นักดนตรีชาวสยามกับเทคนิคเป่าปี่โดยไม่หยุดหายใจ ที่ลอนดอน พ.ศ.2428
“เจ้าเป่าอย่างไร เสียงจึงดังไม่ขาด เจ้ามีลมหายใจมากเป็นพิเศษอย่างนั้นหรือ”
พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
ผู้เป่าปี่โดยใช้เทคนิค circular breathing ถวายควีนวิคตอเรียในกรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2428
สวัสดีครับเพื่อนๆ เคยสังเกตุกันบ้างหรือเปล่าครับว่า นักเป่าขลุ่ยหรือปีบ้านเรา สามารถเป่าเสียงทอดยาวได้โดยไม่ต้องหยุดพักหายใจเป็นเวลานานๆ เรื่องนี้เป็นความชาญฉลาดของครูไทยในอดีตที่สามารถฝึกการหายใจเข้า ในขณะที่เป่าลมออก ดังนั้นเสียงขลุ่ยจึงไม่ขาดตอน ดังเรื่องเล่าจากจดหมายเหตุดนตรีไทย 5 รัชกาล เล่าถึงคราวที่นักดนตรีไทยได้ไปเยือนกรุงลอนดอนในปี พ.ศ.2427
การเดินทางไปกรุงลอนดอนครั้งนั้น เป็นการไปร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าและดนตรีนานาชาติ (expo) ตามคำเชิญของรัฐบาลอังกฤษ โดยผู้จัดทูลเกล้าถวายวงดนตรีไปในครั้งนี้ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
ตามบันทึกของนายคร้าม บุญญศาสตร์ คนสีซอสามสาย ได้ให้รายละเอียดไว้ว่ามีนักดนตรีร่วมเดิมทางไปในคราวนี้ 19 คน คือ
นายตาด, จางวางทองดี, นายยิ้ม, นายเปีย, นายชุ่ม, นายสิน, นายสาย, นายนวล, นายเนตร, นายต่อม, นายฉ่าง, นายคร้าม, นายแปลก, นายเหม, นางสังจีน, นายเปลี่ยน, นายอ๋อย, นายเผื่อน และนายปลั่ง
มีผู้ที่กลับมาและได้รับราชการอยู่ในกรมพิณพาทย์และมหรสพหลวงหลายคน เช่น
นายตาด ต่อมาได้เป็นพระประดิษฐไพเราะ
จางวางทองดี ได้เป็นหลวงเสนาะดุริยางค์ เป็นต้น
พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป่าปี่
มีเรื่องเล่าอยู่ในหนังสือ “คนไทยในราชสำนักพระนางวิคตอเรีย” ซึ่งเป็นบันทึกของนายคร้าม บุญญศาสตร์ ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2428 เมื่อนักดนตรีไทยรวมทั้งนายแปลกและนายตาดได้บรรเลงดนตรีให้พระนางวิคตอเรียฟังหน้าพระที่นั่ง พระนางวิคตอเรียรู้สึกประทับใจกับการเป่าปี่แบบไทยมาก เพราะใช้เทคนิคการเป่าแบบ “ระบายลม” สามารถเป่าลากเสียงยาวนานได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดพักหายใจ ถึงกับต้องเรียกนายแปลกเข้ามาถามว่า “เจ้าเป่าอย่างไร เสียงจึงดังไม่ขาด เจ้ามีลมหายใจมากเป็นพิเศษอย่างนั้นหรือ”
นี่จึงเป็นเรื่องที่นักดนตรีไทยในคราวนั้นภาคภูมิใจเป็นอันมาก ที่ทำให้ชาติตะวันตกรู้สึกทึ่งในความสามารถ
พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
แต่การเป่าเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมด้วยเทคนิคนี้ ที่จริงแล้วปรากฏอยู่ในหลายๆ แห่งทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศสยามเท่านั้น เช่นการเล่น didgeridoo ของชาวออสเตรเลียน ก็ใช้เทคนิคนี้เช่นเดียวกัน
เทคนิคนี้ยังพบในอียิปต์ และในประเทศแถบเอเชียอีกหลายแห่ง
การเป่าลมแบบต่อเนื่องนี้ ใช้เทคนิคการหายใจแบบที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า circular breathing คือหายใจวนอย่างต่อเนื่อง
อธิบายคร่าวๆ ว่าเป็นการที่นักดนตรี ผ่อนลมหายใจออกจากปอดอย่างช้าๆ และชั่วขณะที่ลมหายใจสุดท้ายใกล้จะหมด นักดนตรีจะกักลมหายใจส่วนสุดท้ายนั้นไว้ที่แก้ม
และขณะที่ปล่อยลมหายใจสุดท้ายออกจากแก้มอย่างช้าๆ ทางปาก ในชั่วขณะสั้นๆ นั้นเอง ที่นักดนตรีจะต้องสูดลมหายใจเข้าทางจมูกอย่างรวดเร็ว และนำไปเก็บกักไว้ในปอด
ด้วยวิธีหายใจแบบนี้ เสียงเป่าปี่หรือขลุ่ยก็จะสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดขาดตอน ไม่ต้องหยุดหายใจ ทำให้สามารถบรรเลงท่วงทำนองเพลงที่ยาวเป็นพิเศษได้
การเป่าด้วยวิธีนี้นักดนตรีไทยเดิมรุ่นเก่าๆ ที่ผมได้สัมผัสสมัยเรียนดนตรีไทยในมหาวิทยาลัยก็ทำได้ครับ ผมเคยขอครูลองดู ยากมาก ต้องแยกประสาทให้ดี อย่างนักดนตรีสมัยปัจจุบันที่มีโอกาสได้เห็นก็คือ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี นักดนตรีที่มากความสามารถท่านหนึ่ง โดยเฉพาะขลุ่ยที่ท่านมีความชำนาญเป็นพิเศษ และเพลงที่ผมจะให้ชมเป็นตัวอย่างคือเพลงน้ำตาแสงใต้ ให้สังเกตุเพลงในวินาทีที่ 34-52 ท่านเป่าโดยใช้เทคนิคหายใจเข้าและเป่าออกโดยเสียงไม่ขาดตอน
น้ำตาแสงใต้ (ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี)
พระยาประสานดุริยศัพท์ ป่วยโดยโรคชรา และถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 65 ปี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2467
ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่องเทคนิคการเป่าขลุ่ยของนักดนตรีไทยในอดีตที่นำมาฝากกัน แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
หมายเหตุ บางแหล่งที่มากล่าวว่าท่านได้รับเลือกให้ไปร่วมฉลองครบรอบร้อยปีของพิพิธภัณฑ์เมืองเวมบลีย์ที่ประเทศอังกฤษ ผลของการบรรเลงขลุ่ยของท่านเป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับรับสั่งขอฟังเพลงขลุ่ยเป็นการส่วนพระองค์ในพระราชวังบัคกิ้งแฮมอีกครั้ง การบรรเลงครั้งหลังนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงลุกจากที่ประทับและใช้พระหัตถ์ลูบคอพระยาประสานฯ พร้อมทั้งรับสั่งถามว่า "เวลาเป่านั้นหายใจบ้างหรือไม่ เพราะเสียงขลุ่ยดังกังวานอยู่ตลอดเวลา"
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
https://us-fbcloud.net/wb/data/698/698403-topic-ix-1.jpg
http://th.wikipedia.org/พระยาประสานดุริยศัพท์_(แปลก_ ประสานศัพท์)
http://www.oknation.net/blog/insanetheater/2013/08/12/entry-1