“วิธีเพิ่มความสุขแบบแปลกๆ” ที่วิทยาศาสตร์บอกว่าได้ผล
ใครๆ ก็พยายามหาวิธีทำให้ตัวเองมีความสุขกันทั้งนั้น แต่วิธีทำให้มีความสุขไม่ได้จำกัดแต่วิธีทั่วไปที่เรารู้จักกันเท่านั้น ยังมีวิธีแบบแปลกๆ ที่วิทยาศาสตร์บอกมาแล้วว่าได้ผลจริง
ดูภาพยนตร์เศร้า
ที่มาภาพ glamour
ถ้าลองดูจากรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ในงานแจกรางวัลออสการ์ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมานี้ อย่างเช่นBraveheart, Titanic , Million Dollar Baby หรือ The King’s Speech จะสังเกตเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่มีไคลแมกซ์ของเรื่องเศร้าสะเทือนใจทั้งนั้น เพราะอะไรภาพยนตร์เหล่านี้ถึงได้รับความนิยมและคำชมแพร่หลายทั้งๆ ที่ดูแล้วน่าจะทำให้เศร้าหนักมากกว่า?
นักวิทยาศาสตร์เองก็สนใจในเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้น จึงได้มีการทำทดลองกับกลุ่มคนหลายร้อยคน โดยให้ดูภาพยนตร์เรื่อง Atonementซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เศร้าที่สุดเรื่องหนึ่ง
ที่มาภาพ joblo
ก่อนที่จะเริ่มทดลอง จะมีการสอบถามและบันทึกถึงระดับความสุขในการใช้ชีวิตของผู้ที่เข้าทดลอง ซึ่งรวมถึงเรื่องของเป้าหมายในชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หลังจากนั้นจึงให้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งยาว 120 นาที แล้วให้ตอบคำถามเดิมอีกรอบเพื่อวัดระดับอารมณ์และความสุข
น่าแปลกที่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้เข้าทดลองรู้สึกมีความสุขมากขึ้นหลังจากดูภาพยนตร์จบแล้ว เพราะจิตใต้สำนึกจะสั่งให้คนเปรียบเทียบชีวิตและความสัมพันธ์ของตัวเองกับเรื่องเศร้าในภาพยนตร์ การที่ได้เห็นตัวละครพบกับความทุกข์ทำให้คนส่วนมากรู้สึกดีขึ้นกับชีวิตของตัวเองที่เศร้าเทียบกับคนในภาพยนตร์ไม่ได้เลยสักนิด
ดังนั้น คราวหน้าถ้าคุณเกิดเศร้าหนัก หมดหวังในชีวิต อกหัก ทะเลาะกับแฟน ลองชมภาพยนตร์เศร้าแบบมาราธอนดูอาจจะทำให้รู้สึกดีขึ้นกับชีวิตตัวเองอีกหน่อย (ในกรณีนี้ชีวิตจริงของคนดูคงต้องไม่รันทดเท่าในภาพยนตร์การทดลองจึงจะได้ผลตามนี้)
กินเนื้อแดง
ที่มาภาพ science daily
ถึงตอนนี้ก็เป็นที่รู้กันแล้วว่า การกินเนื้อแดงเป็นผลเสียต่อสุขภาพเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณจะตายเพราะกินเนื้อแดงมากไปก็อาจจะเป็นการตายอย่างมีความสุข เพราะมีผลการค้นคว้าออกมาว่า การกินเนื้อแดงส่งผลดีกับสุขภาพจิต และถ้าหากกินเนื้อน้อยกว่าปริมาณที่แนะนำหรือไม่กินเลย อาจจะทำให้เสี่ยงมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นเป็นสองเท่า
ผลสรุปนี้ได้มาจากการติดตามบันทึกดูว่า วิธีการกินมีผลอย่างไรกับสุขภาพจิตของผู้หญิงชาวออสเตรเลียทั้งหมด 1,000 คน ซึ่งการศึกษานี้นับรวมเอาปัจจัยภายนอกเช่น สภาพสังคมและเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย น้ำหนัก อายุ และปัจจัยอื่นๆ มาคิดคำนวณด้วย นักวิจัยพบว่า ถึงแม้จะรวมปัจจัยภายนอกทั้งหมดนี้แล้ว ผู้หญิงที่กินเนื้อแดงตามปริมาณที่แนะนำ (ครั้งละ 56-113 กรัม 3 ครั้งต่อสัปดาห์) ก็มีแนวโน้มจะมีสุขภาพจิตที่ดีและเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่ามาก
ที่มาภาพ top news
แต่ก่อนที่คุณจะวิ่งรี่ไปกินเบอร์เกอร์เนื้อชิ้นโต ลองอ่านดูต่ออีกหน่อย นักวิจัยยังเชื่ออีกว่าความสุขที่เกิดจากการกินเนื้อนี้เป็นเพราะสาร Omega-3 ที่มีอยู่มากในเนื้อแดงของประเทศออสเตรเลีย เนื่องมาจากปศุสัตว์ของประเทศนี้เลี้ยงสัตว์ด้วยหญ้าสดๆ ต่างจากทางของประเทศอเมริกาที่เลี้ยงด้วยธัญพืช ดังนั้น ถ้าจะใช้วิธีนี้ก็ต้องดูด้วยว่ามาจากไหนถึงจะได้ผลจริงๆ
ทำสมองให้ยุ่งเข้าไว้
ที่มาภาพ design space blog
เมื่อถามถึงเรื่องว่าทำยังไงให้มีความสุข จาก 9 ใน 10 ครั้งคนเราจะคิดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการทำงาน ความสุขในความหมายของหลายๆ คน คือการนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรที่ริมชายหาด หรือนอนดูโทรทัศน์อยู่กับโซฟาที่บ้านฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องห่วงอะไร
คุณอาจจะรู้อยู่แล้วว่าการหาอะไรทำเพื่อให้ตัวเองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาจะช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น แต่ผลการศึกษาจากหลายๆ แห่งแสดงให้เห็นว่า การทำสมองให้ยุ่งวุ่นวายอยู่ตลอดเวลาทำให้คุณมีความสุขได้มากกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ เสียอีก
ในการศึกษาหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ทดลองที่ทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กับ จะรู้สึกอิ่มเอมทางอารมณ์มากกว่าผู้ที่ทำงานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าการทำงานหลายอย่างพร้อมกันทำให้ประสิทธิผลของงานออกมาไม่ดีนักและสมาธิก็ถูกแบ่งให้กับงานหลายๆ อย่างเกินไปจนสมองล้า แต่ความสุขโดยรวมของคนๆ นั้นจะมีเพิ่มมากขึ้น
ที่มาภาพ tech disadvantages
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะฮอร์โมนที่เรียกว่า โดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกมีความสุขและมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นระบบประสาททำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งเรามีงานให้สมองของเราคิดมากเท่าไหร่ เมื่องานเหล่านั้นทำได้สำเร็จก็จะมีโดพามีนส่งเข้าสู่ระบบร่างกายของเรามากเท่านั้น ยิ่งทำให้มีความรู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการ โรคบ้างาน (Workaholics)
ทะเลาะและต่อสู้กัน
ที่มาภาพ mcall
มนุษย์เรามีสิ่งมีชีวิตที่เป็นความดิบเถื่อนและความก้าวร้าวฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเป็นสัญชาตญาณแต่กำเนิด แต่คนบางคนก็มีนิสัยชอบหาเรื่องทะเลาะลงไม้ลงมือมากกว่าคนทั่วไป และบางครั้งเรื่องนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลแปลกๆ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า พฤติกรรมก้าวร้าวมีส่วนช่วยให้ร่างกายผลิตโดพามีน (Dopamine) สารที่ทำให้มีความสุขมากขึ้น
ทฤษฎีนี้ถูกนำมาทดลองกับหนู โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำหนูตัวผู้และตัวเมียใส่ไว้ในกรงหนึ่ง หลังจากนั้น ก็ย้ายหนูตัวเมียออก แล้วนำหนูตัวอื่นที่เรียกว่าเป็น “ผู้บุกรุก” มาใส่ในกรงแทน หนูเจ้าของบ้านเมื่อแฟนสาวหายไปกลายเป็นหนูแปลกหน้าตัวอื่นมาแทนที่ ก็ตอบโต้กับผู้บุกรุกด้วยการทำร้ายร่างกาย จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็นำหนูผู้บุกรุกย้ายมาไว้ในกรงแยกซึ่งจะเปิดออกได้เมื่อหนูเจ้าของบ้านกดปุ่มเปิดประตู ผลปรากฏว่า ถึงแม้จะแยกกรงแล้ว หนูเจ้าของบ้านก็ยังคงกดปุ่มเปิดกรงเพื่อเข้าไปทำร้ายหนูผู้บุกรุกอยู่เรื่อยๆ
ที่มาภาพ flora713
หลังจากการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ลองนำฉีดสารที่ไประงับการปล่อยโดพามีนเข้าไปในหนูเจ้าของบ้าน ผลที่ได้คือ หนูหยุดพฤติกรรมรุนแรงทันที เนื่องจากความรุนแรงนี้เกิดมาจากการขับเคลื่อนของฮอรโมน์ และหนูก็แสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมาเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายผลิตโดพามีนที่ทำให้รู้สึกดีออกมาเรื่อยๆ ไม่ต่างจากการเสพยาเสพติด
ดังนั้น สำหรับใครที่มักมีความสัมพันธ์แบบมีความรุนแรงร่วมด้วย หรือเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงก็อาจจะมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมและอยู่แต่ในสถานการณ์รุนแรงเช่นกัน
นั่งรถไฟใต้ดิน
ที่มาภาพ unlock gridlock
ไม่น่าเชื่อว่าการรถไฟใต้ดินจะเกี่ยวกับเรื่องความสุขได้อย่างไร แต่นักวิจัยจากประเทศสวีเดนพบว่า การนั่งรถไฟใต้ดินทำให้คนมีความสุขมากขึ้นจริงๆ
นักวิจัยทดลองด้วยการให้ผู้เข้าร่วมที่ปกติไปทำงานด้วยการขับรถไปเปลี่ยนมานั่งรถไฟใต้ดินแทนเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนเริ่มการทดลองจะมีการบันทึกและตอบคำถามเกี่ยวกับความสุขทั่วไปในชีวิต รวมถึงถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการต้องนั่งรถไฟใต้ดินไปทำงานตลอดทั้งเดือน ผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมดให้ความเห็นตรงกับว่า หนึ่งเดือนต่อไปนี้น่าจะเป็นประสบการณ์เลวร้าย ที่ต้องไปเบียดเสียดแออัดกับผู้คนในตู้รถไฟอับๆ ใต้ดิน
ที่มาภาพ theepochtimes
แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนครบหนึ่งเดือนของการทดลอง ผู้เข้าร่วมมีทัศนคติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อจบการทดลองส่วนใหญ่ก็รู้สึกดีกับชีวิตมากกว่าเริ่มการทดลองเสียอีก เหตุผลก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า Focusing illusion
ในตอนแรกผู้เข้าร่วมมีความคิดเห็นทางลบเกี่ยวกับการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ แต่ที่พวกเขาไม่รู้คือ การเป็นผู้โดยสารเฉยๆ นั้นมีความเครียดน้อยกว่ามาก ระหว่างเดินทางผู้โดยสารจะสามารถทำอะไรหลายอย่างที่เป็นการผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ งีบหลับ หรือนั่งเฉยๆ คิดอะไรไปเรื่อยๆ ในขณะที่การขับรถเองในชั่วโมงเร่งด่วนทุกๆ วัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมและต้องตื่นตัวอยู่เสมอทำให้ไม่มีเวลาได้ผ่อนคลาย ดังนั้นคราวหน้าถ้าคิดจะไปที่ไหนลองนั่งรถขนส่งสาธารณะดู อาจจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นกว่าขับไปเอง
ทำงานบ้าน
ที่มาภาพ parentables
โดยปกติแล้วไม่ค่อยมีใครอยากจะทำงานบ้านสักเท่าไหร่ ตอนสมัยเด็กๆ เราจะทำงานบ้านก็เฉพาะเวลาพ่อแม่สั่งเท่านั้น และเมื่อโตขึ้น เราก็จะทำด้วยความจำเป็นมากกว่าด้วยความอยากทำเสียมากกว่า และสำหรับหลายๆ คน ชีวิตจะมีความสุขขึ้นมากถ้าไม่ต้องทำงานบ้านเลยหรือมีพ่อบ้านที่คอยจัดการให้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกลับพบว่าความจริงแล้วการทำงานบ้านกลับทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเสียนี่
จากการศึกษาคนจำนวน 30,000 คน จาก 34 ประเทศ พบว่า ผู้ชายที่ทำงานบ้านจะมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ทำ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วเมื่อเห็นภรรยาทำงานบ้านแต่เพียงคนเดียวก็จะเกิดความรู้สึกผิด และจะช่วยงานบ้านบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็มีผลทำให้รู้สึกดีขึ้นเพราะผู้ชายจะรู้สึกมีบทบาทในการช่วยดูแลบ้านมากขึ้น
ที่มาภาพ sodahead
นอกจากนั้น การศึกษายังพบว่า งานตัดหญ้าเป็นงานบ้านที่ดีที่สุด เพราะขณะที่ตัด หญ้าสดจะปล่อยสารเคมีอย่างหนึ่งที่ช่วยระงับความเครียดในสมอง ดังนั้น การเล็มหญ้าที่สนามหน้าบ้านจะทำให้คุณรู้สึกสงบลงได้ นอกจากนั้น การตัดหญ้าก็ยังเป็นการออกกำลังกายอย่างดีที่ช่วยให้ร่างกายผลิตสารเอนโดรฟิน (Endorphine) อีกด้วย
ที่มาภาพ she knows
คิดถึงเรื่องความตาย
ที่มาภาพ monster wikia
ความตาย เป็นสิ่งลี้ลับสำหรับมนุษย์เราเสมอมา คนหลายคนไม่สามารถสรุปได้ว่าความตายคืออะไรกันแน่ ความตายเป็นแนวคิดที่ตีความได้ยาก และดูเป็นเรื่องที่คิดแล้วน่าจะทำให้หดหู่มากกว่าทำให้รู้สึกดี แต่กลับกลายเป็นว่า คนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงเรื่องความตายแล้ว ทำให้มีความรู้สึกเป็นสุขและอารมณ์เสียน้อยลง และนอกจากนั้นยังทำตัวเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย
มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อคิดเกี่ยวกับเรื่องความตาย ในการทดลองหนึ่ง นักวิจัยแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้เดินเลียบผ่านสุสาน ส่วนอีกกลุ่มให้เดินห่างออกไปในที่ๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ หลังจากนั้น จะมีนักแสดงเดินผ่านกลุ่มทั้งสองนี้แล้วแกล้งทำสมุดตก กลุ่มคนที่เดินเลียบสุสานจะแนวโน้มที่จะช่วยเก็บสมุดมากกว่าอีกกลุ่มถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ที่มาภาพ Wikipedia
นักวิจัยเชื่อว่า ความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตาย แม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้คนแสดงความมีน้ำใจและอยากช่วยเหลือคนอื่นในขณะที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่มากกว่าปกติ ถึงแม้การทดลองนี้จะดูเหมือนด่วนสรุปไปหน่อย แต่ก็มีการทดลองอีกหลายชิ้นที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ นอกจากนั้น ผู้คนที่เป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องความตายจะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงน้อยกว่าและรักษ์โลกมากขึ้น เช่นเดียวกับการทดลองสมุดโน๊ตตามที่เล่ามาข้างบน เมื่อเราตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิต ก็เกิดความรู้สึกอยากจะทำตัวให้มีคุณค่ามากขึ้นนั่นเอง
ที่มา Cracked
ที่มาภาพประกอบ in-my-opinion-blog
โพสท์โดย: moses