รู้เท่าทัน “โรคริดสีดวงทวาร“
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร เกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระ ท้องผูก การนั่งนานๆ ภาวะตั้งครรภ์ หรืออาจส่งผลมาจากน้ำหนักตัวมาก การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ไอเรื้อรัง ตับแข็ง ต่อมลูกหมากโตและผู้ที่มีเนื้องอกในช่องท้อง เป็นต้น
ลักษณะอาการของผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด คือ จะถ่ายอุจจาระออกมาก่อนจากนั้นจะมีเลือดสดๆ ไม่มีมูกเลือดปน มีก้อนที่ยื่นออกมาจากทวารขณะที่เบ่งอุจจาระ คลำได้ก้อนที่บริเวณทวารหนัก เจ็บและคันบริเวณทวารหนัก
สำหรับวิธีการรักษาริดสีดวงทวาร
ในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
- รักษาโดยการให้ยาเหน็บที่ทวารหนักเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและสร้างความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด อาจใช้ร่วมกับยาระบายได้
- ฉีดยาที่หัวริดสีดวงทวารเพื่อให้เกิดพังพืดรัดหัวริดสีดวงและฝ่อได้เอง มักใช้ในกรณีที่หัวริดสีดวงมีเลือดออกและหัวริดสีดวงที่ย้อยไม่มาก
- ยิงยางรัดหัวริดสีดวง(Baron Gun) จะทำให้ริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปเองประมาณ 7 วัน
- รักษาโดยการผ่าตัด มักใช้ในระยะที่ 3,4 และริดสีดวงที่มีการอักเสบ
อาการหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร อาจมีเลือดออกได้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนถึงประมาณวันที่ 10 ของการผ่าตัดปกติจะมีเลือดออกไม่มากและจะหยุดเอง ถ้ามีเลือดออกมากให้มาพบแพทย์ หรือมีน้ำเหลืองซึ่งที่ขอบทวาร 4-6 สัปดาห์ ในกรณีที่ไม่ได้เย็บปิดแผล และบริเวณปากทวารหนักอาจบวมเป็นติ่ง แนะนำให้นั่งแช่ก้นด้วยน้ำอุ่น อาจถ่ายอุจจาระไม่ออกในระยะแรก
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร เน้นการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือ ยาเพิ่มกากใย ดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาทีถึง 1 ชม. อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ต่อ สัปดาห์ ฝึกขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอและขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน ผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำให้สังเกตว่าอาหารชนิดใดที่รับประทานแล้วช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นให้รับประทานอาหารชนิดนั้นเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ติดต่อกันอย่างน้อย 6-8 ชม. ต่อวัน และหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนานๆให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
แหล่งที่มา : ร.พ.ธนบุรี
บทความโดย : ประชาชาติธุรกิจ
โพสท์โดย: moses