วิธีเลี่ยง “พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความชื้น” ไม่ให้ iPhone, iPad, มือถือ และแท็บเล็ตของเราหมดประกันก่อนวัยอันควร
ตั้งแต่ที่ความนิยมของ iPhone เพิ่มขึ้นในประเทศไทย เรามักจะเห็นคำถามเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของตัวเครื่อง iPhone ที่เสียโดยไม่รู้สาเหตุอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงผู้ใช้ที่ออกมาโวยวายว่าเครื่องมีปัญหาแล้วศูนย์บริการไม่เคลมให้ฟรี โดยอ้างว่า “เครื่องชื้น เคยโดนน้ำมาก่อน” ทั้งที่ผู้ใช้ไม่ได้ทำเครื่องตกน้ำ และเครื่องยังอยู่ในประกัน!
เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ มักเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า “User Error” หรือความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจของตัวผู้ใช้เองนี่แหละครับ
นั่นรวมถึงปัญหา “เครื่องมีความชื้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้โดนน้ำ” ด้วยเช่นกัน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหลาย รวมถึงสมาร์ทโฟน ต่างก็ขึ้นชื่อเรื่อง “ไม่ถูกกับน้ำหรือของเหลว” เป็นปกติ ยิ่งกับ iPhone ด้วยแล้ว ยิ่งมีอาการกลัวน้ำมากกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ นัก…
ไม่ใช่น้องหมานะ แต่ทำไม iPhone ถึงกลัวน้ำ?
(ภาพจาก Technabob)
ถึงแม้ว่าตามสเป็คในกระดาษ iPhone จะทนต่อความชื้นได้อากาศได้สูงมากก็ตาม แต่ด้วยสภาพอากาศประเทศไทยที่ร้อนชื้น โอกาสที่ iPhone จะเกิดความชื้นก็มีมากกว่าเมืองฝรั่งมาก ยิ่งไปกว่านั้นความชื้นในอากาศและอุบัติเหตุที่เกิดจากน้ำ จะไม่ครอบคลุมในประกันของ iPhone หรือ iPad หรือพูดง่าย ๆ ว่า
“เครื่องชื้น เครื่องเปียกน้ำ = ไม่รับประกัน”
เห็นแบบนี้แล้ว อุปกรณ์ขนาดเล็กอย่าง iPhone ยิ่งกลัวน้ำเข้าไปใหญ่ เพราะรอบตัวเครื่องมีช่องเชื่อมต่อต่าง ๆ เปิดอยู่ตลอดเวลา เป็นช่องทางให้น้ำและความชื้นเล็ดลอดเข้าไปง่ายกว่า iPad เยอะครับ
แล้วศูนย์บริการรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องเราชื้น?
ปกติ ใน iPhone และ iPad จะมีแถบกระดาษสำหรับวัดความชื้นฝังอยู่ภายในเครื่องครับ ถ้าเกิดเจ้ากระดาษที่ว่า ได้รับความชื้นมาก หรือถูกน้ำ มันจะเปลี่ยนจากสีขาว เป็นสีชมพูหรือแดง ทำให้ศูนย์บริการตรวจสอบได้ว่าเครื่องเราได้รับความเสียหายจากความชื้นมารึเปล่า
โดยเฉพาะใน iPhone 4, iPhone 4S และ iPad รุ่นเก่า ๆ ที่แถบวัดความชื้นถูกฝังอยู่ในช่องเสียบสายชาร์จ และช่องเสียบหูฟัง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่เครื่องจะชื้นสูงมาก ๆ หากเครื่องมีความชื้น แอปเปิลและศูนย์บริการจะไม่รับประกันครับ ต้องเสียค่าเปลี่ยนเครื่องใหม่ในราคาประมาณ 7,000-9,000 บาท หรือมากกว่านั้น แล้วแต่รุ่นของอุปกรณ์และเครือข่ายที่ใช้ (เพราะแต่ละเครือข่ายคิดค่าเปลี่ยนเครื่องไม่เท่ากันด้วย!)
(แถบวัดความชื้นของ iPhone 4/4S จะอยู่ในช่องเสียบสายชาร์จและเสียบหูฟัง ส่วนไอโฟน 5 จะอยุ่ตรงที่เสียบซิมครับ)
ส่วนใน iPhone 5, iPad รุ่นที่ 4, iPad mini และรุ่นใหม่ ๆ แอปเปิลได้ย้ายแถบตรวจวัดความชื้นไปใส่ในช่องเสียบถาดซิมแล้ว และตรวจสอบการโดนน้ำของเครื่องจาก “การขึ้นสนิม” ภายในเครื่องแทน ทำให้โอกาสที่เครื่องจะหมดประกันจากเรื่องความชื้นน้อยลงกว่าเดิมมาก เพราะถ้าทำเครื่องขึ้นสนิมได้ แสดงว่าไปทำตกน้ำมาแน่ครับ
แต่ถึงกระนั้น บริเวณที่ขึ้นสนิมด้านใน เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นจากภายนอกเครื่องอยู่ดี เราเลยไม่รู้ว่าเครื่องเราได้รับความชื้นไปมากน้อยแค่ไหน จึงต้องดูแลรักษาเครื่องให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ทำ “พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความชื้น” ดังต่อไปนี้
iPhone กลัวน้ำ อย่าเอาไปอาบน้ำด้วย
(เล่นขนาดนี้ก็เกินไป… ถึงจะใส่เคสกันน้ำก็เถอะ
ภาพจาก Apartment Therapy)
ชีวิตจริงไม่เหมือนในหนังครับ นอกจากการเอา iPhone ไปเล่นในอ่างอาบน้ำ จะมีโอกาสทำ iPhone หลุดมือตกน้ำแล้ว การเอา iPhone ไปเปิดเพลงฟังในห้องน้ำก็เสี่ยงต่อความชื้นที่มองไม่เห็นเหมือนกัน
ถึงหลายคนจะใส่เคสกันน้ำ และวาง iPhone ไว้ห่าง ๆ ไม่โดนน้ำก็จริง แต่ความชื้นในห้องอาบน้ำนั้นสูงมาก มีไอน้ำลอยอยู่เต็มอากาศ และน้ำที่เราอาบเสร็จ ก็พร้อมที่จะระเหยจากพื้น กลายเป็นความชื้นขึ้นมาทำร้าย iPhone ได้แน่นอนครับ อันตรายมาก ๆ
(นั่งหนีบขาแบบนี้ ไอโฟนไม่ตกหรอกครับ แต่พอจะลุกเนี่ย ร่วงจ๋อมกันประจำ…
ภาพจาก Good Housekeeping)
อีกกรณีที่เกิดบ่อยกับ iPhone ก็คือ “ทำ iPhone หลุดมือตกโถส้วม”
จริงอยู่ครับ ที่หลายคนมักหยิบอุปกรณ์ต่าง ๆ มาเช็ค Social Network ขณะทำภารกิจส่วนตัวอยู่ แต่จังหวะที่ iPhone มักจะตกโถส้วม คือตอนเสร็จกิจ แล้วจะเก็บใส่กระเป๋านี่ล่ะครับ
ดังนั้น ควรระมัดระวังให้มาก เก็บ iPhone ใส่กระเป๋าดี ๆ หรือถ้าจะจัดเก็บของต่าง ๆ ก็ปิดฝาโถก่อนเสมอ ถึงกรณีนี้จะไม่เกี่ยวกับความชื้น แต่ถ้าหาก iPhone ตกโถส้วม นอกจากจะโดนน้ำแล้ว ยังโดนอะไรก็ไม่รู้ในโถอีกด้วย หยิบมาใช้ หยิบมาเคลมกันไม่ลงทีเดียว
โทรศัพท์กับฟ้าผ่าไม่ถูกกัน เก็บให้ดี ๆ ตอนฝนตก
(ถ้าร่มไม่เก๋แบบนี้ก็อย่าโทร… ภาพจาก INCREDIBLE Things)
ฝนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว รู้กันอยู่ว่าฝนประเทศไทย ตกทีห่าใหญ่ไม่ใช่เล่น บางทีแทบจะซัดเอาร่มหลุดไปกับมือได้เลยทีเดียว
การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะ iPhone หรือ iPad ออกมาเล่นตอนฝนตก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งครับ แถมถ้าใช้ iPhone กลางสายฝน อาจเสี่ยงต่อฟ้าผ่าได้ด้วย นอกจากนั้น การเอา iPhone หรือ iPad เก็บใส่กระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าสะพายไม่ลึกพอ อาจมีละอองฝนและความชื้นในอากาศเล็ดลอดเข้าเครื่องเราได้ด้วย
ดังนั้น เวลาฝนตก เก็บอุปกรณ์เหล่านี้ในที่มิดชิด ไม่ให้ถูกละอองฝนนะครับ
บางทีเราก็สัมผัสกับ “น้ำ” ภายในอากาศโดยไม่รู้ตัว
บางครั้งความชื้นและน้ำก็มาหา iPhone โดยไม่รู้ตัวครับ อย่าง มือเปียก ๆ หลังล้างมือนี่ก็ตัวการที่ทำให้เครื่องชื้นเลยครับ ควรเช็ดมือให้แห้งก่อนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทเสมอ นอกจากจะไม่ทำให้ iPhone หรือ iPad หลุดมือเพราะลื่นแล้ว ยังป้องกันไฟดูด, สนิม หรือคราบน้ำบนเครื่องด้วยครับ
คราบเหงื่อ คราบไคลต่าง ๆ รวมถึงความอับในกางเกง หรือคราบเครื่องสำอางค์ ก็ทำให้ iPhone สกปรกได้ง่ายด้วย ยิ่งกับเหงื่อที่ออกตามกางเกงและกระเป๋าเสื้อ อาจส่งผลให้ iPhone ชื้นได้ง่าย ๆ
การใช้ iPhone ไปออกกำลังกาย ไม่ว่าจะกับ Nike+ หรือ App ต่างๆ ไม่ว่าจะใส่กระเป๋ากางเกง / สายรัดแขนต่างๆ เมื่อใช้งานเสร็จ ให้เช็ด iPhone กับผ้าสะอาดแห้งๆ และวางในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพราะถึงแถบวัดความชื้นไม่ขึ้น แต่ชิ้นส่วนภายนอกที่เป็นโลหะ อาจขึ้นสนิมจากเหงื่อได้เช่นกัน
นอกจากหยดน้ำและเหงื่อแล้ว ลมจากเครื่องปรับอากาศ – ทั้งแอร์บ้าน แอร์รถ ฯลฯ ต่างก็มีความชื้นที่เรามองไม่เห็นครับ! การนำ iPhone หรือ iPad ไปตากแอร์ แล้วหยิบมาใช้จนเครื่องร้อน หรือเจออากาศร้อน ๆ ข้างนอก ก็ทำให้เกิดไอน้ำเกาะที่ตัวอุปกรณ์หรือแผงวงจรภายในได้ จากการเปลี่ยนอุณหภูมิกระทันหันของไอน้ำในอากาศนั่นเอง
นอกจากไม่ควรเอา iPhone หรือ iPad ไปตากแอร์นาน ๆ แล้ว ในห้องครัวก็ไม่ควรเอาอุปกรณ์เหล่านี้ไปวางเหมือนกันครับ เพราะคราบน้ำมันจากการทำอาหาร ก็เป็นความชื้นที่ทำให้เครื่องเสื่อมสภาพได้ ดังนั้น ควรวาง iPhone หรือ iPad ไว้ห่างจากเตาสำหรับประกอบอาหาร และวางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกครับ หากต้องการนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้ในครัวจริง ๆ
ทำพิธีเสร็จแล้ว อย่าลืมเก็บของก่อนกิน
“อย่าวาง iPhone หรือ iPad ไว้ใกล้ของกินที่มีน้ำ” โต๊ะอาหารก็เป็นหนึ่งในสถานที่อันตรายสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครับ ถ้าเกิดเราเผลอทำน้ำหกใส่ iPhone หรือ iPad ขึ้นมานี่ขำไม่ออกกันเลยทีเดียว เดี๋ยวจะได้ iPhone รสคาปูชิโน แต่งกลิ่นคาราเมลธรรมชาติซะก่อน…
หลังจากถ่ายรูปแล้วแชร์ให้เพื่อน ๆ ดูกันแล้ว ควรเก็บ iPhone และ iPad ไว้ในที่ที่ปลอดภัยจากคราบอาหารและเครื่องดื่มครับ นอกจากอุปกรณ์ของเราจะปลอดภัยแล้ว ยังเพิ่มปฏิสัมพันธ์บนโต๊ะอาหารได้ดีด้วย ไม่ใช่ทุกคนเอาแต่นั่งจิ้มมือถือ ไม่คุยกันเลย แบบนี้จะมากินข้าวด้วยกันทำไมล่ะครับ จริงไหม? ^^
ไม่มีใครชอบความซกมกหรอกนะ
(ใครรู้ตัวว่าซกมกแบบนี้ ทำความสะอาดบ่อย ๆ นะจ๊ะ… ภาพจาก Eric Schmuttenmaer)
หลายคนกลัว iPhone และ iPad เป็นรอย ต่างก็ไปสรรหาฟิล์มและเคสมาใส่กันตลอด แต่หารู้ไม่ว่า เรามักจะละเลยการทำความสะอาดอุปกรณ์ของเราไปเสียนี่!
เป็นเรื่องปกติมากที่หลายคนเล่น iPhone และ iPad ทั้งที่มือสกปรก หรือกินขนมจนมือมันแล้วก็มาจิ้มหน้าจอ บางคนก็ทำคราบเครื่องสำอางค์เปรอะไปหมดก็มี แบบนี้ติดฟิล์มไปก็เน่าอยู่ดีครับ ถ้าไม่รักษาความสะอาดของเครื่องเอาไว้
วิธีทำความสะอาด iPhone หรือ iPad นั้นไม่ยากครับ เอาผ้านุ่ม ๆ เช็ดทำความสะอาดหน้าจอบ่อย ๆ คราบฝุ่นและไขมันส่วนเกินก็จะหายไปได้ไม่ยาก และควรเปลี่ยนฟิล์มกันรอยเมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง หรือถอดเคสมาทำความสะอาดบ้าง อย่าใส่เคสตลอดเวลา นอกจากความชื้นที่เข้าไปแฝงอยู่หลังเคสโดยไม่รู้ตัว ยังมีเชื้อโรคและคราบสกปรกต่าง ๆ หมักหมมอยู่ด้วย ถ้าคนอื่นมาเห็นคราบอะไรไม่รู้บนจอ iPhone หรือ iPad เราแล้วบอกว่า “ยี้ ซกมก” เราคงรู้สึกไม่ดีแน่ใช่ไหมล่ะครับ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้า iPhone เปียกน้ำ
หากป้องกันแล้วป้องกันอีก แต่ก็เผลอทำ iPhone ตกน้ำอยู่ดี ทีนี้ จะทำอย่างไรดี?
แน่นอนครับ ทำให้เครื่องแห้งและปราศจากความชื้นเสียก่อน แต่…อย่าใช้ไดร์เป่าผม เพราะความร้อนของไดร์จะทำให้ไอน้ำและความชื้นในเครื่องร้อนขึ้น จนระเหยไปทำลายอุปกรณ์และแผงวงจรภายในเครื่องจนเสียหายหนักกว่าเดิมอีกครับ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ iPhone และ iPad กรณีโดนน้ำหรือความชื้นนั้น ควรใช้วิธี “แช่ถังข้าวสาร” วิธีแบบไทย ๆ กันเลย ข้าวสารจะดูดความชื้นส่วนเกินออกไปจากอุปกรณ์ของเราครับ ถ้าเกิดโชคดี เครื่องโดนละอองน้ำแค่ภายนอก ความชื้นก็จะถูกดูดออกไปกับข้าวสารดิบจนหมดเองครับ
ใช้ข้าวสารดิบนะครับ อย่าเอาไปใส่หม้อหุงข้าวแล้วหุงจนสุกล่ะ…
(ถ้ากลัวว่าข้าวแค่นี้ไม่พอ ก็โยน iPhone ใส่ถังข้าวสารเลยครับ)
หากแช่ถังข้าวสารแล้วเครื่องยังปลอดภัย ไม่ขึ้นสนิม ไม่มีแถบความชื้นแดง ๆ ขึ้นในรูเสียบหูฟัง ก็รอดตัวไปครั แต่ถ้าเปิดไม่ขึ้นเลย อันนี้คงต้องแสดงความเสียใจด้วยครับ อุปกรณ์ของท่าน อาจจะลาโลกนี้ไปแล้ว…
ดังนั้นแล้ว ดูแลรักษาเครื่องของเราให้ดี อย่าทำ “พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความชื้น” นะครับ
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่หลายคนมักจะละเลยไปครับ หากดูแล iPhone และ iPad ดี ๆ ไม่เอาไปอาบน้ำ, ไม่เอาไปเล่นกลางฝน, ไม่เอาไปตากแอร์นาน ๆ, ไม่เล่นตอนมือเลอะมือเปียก ฯลฯ แค่นี้ก็ช่วยยืดอายุให้อุปกรณ์ของเราออกไปอีกนานเลยครับ
อ่านจบแล้ว กด Like ด้านล่างนี้ หรือ เอาไปแชร์ต่อให้เพื่อน ๆ จะได้ระมัดระวังการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ดีนะครับ เพราะไม่ใช่แค่ iPhone หรือ iPad แต่โทรศัพท์มือถืออื่น ๆ ทั่วไป และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ต่างไม่ถูกกับน้ำ และควรดูแลรักษาในลักษณะเดียวกันครับ ^^
http://www.macstroke.com/6929/how-to-protect-iphone-and-ipad-from-humidity