท. ยังไม่ล้านะครับ อิอิ
เรียบเรียงอีกครั้งโดย:เจ้าของกระทู้ครับ