"เจ้านาย" ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ เมื่อปี พ.ศ. 2477
รัชทายาทในสมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงประสบปัญหาเรื่องรัชทายาทคล้ายคลึงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพราะถึงแม้จะทรงมีพระอัครมเหสี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจะทรงมีพระราชโอรสสืบสันตติวงศ์แต่อย่างใด
ประกอบกับที่ทรงมีพระสุขภาพไม่ค่อยปกตินักจึงมักมีผู้คาดการณ์เกี่ยวกับเจ้านายที่จะรับเป็นรัชทายาทแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีเจ้านายหลายพระองค์ที่อยู่ในข่าย หรือได้รับการสนับสนุนให้เป็นรัชทายาท
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช
ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ตำแหน่งรัชทายาทควรจะตกอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต้นราชสกุล “มหิดล”) พระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระพันวัสสา) พระมเหสีที่มีพระอิสริยยศรองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ(สมเด็จพระพันปีหลวง) แต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 38 พรรษาเท่านั้น ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุล “บริพัตร”) พระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงอีกพระองค์หนึ่งที่หลายฝ่ายสนับสนุนและต้องการให้พระองค์เป็นรัชทายาท แม้จะทรงอยู่ในอันดับที่ 3 ของลำดับผู้ที่สืบสันตติวงศ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงกล่าวถึงพระฐานะของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร ไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ความว่า
“...เมื่อข้าพเจ้าอยู่เมืองไทยเวลานั้น (๒๔๗๓) ตามเสียงคนพูดกันทั่วไปดูทุก ๆ คนรู้สึกกันว่า ถ้าทูลกระหม่อมอายังคงไม่มีพระราชโอรสอยู่ตราบใด ทูลหม่อมลุงบริพัตรทรงมีหวังที่จะได้รับตั้งสืบราชสมบัติต่อไปมากกว่าเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ถึงแม้ตามกฎมณเฑียรบาลท่านทรงเป็นพระองค์ที่ ๓ อยู่แล้ว เวลานั้นท่านทรงเป็นเจ้านายที่มีตำแหน่งราชการสำคัญที่สุด
ทรงเป็นใหญ่ในอภิรัฐมนตรีสภา เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมอาเสด็จประพาสอเมริกาก็ได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรากฏว่ามีผู้คนรักใคร่นับถือเป็นอันมาก...”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าพงษ์จักร เป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน มีศักดิ์เป็นพระราชภาติยะ (หลานอา) ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีผู้คาดหมายว่าพระองค์อาจเป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาท เพราะทรงเป็นเจ้านายชั้นหลานเธอเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษในฐานะที่ทรงเป็นหลานอาแท้ ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว
เช่น เมื่อเสด็จกลับมาประทับในกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราวในปี พ.ศ. 2473 ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศยุโรป รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จฯ ไปรับพระองค์จุลด้วยพระองค์เองที่สถานีรถไฟจิตรลดา ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับอยู่ที่พระนั่งอุดร ภายในพระราชวังดุสิต และการได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 ในขณะที่เจ้านายหลานเธอชั้นเดียวกันได้รับพระราชทานชั้นที่ 2 เป็นต้น
แต่การยกย่องเป็นพิเศษนี้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงยืนยันว่ารัชกาลที่ 7 ไม่ได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้พระองค์เป็นรัชทายาทแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะทรงเป็นหลานอาแท้ ๆ ที่ทรงคุ้นเคยกันมาก่อน และในความเป็นจริงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ได้ถูกตัดสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว เพราะทรงมีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว และรัชกาลที่ 7 เองก็ทรงแสดงพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ในการที่จะไม่ยกพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ลงวันที่ 15 มกราคม 2471 ความว่า
“...ฉันจะพูดกับแกตรง ๆ และหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่ต้องเอามาพูด แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวดี คือแกเป็นคนครึ่งชาติและเพราะเหตุผลนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ ฉันไม่ต้องการให้แกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายอร์ช (แห่งอังกฤษ จ.จ.) เพราะแกไม่อยู่ในขอบเจตสืบสันตติวงศ์ ฐานะของแกในเมืองไทยคือเป็นเจ้านายและเป็นหลานแท้ ๆ ของฉัน แต่ต้องถูกยกเว้นจากการได้ขึ้นราชบัลลังก์
ฉันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (ร.6. จ.จ.) ท่านทำผิดในการที่ทรงตั้งแกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เพราะท่านได้ตั้งพระทัยจะยกเว้นแกมาตั้งแต่แรก การเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอมีแต่จะทำให้ฐานะแกครึ่งๆ กลางๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว...”
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าอานันทมหิดล เป็นพระโอรสองค์โตในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ กับหม่อมสังวาลย์ เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์พระองค์จึงได้ทรงอยู่ในอันดับที่ 1 ของลำดับการสืบสันตติวงศ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเกิดวังปารุสก์ ดังนี้
“...ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ หากทูลกระหม่อมอาเอียดน้อยมิได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์อื่น องค์ชายอานันท์ก็ย่อมจะเป็นรัชทายาท แต่ทูลหม่อมอายังมิได้ประกาศรับรองว่าเป็นเช่นนั้น...”
ดังนั้นในขณะที่รัชกาลที่ 7 ยังไม่ทรงตั้งเจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใดเป็นรัชทายาท พระองค์เจ้าอานันทมหิดลจึงเป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่คาดกันว่าอาจจะได้เป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อไปตามกฎมณเฑียรบาล ดังที่สมเด็จพระเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ความว่า
“...วันหนึ่งพระองค์ชายกลับมาจากโรงเรียนและมาบอกแม่ว่ามีเพื่อนที่โรงเรียนมาเรียกว่า ‘องค์โป้ย’ แม่จึงเข้าใจทันทีว่าแปลว่า ‘องค์ 8’...”
หมายเหตุ พระอิสริยยศของเจ้านายแต่ละพระองค์ที่อ้างถึงนั้น เป็นพระอิสริยยศที่ดำรงอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 7
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กับการสละราชสมบัติ
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชประสงค์จะให้เกิดการนองเลือดในแผ่นดินจึงทรงรับที่จะเป็น “หุ่นเชิด” ให้กับรัฐบาลใหม่ และเสด็จกลับพระนครในวันรุ่งขึ้นเพื่อลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2475
“...วันที่ 30 มิถุนายน 2475 เวลา 17.15 น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เข้าเฝ้าฯ ที่วังศุโขทัย มีพระราชดำรัสว่าอยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ
อีกอย่างหนึ่ง อยากจะแนะนำเรืองสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระพุทธเจ้าหลวงเคยทรงพระราชดำริที่จะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อเหตุการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย พระราชดำริเห็นว่าพระโอรสสมเด็จสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพช็รบูรณ์ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่สืบสันตติวงศ์ต่อไปควรเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ…”
แต่คณะผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ในวันนั้นได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติต่อไป และพระราชดำริที่จะสละราชสมบัตินั้นขอให้งดไว้ก่อนจนกว่าการปกครองระบอบใหม่จะมั่นคง ปีพุทธศักราช 2476 ซึ่งถือเป็นปีแห่งวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของสยาม รัชกาลที่ 7 ทรงไม่เห็นด้วยกับการเค้าโครงร่างเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และเกิดการโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางถึงแนวคิดที่อาจนำพาประเทศไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์
เพื่อระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงประกาศปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกับเนรเทศหลวงประดิษฐ์ฯ ออกนอกประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคณะราษฎรเป็นอย่างมาก ในที่สุดจึงเกิดการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2
จากนั้นไม่นานคณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ก่อกบฏยกกองทหารหัวเมืองจากนครราชสีมาเข้ามาตีกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึงขณะนั้นประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ทรงถูกรัฐบาลสงสัยว่าให้การสนับสนุนการกบฏในครั้งนี้ และเมื่อทรงแน่พระทัยว่าพระองค์ และพระราชวงศ์ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชสำนักไปยังสงขลา มีเจ้านายทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายในและข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดตามเสด็จฯ เป็นจำนวนมาก เมื่อเหตุการณ์ทางกรุงเทพฯ สงบลง รัฐบาลจึงส่งตัวแทนมากราบบังคมทูลให้เสด็จกลับพระนคร พร้อมกับมีการเจรจาเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น เรื่องการชำระโทษผู้คิดก่อการกบฏต่อหน้าพรที่นั่ง
เมื่อทรงไม่สามารถเจรจาให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ได้ และทรงมีพระราชดำริว่าพระองค์ไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใดได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เจ้านายและขุนนางหลายท่านที่อาจโดนภัยคุกคามจากรัฐบาลเดินทางออกจากประเทศสยามก่อนที่พระองค์จะเสด็จนิวัติพระนคร
“...ตลอดระยะเวลาที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลาง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลมิได้ดีขึ้น ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง...
...ระหว่างที่ประทับอยู่ที่อังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยขัดแย้งกับรับบาลหลายเรื่อง ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2477 ทรงมีพระราชโทรเลขถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ทรงสมัครพระราชหฤทัยจะสละราชสมบัติ ...”
( เรื่องเดียวกัน หน้า 84 – 85 อ้างในเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ )
จากนั้นมารัฐบาลจึงได้เริ่มทำการประนีประนอมกับรัชกาลที่ 7 เพราะรัฐบาลเองก็ไม่มีประสงค์จะให้ทรงสละราชสมบัติ ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 2 ถึงรัฐบาล โดยทรงพระราชทานผ่านพระยาราชวังสัน อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“...ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นไปอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ฉันมีความสงสัยอย่างยิ่งว่าจะเป็นการดีสำหรับประเทศหรือ ที่จะให้ฉันดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศต่อไป การที่ประมุขของประเทศและรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร มีความระแวงสงสัยแก่กันอยู่เสมอ และอาจมีข้อแตกร้าวต่อไปนั้นเป็นการดีหรือ
ถ้าฉันลาออกจากตำแหน่งเสียแล้ว ให้สภาฯ เลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แล้วแต่จะเห็นควรขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนจะไม่ดีกว่าหรือ...
...ฉันมีความคิดเห็นอย่างนี้มานานแล้ว และได้อธิบายให้รัฐมนตรีบางคนฟังก็มี แต่โดยมากไม่มีใครยอมคิดเห็นพ้องกับฉัน ก็เพราะที่สำคัญอย่างเดียว คือ ไม่มีใครแน่ใจว่าควรเลือกเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป
ทางที่จะเลือกมีดังนี้
๑ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งอ้างได้ว่าให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ทางนี้ผลดีอยู่มาก คือเป็นทางที่ตรงตาม Legality แต่เสียทีที่ยังเป็นเด็ก แม้การเป็นเด็กนั้นเองก็อาจเป็นของดี เพราะถ้ามีอะไรผิดพลาดไป ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์
ไม่มีใครซัดทอดไปถึงซึ่งจะเป็นข้อดีมาก ข้อสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้สำเร็จราชการ ซึ่งฉันเห็นว่า เจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ หรือทูลกระหม่อมหญิงวไลย องค์ใดองค์หนึ่งทรงดำรงตำแหน่งนี้แล้ว จะเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไป และไม่น่าจะเป็นศูนย์กลางแห่งการแตกร้าวกันระหว่างคณะการเมืองต่าง ๆ ด้วย
๒ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ซึ่งอาจจะยินดียอมรับตำแหน่งและฉันได้ทราบแน่นอนว่ามีความคิดเห็นอยู่หลายอย่างในทางที่จะทำให้พระมหากษัตริย์กับคณะราษฎรหมดข้อบาดหมางกันได้ และดำเนิน Policy บางอย่างที่จะเป็นที่พอใจของคณะราษฎร เช่น จะยกสมบัติพระคลังข้างที่ให้กับรัฐบาลและขอเงินก้อนประจำปีแทน จะเลิกทหารรักษาวัง และยอมให้รับบาลตั้งข้าราชการในราชสำนักตามใจ วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ฉันเองยอมไม่ได้ และจะต้องวิวาทกับรัฐบาลอีกต่อไปอย่างแน่นอน เว้นแต่รัฐบาลจะผ่อนผันตาม
ทางเสียนั้น เห็นจะไม่ต้องอธิบาย เพราะใครก็นึกเห็นได้
ในสองทางที่จะเลือกนี้ ฉันพร้อมที่จะสนับสนุนโดยเต็มที่ แล้วแต่รัฐบาลและสภาฯ จะเลือกทางไหน ( 100 ปี พระปกเกล้าฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร )
“...ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 รัฐบาลพยายามหาทางประนีประนอมให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาครองราชย์ในประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะผู้แทนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นาวาตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ ร.น. และนายดิเรก ชัยนาม ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูลชี้แจงความคิดเห็นของรัฐบาล แต่มีปัญหาขัดแย้งหลายประการที่ไม่อาจยุติได้...” ( เรื่องเดียวกัน หน้า 84 – 85 อ้างในเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ )
ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแสดงพระราชประสงค์กับคณะผู้แทนของรัฐบาลว่าจะทรงสละราชสมบัติ
"พระองค์เจ้าอานันทมหิดล" องค์รัชทายาท
เมื่อคณะผู้แทนของรัฐบาลได้ทราบพระราชประสงค์อันชัดเจนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการที่จะทรงสละราชสมบัติ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็น 1 ในคณะผู้แทนของรัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลลาเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลทราบต่อไป และก่อนที่จะเดินทางกลับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้รับมอบหมายให้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
"...ในระหว่างที่พักอยู่กรุงปารีส ได้ขอให้อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสโทรเลขไปยังหม่อมสังวาล มหิดล ซึ่งอยู่ที่โลซาน (Lausanne) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่ารัฐบาลมีคำสั่งให้กระผมมาเฝ้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล จะโปรดให้เข้าเฝ้าวันใด
ได้รับโทรเลขตอบจากหม่อมสังวาลว่า โปรดให้เข้าเฝ้าในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ฉะนั้นในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ กระผมจึงเดินทางออกจากรุงปารีสโดยทางรถไฟ ถึงโลซาน (Lausanne) ในวันนั้น และได้เข้าเฝ้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น...."
(หนังสือที่หลวงธำรังนาวาสวัสดิ์ เรียนพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องสละราชสมบัติ ลงวันที่ 1 มีนคม 2477)
"...วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2477 แม่มีจดหมายกราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่าหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะมาหาเพื่อพูดเรื่องพระองค์เจ้าอานันทมหิดล '...หม่อมฉันก็จะบอกกับเขาว่าการรับหรือไม่รับนั้นไม่เป็นหน้าที่ของหม่อมฉันที่จะตอบ แล้วแต่ใต้ฝ่าพระบาท*และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หม่อมฉันมีสิทธิที่จะพูดได้ก็คือสำหรับร่างกายของนันท เพราะเวลานี้ร่างกายยังอ่อนแอนัก และไม่ถูกกับอากาศร้อน หมอแนะนำให้อยู่ที่นี่ต่อไป...' ..." (เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์)
"...19 กุมภาพันธ์ 2477 แม่ได้มีจดหมายไปกราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า '..เขาพูดเรื่องรัฐบาลอยากให้นันทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาออกจริง ๆ หม่อมฉันก็ได้พูดกับเขาตามที่ได้กราบทูลไป คือ การจะรับหรือไม่รับต้องแล้วแต่ใต้ฝ่าพระบาท* และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาเข้าใจและทราบดี..' ..." (เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์)
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2477 และในวันที่ 1 มีนาคม 2477 ได้มีหนังสือเรียนนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องสละราชสมบัติความว่า
"... ข้อ ๑ ... มีความตอนหนึ่งว่า ถ้าทรงสละราชสมบัติแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกพระบรมวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะตัดความระแวงสงสัยในระหว่างพระองค์ท่านกับรัฐบาลและสภาฯ เสียได้ แต่ก็ทรงเห็นว่ามีทางเสียในข้อที่อาจมีผู้คิดล้มพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสียและขอร้องให้พระองค์ท่านกลับขึ้นครองตำแหน่งตามเดิม
แต่ทางเสียนี้ทรงเห็นว่า ถ้าหากได้ประกาศเสียโดยชัดเจนว่า ได้ทรงสละราชสมบัติโดยสมัครพระทัย และแม้ว่าจะมีผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อถวายพระราชอำนาจคืน ก็จะไม่ทรงยอมรับ ดังนัีี้แล้วก็จะแก้ทางเสียนี้ได้
ข้อ ๒ ... ถ้าทรงสละราชสมบัติจริงแล้ว ก็จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และรัฐธรรมนูญจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนและนำมาซึ่งความยุ่งยากอันเกิดจากการชิงราชสมบัติในภายหน้า..."
* หมายถึง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระยศในขณะนั้น)
ปรึกษาข้อราชการ
วันที่ 2 มีนาคม 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ (พระยศขณะนั้น) มีพระหัตถเลขาแจ้งความมายังนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ความว่า
"...ด้วยข้าพเจ้าได้รับพระราชโทรเลข มีความว่า ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติลงพระปรมาภิไธย พระราชทานแก่เจ้าพระเยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสถาผู้ราษฎร(แล้ว) ... มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอันพันไปในวันที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ จะลงนามในเอกสารอันใดไม่ได้อีกต่อไป..."
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งเรื่องการสละราชสมบัติจากองค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ในวันเดียวกันนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ ดังต่อไปนี้
"...คณะรัฐมนตรได้ตกลงว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับรองการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็จะได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎร รับรองผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป โดยยึดหลักแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยเคร่งครัดทุกประการ และถ้าได้แก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลแล้ว ก็จะได้ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกบุคคลหรือคณะบุคคลขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระชนมายุเข้าเกณฑ์บรรลุนิติภาวะ แล้วคณะรัฐมนตรีตั้งใจจะไปเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาทาตุจฉาเจ้าพระบรมราชเทวีในวันพรุ่งนี้ เพื่อฟังพระกระแสในข้อที่เกี่ยวแก่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลต่อไป...
นายกรัฐมนตรี กราบทูลว่า ใคร่จะขอพระราชทานบัญชีรายพระนามเจ้านายเรียงลำดับตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพื่อได้ไปพิจารณา
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ตรัสว่า กระทรวงวังผู้เป็นเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นแล้ว และส่งมาให้ทรงตรวจ เมื่อทรงตรวจแล้วจะได้ลงพระนามว่าถูกต้อง แล้วจะพระราชทานคืนไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ขอให้เรียกเอาจารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเถิด..." (บันทึกเรื่องนายกรัฐมนตรีมาเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 อ้างในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)
นอกจากนี้ยังได้มีการปรึกษาข้อราชการในอีกหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการปฏิบัติราชการในระหว่างที่ยังไม่มีผู้สำเร็จราชการ และเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้กราบทูลว่าในขณะที่อยู่ปารีสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เพื่อกราบทูลขอให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการฯ แล้วแต่ทรงตอบปฏิเสธ
จึงได้กราบทูลขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ต่อไป หรือจะดำรงตำแหน่งนี้ไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าเหตุการณ์จะเป็นปกติก็ได้ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศฯ ก็ทรงปฏิเสธ โดยทรงอ้างปัญหาเกี่ยวกับพระสุขภาพ ซึ่งเรื่องจะขอให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการฯ นั้นอย่าว่าแต่ 3 เดือนเลย อีก 3 วันก็ไม่ทรงรับ นายกรัฐมนตรีและคณะจึงได้กราบทูลลากลับไป
สำหรับบัญชีรายพระนามเจ้านายเรียงลำดับตากฎมณเฑียรบาล ซึ่งกระทรวงวังเป็นผู้จัดทำขึ้น และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ได้ลงพระนามว่า "ถูกต้อง" มีรายพระนามดังต่อไปนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์
๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
๔. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๕. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร
๖. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร
๗. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
๘. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร
๙. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ
๑๐. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท
๑๑. หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์
๑๒. หม่อมเจ้านักขัตมงคล
๑๓. หม่อมเจ้าขจรจบกิติคุณ
๑๔. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิตติบดี
๑๕. หม่อมเจ้ากัลยาณวงศ์ ประวิตร
๑๖. หม่อมเจ้าจิตรปรีดี
๑๗. หม่อมเจ้าวิกรมสุรสีห์
๑๘. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
๑๙. หม่อมเจ้าประสบศรีจีรประวัติ
๒๐. หม่อมเจ้านิทัศนาธร
๒๑. หม่อมเจ้าขจรจิรพันธุ์
๒๒. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๓. พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
ภายหลังจากนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งกรัณยสภา ในพระบรมมหาราชวังแล้ว วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 มีนาคม 2477 จึงได้ขอเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ณ วังสระปทุม เพื่อขอพระราชทานความเห็นเกี่ยวกับการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระนัดดาของพระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่สมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็มีพระราชดำรัสตอบเพียงว่าสุดแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
"ทำกรรมให้กับเด็ก เพราะลูกแดง (หมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ฯ) ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้ลูกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อยากให้หัดเป็นคนธรรมดา พลเมืองช่วยบ้านเมือง"
(สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)
"...คณะรัฐมนตรีจึงได้ปรึกษากันในระหว่าง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 8 มีนาคม เพื่อพิจารณาว่าเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีพระองค์ใดสมควรที่รัฐบาลจะเสนอขอความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป เพราะในรัฐธรรมนูญนั้นได้กล่าวไว้ว่า "โดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ฯลฯ" ในขณะนั้นมีเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงศักดิ์ "พระองค์เจ้า" พระโอรสแห่งสมเด็จเจ้าฟ้าหลายพระองค์ รัฐมนตรีหลายท่านก็ยังมิได้ศึกษากฎมณเฑียรบาลนั้นให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ส่วนข้าพเจ้าเองเคยศึกษาไว้บ้างเพื่อนำไปสอนในวิชากฎหมายปกครองที่โรงรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2474 ก็ช่วยอธิบายหลักการใหญ่ของกฎมณเฑียรบาลนั้นที่ได้กำหนดลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์ไว้หลายกรณี....
แต่รายละเอียดในการลำดับอาวุโสของพระบรมวงศานุวงศ์ (ที่เจ้านายเรียกว่าโปเจียม) ของพระบรมวงศานุวงศ์นั้น รัฐมนตรีแทบทุกคนยกเว้นเจ้าพระยาวรพงษ์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังที่รู้เรื่องแล้ว นอกนั้นไม่รู้รายละเอียดว่าพระโอรสและธิดาของเจ้านายองค์ใดทรงพระอิสริยยศเป็นหม่อมเจ้า พระองคืเจ้า สมเด็จเจ้าฟ้า ...
...คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในประเด็นแรกว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระเชษฐาร่วมพระราชชนนี ที่มีพระโอรสทรงพระชนม์อยู่คือ
(1) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ 6 ครั้นแล้วจึงพิจารณาคำว่า โดยนัย แห่งกฎมณเฑียรบาล 2467 นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะต้องยกเว้นตามมาตรา 11 (4) แห่งกฎมณเฑียรบาลนั้นหรือไม่ เพราะมารดามีสัญชาติเดิมเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งตามตัวบทอย่างเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียงยกเว้นผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีชายาเป็นนางต่างด้าว)
รัฐมนตรีบางท่านเห็นว่าข้อยกเว้นนั้นใช้สำหรับรัชทายาทองค์อื่น แต่ไม่ใช่ในกรณีสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถซึ่งขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สถาปนาเป็นรัชทายาทนั้นก็ทรงมีพระชายาเป็นนางต่างด้าวอยู่แล้ว และทรงรับรองเป็นสะใภ้หลวงโดยถุกต้อง แต่ส่วนมากของคณะรัฐมนตรีตีความว่าคำว่าโดยนัยนั้นย่อมนำมาใช้ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะสืบสันตติวงศ์มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย
(2) พระองค์เจ้าวรานนท์ฯ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช .... (บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อ้างในการสืบสันตติวงศ์ : ส. ศิวลักษณ์ นิตยสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉ.4 ต.ค -ธ.ค. 2548) แต่เจ้านายพระองค์นี้รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้ข้ามไปแล้ว ลำดับการสืบสันตติวงศ์จึงตกมาถึงพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ตามบัญชีรายพระนามของกระทรวงวัง
วันพุธที่ 6 มีนาคม 2477 เวลา 20.15 น. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาประชุมพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต
ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ (พระยศในขณะนั้น) กล่าวว่า
"ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 นั้น มีความว่าการสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบไปด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 8 แห่งกฎมณเฑียรบาลที่ว่านั้น มีความว่าอย่างนี้ คือว่า ท่านให้เป็นหน้าที่ท่านเสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์องค์ที่ 1 ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ ดังแถลงในมาตรา 9 ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
แล้วก็มาตรา 9 บัญชีที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังอ่านเสนอเมื่อกี้นี้ก็เป็นลำดับตามมาตรา 9 แต่ว่าตามมาตรา 8 นั้นว่าให้ได้แก่ พระองค์ที่ 1 คราวนี้ควบเข้ากับรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ก็แปลว่าพระองค์ที่ 1 คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นจะสืบราชสมบัติก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ต่อเมื่อสภาฯไม่เห็นชอบด้วยกับพระองค์นั้นแล้ว ก็จะต่อไปพระองค์ที่ 2 ตามลำดับ"
...
นายไต๊ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า
"ตามบัญชีรายพระนามนี้แน่แล้วหรือ ข้าพเจ้ายังสงสัย เพราะว่ากรมหลวงเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยไม่เห็นมี ข้าพเจ้าสงสัยขอให้อธิบาย"
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าว่า
"พระองค์เพ็ชรบูรณ์นั้นพ้นไปแล้ว ในหลวงแผ่นดินนี้ (รัชกาลที่ 7) ท่านอยู่ต่ำกว่า ท่านรับมาแล้ว นั่นเหนือขึ้นไป"
...
หลังจากที่มีการอภิปรายกันในประเด็นต่างๆ เรียบร้อยแล้วนั้นในที่สุดผู้ทำหน้าที่แทนประธานสภาฯ ได้ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับรองพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ปรากฎว่า มีผู้ยืนรับรอง 127 นาย และมีผู้ไม่ยืนรับรอง 2 นาย จึงเป็นอันว่าสภาฯ ได้ให้ความเห็นชอบรับรองพระองค์เจ้าอานัทมหิดล ขึ้นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 8 สืบไป
เรื่องจาก ::: คุณ รอยใบลาน จาก Bloggank.com
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=roybilan
ภาพจาก ::: Internet