ทำไมชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาถูก ในเวลาที่ข้าวสารราคาแพง
อ่านข่าวคุณมิ่งขวัญ อัดโรงสี พ่อค้า
กดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา
ก็ได้แต่อ่าน เพลินๆ
หาสาระไม่ได้ว่าท่านจะทำอะไรต่อ
ถ้าทำจริงอย่างที่พูดไว้
คงดูไม่จืด
ลองเข้าไปหาเหตุปัจจัยที่ทำห้ข้าวเปลือก
ถูกกดราคารับซื้อ(ยืมสำนวนของ รมต.พาณิชย์)
มาขยาย ยังได้น้ำได้เนื้อหน่อย
อย่างทีเคยเล่าไว้ว่า
ระบบการค้าข้าวในประเทศไทย
มีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 3 ส่วน
1. ชาวนา เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบคือข้าวเปลือก
2. โรงสี เป็นผู้ใช้วัตุดิบ(แปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร)
3. ผู้ส่งออก เป็นผู้ระบายข้าวสารส่วนเกิน
ที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศออกสู่ตลาดโลก
และราคาข้าวสารในตลาดโลก
จะเป็นตัวกำหนดราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก
ปีละประมาณ 9 ล้านตัน (30% ของการค้าข้าวทั่วโลก)
ปริมาณการค้าข้าวทั่วโลกประมาณ 29 ล้านตัน
กลับมาเรื่องราคาข้าวเปลือกกต่ำดีกว่า
การปลูกข้าวในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
คือข้าวนาปี และข้าวนาปรัง
ถ้าเราสังเกตุจะพบว่า
ข้าวนาปี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องราคา
เนื่องจากเป็นข้าวที่ใช้บริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่
ทำได้ปีละ ครั้ง ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ
จะมีผลผลิตทยอยออกมาในช่วงเดือน
พฤศจิกายน ธันวาคม (อากาศแห้ง)
ตามช่วงเวลาเพาะปลูก ของแต่ละท้องที่
และผลผลิตเหล่านี้จะถูกเก็บเข้าสต้อก
เพื่อการบริโภคตลอดทั้งปี
ผู้รับภาระสต้อกคือชาวนา พ่อค้าท้องถิ่นและโรงสี
ข้าวประเภทที่ 2 คือข้าวนาปรัง
เป็นข้าวที่มีปัญหาทุกครั้งที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด
ข้าวนาปรังทั้งหมดจะทำในเขตที่มีระบบชลประทานถึง
ที่ราบลุ่มภาคกลางเกือบทั้งหมด
ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และเป็นข้าวที่ใช้ส่งออกเป็นส่วนมาก
การเก็บเกี่ยวจะทำกันในช่วง
เดือนพฤษภาคม มิถุนายน และสิงหาคม
ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่มีฝนตก
ผลผลิตที่ได้ จะมีความชื้นสูง
และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้
ราคารับซื้อข้าวเปลือกตกต่ำ
ทำไมความชื้นสูงจึงเป็นสาเหตุหลัก
ให้ข้าวเปลือกถูกตัดราคา ?
ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ
ราคาข้าวแพงกว่าราคาน้ำที่ปนอยู่ในข้าว
มาตราฐานความชื้นข้าวเปลือก
ที่สามารถจัดเก็บไว้ได้โดยไม่เสียหาย
จะต้องมีความชื้นไม่เกิน 14 % โดยน้ำหนัก
แต่ข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวในระดับไร่นา
โดยทั่วไปเมื่อข้าวขาดจากลำต้น
จะมีความชื้นประมาณ 20-25 %
ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและช่วงเวลาขณะเก็บเกี่ยว
ยกตัวอย่าง
ถ้าเก็บเกี่ยวในเวลาเช้า
ข้าวจะมีความชื้นสูงกว่าเก็บเกี่ยวช่วงบ่าย
เนื่องจากข้าวดูดความชื้นจากน้ำค้างในเวลากลางคืน
ส่วนช่วงบ่ายความชื้นมีเวลาระเหย
ออกจากเมล็ดเมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด
หรือถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลามีฝนตก
ความชื้นของข้าวอาจสูงได้ถึง 30-32 %
เพราะฉะนั้นการรับซื้อข้าวเปลือก
ที่มีความชื้นสูงกว่ามาตราฐาน 14 %
ผู้รับซื้อจะต้องมีภาระในการลดความชื้นข้าวเปลือกส่วนเกิน
ให้อยู่ในระดับมาตรฐานจึงจะจัดเก็บข้าวเปลือก
ไว้ได้โดยไม่เสียหาย
การลดความชื้นทำได้หลายวิธี
จะทำโดยการผึ่ง หรือตากให้แห้งโดยแสงแดดธรรมชาติ
หรือใช้เครื่องอบแห้งอบลดความชื้น
ลองมาทบทวนคณิตศาสตร์
สำหรับอบแห้งข้าวเปลือกไว้เป็นความรู้รอบตัว
สมมุติให้ข้าวเปลือกที่จะพูดถึงต่อไปนี้
ไม่มีสิ่งเจือปนอื่นๆเลย
(Econ นี่ชอบสมมุติจริงๆ 5-5-5 )
เริ่มจากข้าวเปลือก มาตราฐานความชื้น 14 %
หมายความว่า
ในข้าวเปลือก 1 ตัน ( 1,000 กก.)
แยกเป็นน้ำ 140 กก. ที่เหลือเป็นเปลือกและแป้ง 860 กก.
ข้าวเปลือกนาปรังที่ชาวนาผลิตได้
ในระดับไร่นา และนำมาขายให้โรงสี
มีความชื้นเฉลี่ย 25 %
ก็คือชาวนานำเปลือกและแป้งมาขาย 750 กก.
ที่เหลือเป็นน้ำ 250 กก.
อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่า
" ข้าวเปลือกที่จัดเก็บไว้ได้โดยไม่เสีย
จะต้องมีความชื้นไม่เกิน 14 % "
โรงสีจึงมีภาระต้องลดความชื้นส่วนเกิน
โดยคิดจากเนื้อแป้ง 750 กก. ที่รับซื้อไว้
ลองเทียบ บัญญัติไตรยางค์ดู
ที่ความชื้นมาตราฐานของข้าวเปลือก 14 %
มีเปลือกและแป้ง 860 กก. จากน้ำหนักข้าว 1,000 กก.
มีเปลือกและแป้ง 750 กก. จากน้ำหนักข้าว (1,000 /860) x 750
ได้คำตอบ คือ 872 กก.
หมายความว่า
ถ้าโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกที่ความชื้น 25 %
จะต้องอบลดความชื้น (น้ำ) ออก 128 กก .
จึงจะเก็บข้าเปลือกนั้นไว้ได้โดยไม่เสียหาย
และถ้ารับซื้อข้าวเปลือกที่ความชื้น 30 %
จะต้องอบลดความชื้นออกถึง 186 กก.
บอกอีกอย่างได้ก็คือชาวนา
นำน้ำส่วนเกินมาขายให้โรงสีในราคาข้าวเปลือก
ฟังดูไม่สุภาพแต่ก็เป็นอย่างนี้จริงๆ
การอบลดความชื้นในข้าวเปลือก
100-200 กก. ต่อตันข้าวเปลือก ต้องใช้พลังงาน
ความร้อน เครื่องมือเครื่องจักร จำนวนมาก
จัดเป็นงานช้าง สำหรับโรงสี จึงจะสามารถ
รองรับปริมาณข้าวเปลือกที่ออกมาพร้อมๆกัน
หรือในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ตามธรรมชาติของสินค้าเกษตร
และถ้าจะโอนภาระการอบลดความชื้นข้าวเปลือก
ให้กลับมาอยู่ในมือชาวนา ยิ่งเป็นไปไม่ได้
ด้วยประการทั้งปวง
เนื่องจากมีความกระจัดกระจายสูง
และไม่คุ้มค่าการลงทุน และมีปัญหาการจัดการ
ราคาข้าวเปลือกที่มีความชื้นสูง
จึงสะท้อนออกมาอย่างที่รัฐมนตรีบ่นให้ฟังนั่นแหละ
แต่รัฐมนตรีจะรู้ที่มาที่ไปหรือไม่ ไม่ทราบได้
เป็นหมอรักษาคนไข้
ถ้าวินิจฉัยโรคไม่เป็น หรือวินิจฉัยผิดพลาด
หรือไม่มีหลักในการวินิจฉัย
ส่วนใหญ่คนไข้จะตายมากกว่ารอด
ขอภาวนาอย่าให้คุณมิ่งขวัญเป็นหมอเลย
สาธุ...................