คุณแม่กินดี…ลูกน้อยแข็งแรง
สำหรับคุณแม่มือใหม่คงมีความกังวล ใจไม่น้อยกับการดูแลตัวเอง และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ นอกจากจะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอแล้ว เรื่องของอาหารการกินก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกันว่า ควรจะกินอย่างไรให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับสารอาหารครบถ้วน
นอกจากอาหารหลัก 5 หมู่ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรับประทานให้ครบแล้ว อาหารในแต่ละไตรมาสระหว่างการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะในแต่ละช่วงเวลาเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในครรภ์ ก็มีความต้องการสารอาหารเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและอวัยวะให้สมบูรณ์
คุณแหวว -แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัด บอกว่า อาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แบ่งเป็น 3 ไตรมาส ซึ่งในไตรมาสแรก ช่วงเดือนที่ 1-3 ขอแนะนำให้คุณแม่กินอาหารในปริมาณปกติ เพราะเนื่องจากระยะนี้ลูกน้อยยังคงเป็นตัวอ่อน น้ำหนักของคุณแม่อาจยังเพิ่มไม่มากนัก แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ขนมหวานและไขมัน เพราะหากกินมากเกินไปจะทําให้อ้วนง่าย ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีน้ำค่อนข้างมาก เช่น แตงโม ส้ม สับปะรด เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ต้องดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และเมื่อหลังคลอดควรดื่มน้ำในปริมาณ 10 แก้วต่อวัน เพราะการดื่มน้ำจะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมเพิ่มมากขึ้น
“กรณีของไตรมาสแรกเรื่องที่ควรระวังคือ การแพ้ท้อง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนหรืออาหารที่มีเครื่องเทศ และสิ่งที่ควรเพิ่มเติมจากการรับประทานอาหารตามปกติคือ การรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิก ที่เป็นสารอาหารจำเป็นที่ช่วยพัฒนาระบบประสาทป้องกันความพิการด้านสมองของ ลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งพบได้ในผักผลไม้สีเขียวและเหลือง เช่น แคนตาลูป มะละกอ ส้มเขียวหวาน บร็อกโคลี่ เป็นต้น”
ในไตรมาสที่ 2 จะอยู่ในช่วงเดือนที่ 4-6 ระยะนี้ทารกเริ่มเติบโต อวัยวะต่างๆ ของลูกน้อยจะขยายขนาดขึ้น ส่วนสมองก็เป็นช่วงที่มีพัฒนาการมากขึ้น ลูกเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้ คุณแม่จึงต้องการอาหารมากขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ เพื่อให้เพียงพอกับการพัฒนาเซลล์ที่ขยายขนาดขึ้น
เมื่อ ลูกน้อยในครรภ์กำลังขยายขนาดของเซลล์ ร่างกายจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการอาหารในปริมาณมาก โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่จะเป็นตัวช่วยนำสารอาหารต่างๆไปสู่ลูก และช่วยลดอาการอ่อนเพลียของแม่ขณะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งธาตุเหล็กจะพบมากใน ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ไข่แดง ตับ บร็อกโคลี่ คะน้า ผักโขม เป็นต้น
“คุณแม่ควรดื่มนมเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นนมวัวหรือนมถั่วเหลือง วันละ 1-2 แก้วอาจจะแบ่งเป็นนมวัว1 แก้วและนมถั่วเหลือง 1 แก้ว เพื่อป้องกันการแพ้นมวัวของลูก”
ในเรื่องของโครงสร้างกระดูกก็จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสนี้ แคลเซียมจึงเป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่สำคัญ นอกจากนมแล้วผักพื้นบ้าน เช่น ใบยอ ใบย่านาง ก็มีแคลเซียมสูงเช่นกัน
สุดท้ายไตรมาสที่ 3 ช่วงเดือนที่ 7-9 ท้องคุณแม่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 5-6 กิโลกรัม โดยอาหารที่สำคัญคุณแม่ในไตรมาสนี้คือ อาหารบำรุงสมอง ซึ่งช่วง 3 เดือนก่อนคลอดจะเป็นช่วงที่สมองของลูกน้อยมีการแบ่งตัวและพัฒนา การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งมีอยู่ในปลาทะเลก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงแก่สมองของลูกน้อยได้ อย่างสมบูรณ์แบบ
คุณแหวว ย้ำว่า “เนื่อง จากขนาดของลูกน้อยที่โตจนภายในช่องท้องของคุณแม่คับแคบ คุณแม่จึงไม่สามารถกินอาหารเพิ่มได้ครั้งละมากๆ เพราะการรับประทานอาหารมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ จึงควรเพิ่มมื้ออาหาร จากมื้อหลัก 3 มื้อ เป็น 4-5 มื้อย่อย เคี้ยวให้ละเอียด และรับประทานให้ช้า เพื่อป้องกันโรคกรดไหลย้อน ที่พบมากในคุณแม่ช่วงไตรมาสสุดท้าย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ลูกน้อย การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉันใดที่คุณแม่กินอาหารดี ร่างกายก็จะมีสุขภาพดี ส่งผลให้ลูกที่คลอดออกมามีสุขภาพดีฉันนั้น
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th