หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง ใครว่ายาก?

โพสท์โดย PoGuS BigBooM
การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง ใครว่ายาก?

 

 

การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง ใครว่ายาก?

โดย ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร

เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้และปฏิบัติตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

 

1. พื้นอุ้งเชิงกรานคืออะไร ?

2. กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำหน้าที่อะไร ?

3. ถ้ากล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ จะเป็นอย่างไร ?

4. สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอมีอะไรบ้าง ?

5. วิธีบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำอย่างไร?

6. เมื่อไรจะเห็นผลของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน?

7. ถ้าไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานหดตัวได้ จะมีวิธีช่วยอย่างไร?

     

พื้นอุ้งเชิงกรานคือ อะไร

     พื้นอุ้งเชิงกรานประกอบขึ้นด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีรูปร่างเป็นแผ่นบางๆที่ขึงอยู่ใต้กระดูกเชิงกราน โดยด้านหน้ายึดติดกับกระดูกหัวหน่าว และด้านหลังยึดติดกับกระดูกสันหลังส่วนใต้กระเบนเหน็บหรือก้นกบ ดังภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำหน้าที่อะไร ?

     กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ 

-  หดรัดตัวเมื่อคุณไอ จาม หรือ เบ่ง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัสสาวะเล็ดโดยไม่ได้ตั้งใจ 

-  ช่วยพยุงอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในท่ายืน

-  ช่วยปกป้องอวัยวะในอุ้งเชิงกรานจากความเสียหายภายนอก

-  ช่วยยึดอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

-  ช่วยควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ลม และการเคลื่อนไหวของลำไส้

-  มีบทบาทหน้าที่ทางเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจำเป็นต้องแข็งแรงและมีความตึง หรือกำลังที่เพียงพอเหมือนเช่นกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของร่างกาย จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

 

ถ้ากล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอจะเป็นอย่างไร?

การมีกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆหรือทำให้ปัญหาที่เป็นอยู่แย่ลงได้ ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่

1. อาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (stress urinary incontinence) คือ อาการที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจขณะออกแรงหรือใช้กำลังทางกายภาพ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ไอ หรือจาม เป็นต้น 

2. อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (urge urinary incontinence) คือ อาการที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจและเกิดร่วมกับอาการปวดปัสสาวะรีบ (urgency) ซึ่งเป็นความรู้สึกปวดอยากปัสสาวะที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันทีและไม่สามารถรั้งรอต่อไปได้ 

3. อาการผสมของปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมกัน (mixed urinary incontinence) คือ อาการที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดขึ้นทั้งขณะออกแรงหรือใช้กำลังทางกายภาพ และเกิดร่วมกับความรู้สึกปวดปัสสาวะรีบดังอธิบายมาแล้วข้างต้น

4. อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน เกิดเป็นก้อนนูนออกในช่องคลอดหรือโผล่พ้นออกมานอกช่องคลอด อวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อน ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ มดลูกและปากมดลูก

5. สูญเสียความรู้สึกทางเพศ หรือ รู้สึกว่าช่องคลอดไม่กระชับ  

 

สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงมีอะไรบ้าง?

1. การใช้งานน้อยเกินไป กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานต้องการการบริหารเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำงานได้ดี ฉะนั้น การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ตลอดไป (ไม่ใช่ทำเพียงแค่ระยะหลังคลอดบุตรเท่านั้น) เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

2. การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร อาจทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้รับความเสียหาย

3. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในสตรีวัยหมดระดู อาจมีส่วนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลงได้ แต่บทบาทด้านนี้ของฮอร์โมนยังคงมีข้อโต้แย้งกันอยู่

4. อายุที่มากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

5. กล้ามเนื้อเสียหายจากการออกแรงเบ่งมากเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก หรือมีภาวะไอเรื้องรัง หรือโรคอ้วน

 

บทบาทของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน

     การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างเข้มข้นและสม่ำเสมอ จะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทั้งตึงขึ้นและคลายตัวจึงมีผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำหน้าที่พยุงได้ดี โดยไม่ทำงานหนักเกินไป สตรีที่ได้เรียนรู้และฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้องมีประสิทธิผล ส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงดีขึ้นหรือหายขาด จนไม่ต้องรับการผ่าตัดหรืออาจชะลอการผ่าตัดออกไปได้

 

วิธีบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำอย่างไร?

     คุณควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิธีบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง และหมั่นตรวจสอบว่าตนเองยังบริหารกล้ามเนื้อดังกล่าวได้ถูกต้องเป็นครั้งคราว โดยผู้ที่ดูแล เช่น แพทย์ พยาบาลหรือนักกายภาพบำบัด จะใช้แผนภาพ ภาพวาด หุ่นจำลอง หรือวิดีทัศน์ เพื่อช่วยอธิบายให้คุณเข้าใจถึงวิธีบริหารกล้ามเนื้อฯ ที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

1. นั่งเก้าอี้สบายๆโดยแยกเท้าและเข่าทั้งสองข้างให้ห่างออกจากกัน โน้มตัวไปข้างหน้า วางข้อศอกแต่ละข้างไว้บนเข่าด้านเดียวกัน พึงระลึกว่าควรหายใจเข้าออกเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง (ไม่กลั้นหายใจ) รวมทั้งผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าท้อง ขา และแก้มก้น (กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวต้องไม่ตึงขึ้นขณะบริหารกล้ามเนื้อฯ)

2. จินตนาการว่าคุณกำลังพยายามกลั้นไม่ให้ผายลม พร้อมๆกับพยายามหยุดไม่ให้น้ำปัสสาวะไหลจากออกจากกระเพาะปัสสาวะ ขณะที่จินตนาการนั้น คุณควรรู้สึกได้ว่ามีการยกขึ้นและตึงตัวบริเวณรอบๆช่องคลอดและทวารหนัก

3. การฝึกสังเกตกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานขณะบริหาร เป็นวิธีที่มีประสิทธิผลในการช่วยให้คุณตรวจสอบว่าบริหารกล้ามเนื้อได้ถูกวิธี โดยนอนราบลงบนเตียง งอเข่าและแยกขาออก แล้ววางกระจกเงาไว้บนเตียงระหว่างขาทั้งสองข้างเพื่อใช้สังเกต เมื่อคุณบริหารหรือขมิบยกกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน คุณควรเห็นทวารหนักและปากช่องคลอดขยับยกขึ้นและหดจากเดิมเข้าไป

 

ข้อควรระวัง

หากคุณมองจากกระจกเงาเห็นปากช่องคลอดขยายออกกว้างขึ้น แสดงว่าคุณกำลังเบ่งลงแทนที่จะขมิบขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน นอกจากนั้น ถ้ามีปัสสาวะเล็ดหรือผายลมเกิดขึ้นขณะบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน เป็นไปได้ว่าคุณกำลังเบ่งลงแทนที่จะขมิบเพื่อยกกล้ามเนื้อขึ้นเช่นกัน ในระยะแรก คุณอาจไม่สามารถขมิบกล้ามเนื้อให้หดตัวได้ในทันที และกล้ามเนื้ออาจคลายตัวได้ไม่เต็มที่ อย่าเพิ่งท้อถอย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถฝึกขมิบเพื่อหดและคลายกล้ามเนื้อได้ในภายหลัง ถ้าพยายามหาเวลาฝึกบริหารกล้ามเนื้อเองต่อที่บ้าน

 

ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างไร

     ขั้นแรก กำหนด “จุดเริ่มต้น” ของตนเองเสียก่อน ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ดังนี้

- ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้กระชับตึงได้นานที่สุด โดยแก้มก้น กล้ามเนื้อต้นขา หรือกล้ามเนื้อหน้าท้องต้องไม่ตึงแข็งขึ้นดังที่อธิบายก่อนหน้านี้ ขมิบกล้ามเนื้อให้เกร็งค้างไว้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อาจนานได้มากที่สุด 10 วินาที) แล้วจดไว้ในสมุดบันทึก เช่น คุณสามารถขมิบกล้ามเนื้อให้หดเกร็งค้างไว้ได้นานที่สุดเพียงใด? นาน_____วินาที

- คลายกล้ามเนื้อและหยุดพักนานอย่างน้อยเท่ากับเวลาที่หดเกร็งกล้ามเนื้อได้ ทำซ้ำๆเป็นจังหวะ “ขมิบ เกร็งค้างและคลาย” ให้ได้มากครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อาจทำได้มากที่สุด 8 – 12 ครั้ง) แล้วจดไว้ในสมุดบันทึก เช่น คุณสามารถ “ขมิบ เกร็งค้างและคลาย” กล้ามเนื้อซ้ำๆต่อเนื่องกัน ได้กี่ครั้ง? จำนวน_____ ครั้ง

ตัวอย่าง เช่น นาน 2 วินาที จำนวน 4 ครั้ง

 

     ใช้ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่ทำได้เป็น “จุดเริ่มต้น” ของตนเองในบริหารกล้ามเนื้อแต่ละรอบ ให้ได้วันละ 4 ถึง 6 รอบ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานของคุณแข็งแรงขึ้น มีผลทำให้ ”จุดเริ่มต้น” ของการบริหารกล้ามเนื้อในครั้งถัดๆไปของคุณเปลี่ยนไป

 

ตัวอย่าง เช่น นาน 4 วินาที จำนวน 6 ครั้ง

และให้คุณเปลี่ยนมาบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้ “จุดเริ่มต้น” ใหม่นี้แทนของเดิม  

 

     โปรแกรมการบริหารแบบนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานมีความคงทนขึ้น สามารถทำงานหนักและเป็นระยะเวลานานยิ่งขึ้น เมื่อคุณฝึกมาจนถึงขั้นนี้ได้ ให้คุณฝึกขมิบให้กล้ามเนื้อหดแรงแน่นขึ้นโดยไม่ต้องเกร็งค้าง วิธีนี้เรียกว่าการขมิบกล้ามเนื้ออย่างเร็ว ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็ว ขณะคุณหัวเราะ ไอจาม ออกกำลังกาย หรือยกสิ่งของ

 

ควรฝึกขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจำนวนกี่ครั้ง?

     คุณควรตั้งเป้าหมายของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานคือ การฝึกขมิบกล้ามเนื้อให้ได้จำนวน 8 -12 ครั้งต่อรอบ ทำวันละ 3 รอบทุกวัน เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งดูเหมือนไม่ได้ยากอะไร แต่สิ่งที่ยากกว่าคือทำอย่างไรไม่ให้ลืมที่จะฝึกบริหารอย่างสม่ำเสมอมากกว่า ต่อไปนี้คือเคล็ดลับที่อาจช่วยกระตุ้นเตือนความจำของคุณได้

1. สวมนาฬิกาที่ข้อมือด้านที่ไม่ได้ใส่เป็นประจำ เพื่อช่วยเตือนเวลาที่คุณมองดูเวลา

2. ติดสติกเกอร์เตือนไว้ตามบริเวณต่างๆ ที่สะดุดตา (เช่น ที่กระจกในห้องน้ำ โทรศัพท์ ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หรือที่ พวงมาลัยรถยนต์)

3. บริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานหลังถ่ายปัสสาวะ

4. บริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานโดยไม่จำกัดว่าอยู่ในท่าทางหรืออิริยาบทใดก็ตาม

 

เมื่อไรจะเห็นผลของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน?

     คุณจะยังไม่รู้สึกว่าควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น จนกว่าจะฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานต่อเนื่องเป็นเวลานาน 3 ถึง 6 สัปดาห์ แต่บางกรณีอาจต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนจึงจะเห็นผล ฉะนั้น อย่ายอมแพ้ !!

 

     หลังจากที่คุณฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานสำเร็จเห็นผลแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานไว้ให้คงอยู่ตลอดไป โดยการฝึกบริหารอย่างสม่ำเสมอให้ได้สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 3 รอบ รอบละ 3 ชุด ชุดละ 8 -12 ครั้งก็เพียงพอต่อการนี้ พยายามผสมผสานการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนี้ให้เข้ากับกิจวัตรประจำวัน ถ้าคุณเริ่มไม่แน่ใจว่าบริหารกล้ามเนื้อได้ถูกวิธีหรือไม่ ควรสอบถามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบาบัด ที่ดูแลอยู่เพื่อช่วยตรวจสอบให้คุณได้

 

ถ้าไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานหดตัวได้ จะมีวิธีช่วยอย่างไร?

     ถ้าคุณไม่สามารถขมิบเกร็งกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ด้วยตนเอง แพทย์อาจแนะนำวิธีช่วยอื่นๆแก่คุณได้ ดังนี้

 

ไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback)

     การรักษาวิธีนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยระบุตำแหน่งและขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้หดและคลายได้ตามต้องการ โดยอาศัยสัญญาณการตอบสนองจากร่างกายของตนเอง ตัวอย่างหนึ่งของไบโอฟีดแบ็กคือการใช้นิ้วมือคลำสัมผัสกล้ามเนื้อของตนเองขณะขมิบ ส่วนวิธีการอื่นๆ เช่น การติดแผ่นอิเล็ดโตรด (electrode) เล็กๆไว้บริเวณหน้าท้องและแก้มก้น หรือการสอดหัวตรวจชนิดสอดในช่องคลอด (intra vaginal probe) หรือหัวตรวจชนิดสอดผ่านทวารหนักเข้าไปในไส้ตรง (intra rectal probe) แล้วเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถมองเห็นผ่านหน้าจอว่าขณะขมิบกล้ามเนื้อนั้นมีความแรงและระยะเวลานานเพียงใด

 

การรักษาโดยการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (electrical stimulation therapy)

     ในบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถ (หรือยังไม่สามารถ) ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ เนื่องจากเส้นประสาทได้รับความเสียหาย เช่น จากการคลอดบุตรหรือหลังการผ่าตัด การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าจะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานเกิดการหดตัวแบบเทียมขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวแข็งแรงได้ วิธีการนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่สามารถขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้เอง แม้ว่าการขมิบนั้นไม่ค่อยจะมีแรงก็ตาม

 

ข้อควรจำ

1. กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอ ก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้บ่อย

2. การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้องอย่างเข้มข้น ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวแข็งแรง ขึ้น ทำให้การควบคุมกระเพาะปัสสาวะดีขึ้น

3. สอบถามแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบาบัดที่ดูแล ว่าคุณขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ถูกต้องหรือไม่

4. ควรขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้หดเกร็งทุกครั้ง ก่อนไอ จาม กระโดด หรือยกสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันปัสสาวะ ลม หรืออุจจาระเล็ดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานด้วย

5. พยายามควบคุมน้ำหนักตัวคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

แปลและเรียบเรียงโดย

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร

หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

23 เมษายน 2556

 

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA) Pelvic Floor Exercise: A Guide for Women. 2011. 

 

http://www.cmed.cmu.ac.th

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
PoGuS BigBooM's profile


โพสท์โดย: PoGuS BigBooM
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
12 VOTES (4/5 จาก 3 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เปิดตัวขบวน Bangkok Pride 2024 ภายใต้แนวคิด "Celebration of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม"รู้ตัวคนปล่อยคลิปลับ "พิมพ์ กรกนก" แล้ว!..ที่แท้เป็นฝีมือแฟนใหม่ "ยิ้ว วาริ"พระสิ้นคิด แจงปมแม่ชีซื้อ BMW ถวายนาทีประวัติศาสตร์ แกะกล่อง Golden Boyพบสิ่งก่อสร้างลึกลับ ใกล้ปิระมิดเมืองกิซาม.จาวัด ซารีฟ อดีต รมต.ต่างประเทศ อิหร่าน โทษสหรัฐฯ คว่ำบาตร เป็นเหตุ เฮลิคอปเตอร์ ประธานาธิบดี ไรซี ตกสร้างคอนโดหมา..จรจัดเรื่องวุ่นๆ ของคุณครูอนุบาล..เมื่อเด็กๆ มีพัฒนาการไปอีกขั้น
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
นาทีประวัติศาสตร์ แกะกล่อง Golden Boyพระสิ้นคิด แจงปมแม่ชีซื้อ BMW ถวายสร้างคอนโดหมา..จรจัดม.จาวัด ซารีฟ อดีต รมต.ต่างประเทศ อิหร่าน โทษสหรัฐฯ คว่ำบาตร เป็นเหตุ เฮลิคอปเตอร์ ประธานาธิบดี ไรซี ตกภาพยนตร์เรื่องแรก ที่ทำเงินจากการฉายในไทยได้มากถึง 100 ล้านบาท
ตั้งกระทู้ใหม่