ประวัติของถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาละติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ
เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิด ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในขณะร่วมเพศ ทำด้วยวัสดุจากยางพารา หรือโพลียูรีเทน โดยมีทั้งแบบสำหรับผู้ชายและผู้หญิง ส่วนใหญ่ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายใช้โดยใช้สวมครอบอวัยวะเพศชายที่กำลังแข็งตัวในขณะร่วมเพศ โดยเมื่อฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิแล้ว น้ำอสุจิจะถูกเก็บไว้ในถุงยางอนามัย ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น ซิฟิลิส หนองใน และ เอดส์ได้ด้วย
ถุงยางอนามัยสมัยใหม่ ส่วนมากผลิตจากยางพาราแต่ก็มีบ้างที่ผลิตจากวัสดุอื่นเช่นโพลียูรีเทน ถุงยางอนามัยสำหรับชายเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ราคาไม่แพง ใช้งานง่าย ผลข้างเคียงน้อย และใช้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ถ้าใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้เพียง 2% เท่านั้น
ถุงยางอนามัยใช้สวมใส่อวัยวะเพศชายเมื่อแข็งตัวเต็มที่ ทำหน้าที่เป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้ตัวเชื้ออสุจิเข้าสู่ช่องคลอด ที่ปลายถุงยางอนามัยจะมีกระเปาะเล็กๆสำหรับรองรับน้ำอสุจิ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของคำว่า Condom ซึ่งแปลว่า ภาชนะรองรับ
ประวัติของถุงยางอนามัย
มีหลักฐานการใช้ถุงยางอนามัยครั้งแรกสุดในประวัติศาสตร์ อย่างน้อยเมื่อ 400 ปีที่แล้ว การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีหลักฐานปรากฏว่าได้เริ่มมีการใช้ถุงยางอนามัยกันแล้วในแถบยุโรป โดยพบภาพเขียนผนังถ้ำที่ Cambarelles ในประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นได้มีการพูดถึงที่มาของชื่อ Condom ว่ามีที่มาอย่างไร บางความเชื่อคิดว่ามาจากชื่อของ Dr.Condom ซึ่งได้ผลิตถุงทิชชูถวายพระเจ้าCharles ที่ 2 แห่งอังกฤษ บางความเชื่อ เชื่อว่ามาจากชื่อ Dr.Condon หรือ Colonel Cundum ซึ่งมาจากภาษาลาติน ซึ่งคำว่า Condom แปลว่าภาชนะที่รองรับ
ต่อมา Goodyear and Hancock ได้เริ่มผลิตถุงยางอนามัยโดยทำจากยางที่มีส่วนผสมของกำมะถัน ซึ่งมีทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่น
มีโฆษณาเกี่ยวกับถุงยางอนามัยเกิดขึ้นครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์ The New York Time ในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยข้อความว่า “Dr. Power’s French Preventatives.” เมื่อคริสต์ศักราช 1861 แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศักราช 1873 The Comstock Law ได้ห้ามมิให้โฆษณาอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดทุกชนิด รวมทั้งอนุญาตให้ไปรษณีย์สามารถริบถุงยางอนามัยที่จำหน่ายทางพัสดุได้
ในคริสต์ศักราช 1900 Social hygienists ได้พยายามต่อสู้เพื่อยกเลิกข้อห้ามการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นผลจากการที่ทหารอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกามากกว่า 70% ก็ได้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้เริ่มรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยตั้งแต่นั้นมา
แต่เมื่อมาถึงคริสต์ ศักราช 1960 ได้มีการปฏิวัติในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีผลให้ความนิยมในการใช้ถุงยางอนามัยลดน้อยลง จึงพบว่าเยาวชนนิยมมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย จนกระทั่งอีก 20 ปีต่อมาได้พบการระบาดของเชื้อ HIV หรือเรียกกันว่าโรค AIDS ซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เริ่มตระหนักและหันมานิยมใช้ถุงยางอนามัยอีกครั้งหนึ่ง
นับตั้งแต่คริสต์ศักราช 1990 จนถึงปัจุบัน ได้มีการผลิตถุงยางอนามัยออกสู่ตลาดจำนวนมาก และมีหลายแบบให้เลือก ทั้งที่มีสีสันแปลกๆ ผิวเรียบและไม่เรียบ มีกลิ่นและรสผลไม้ รวมทั้งมีรูปทรงที่แปลกๆ มากขึ้น
ปัจจุบัน ถุงยางอนามัยได้มีการพัฒนาให้มีรูปร่าง สีสัน และกลิ่นต่างๆออกมาให้เลือกใช้กันหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบได้เน้นวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ต่างกัน สำหรับต่างประเทศถุงยางอนามัยที่จำหน่ายจะมีแบบแปลกๆให้เลือกหลายชนิด เช่นแบบเรืองแสงในที่มืด แบบผิวไม่เรียบที่มีลักษณะรูปร่างที่แปลกๆ ขนาดถุงยางอนามัยโดยทั่วไป จะมีขนาดตั้งแต่ 44-56 mm ความหนา 0.05-0.08 mm โดยมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 200 mm (ตามข้อกำหนดต้องยาวไม่ต่ำกว่า 160 mm) แต่ที่วางจำหน่ายสำหรับคนไทย ส่วนใหญ่จะมี 2 ขนาดคือ 49 mm และ 52 mm (ขนาดใหญ่และใหญ่พิเศษ) มีทั้งแบบผิวเรียบและไม่เรียบ มีสารหล่อลื่น ผสมสารฆ่าเชื้ออสุจิ มีหลายสี รวมทั้งยังมีกลิ่นและรสผลไม้ให้เลือกตามต้องการ
การวัดขนาดของถุงยางอนามัย
ได้มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐาน ของถุงยางอนามัยตามประกาศ ของกระทรวงสาธารสุข ปี 2535 ซึ่งได้กำหนดประเภทของถุงยางอนามัย ที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ เป็น 13 ประเภท ตามขนาดความกว้าง คือตั้งแต่ขนาด 44 มิลลิเมตร จนถึงขนาด 56 มิลลิเมตร และกำหนดความยาวของถุงยางวัดจากปลายเปิดจนถึงปลายปิด ไม่รวมส่วนที่เป็นติ่งหรือกระเปาะ ต้องไม่น้อยกว่า 160 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นการกำหนดตามมาตรฐานขององค์การกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO) ปี ค.ศ. 1990
การวัดจะใช้วิธีการวางถุงยางให้แบนราบกับพื้นและวัด หรือ การวัดเส้นรอบวงและหารด้วยสองนั่นเอง ดังนั้น สามารถวัดขนาดเส้นรอบวงของอวัยวะเพศ และหารด้วยสอง ก็จะได้ขนาดอ้างอิงในการเลือกซื้อถุงยางอนามัย เช่นเส้นรอบวงของอวัยวะเพศ คือ 152 mm (ประมาณ 6 นิ้ว) หารด้วยสอง เท่ากับ 76 mm เมื่อซื้อถุงยางอนามัย ก็สามารถเลือกซื้อแบบ 52 mm ได้เพราะถุงยางอนามัยจะมีการขยายตัวอีก
วิธีใช้ถุงยางอนามัย
วิธีใช้ถุงยางอนามัยผู้ที่ใช้ต้องใส่และถอดให้ถูกวิธี โดยให้ใส่เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น บีบปลายกะเปาะไล่ลมแล้วสวมลงบนอวัยวะเพศรูดลงมาจนสุดเมื่อเสร็จการร่วมเพศ ต้องรีบดึงอวัยวะเพศออกขณะยังแข็งตัวอยู่ มิฉะนั้นถุงยางอาจจะหลุดอยู่ในช่องคลอดได้ ต้องดึงออกโดยมิให้น้ำอสุจิไหลออกมาอยู่บริเวณอวัยวะเพศหญิง
ปัญหาที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่ถูกต้อง
1.ใช้สารหล่อลื่นไม่ถูกต้อง ทำให้ถุงยางแตกหรือลื่นหลุด
2.ไม่ใช้ถุงยางอนามัยใหม่แกะกล่อง
3.ใช้ถุงยางเพียงครั้งแรกเท่านั้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์ต่อไปไม่ได้ใช้ถุงยาง
4.ใช้ถุงยางอนามัยที่เสื่อมสภาพอย่างเห็นได้ชัด
5.มึนเมาสุราหรือสารเสพติด จึงตัดสินใจถอดถุงยางทิ้งกลางคัน
6.แกะถุงยางอนามัยออกมาเล่นก่อนมีเพศสัมพันธ์
7.ใส่ถุงยางผิดด้านแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
8.สำหรับผู้ที่ไม่ได้ขลิบปลายอวัยวะเพศ ต้องดึงหนังหุ้มรูดให้สุดเสียก่อน
ข้อควรระวังในการใช้ถุงยางอนามัย มีดังนี้ คือ
- ห้ามใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นตัวละลาย เช่น น้ำมันปรุงอาหาร น้ำมันทาผิว เบบี้ออยส์ วาสลีน เป็นต้น เนื่องจากจะทำลายเนื้อยางของถุงยางอนามัยให้เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว
- ห้ามใช้นานเกิน 30 นาที และ ห้ามนำกลับมาใช้งานซ้ำอีก
- ห้ามใช้ถุงยางอนามัยที่มีการฝังมุก มีขนม้าแซม ฯลฯ เพราะไม่สามารถใช้คุมกำเนิดหรือป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใด นอกจากนี้อาจจะทำได้เกิดอันตรายและติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย
ถุงยางอนามัยไม่เหมาะสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจะเกิดแรงเสียดสีมาก และเกิดเลือดออกได้ง่ายจึงไม่ปลอดภัยพอ
การเก็บรักษา ถุงยางอนามัยควรเก็บรักษาไว้ในที่ไม่ถูกแสงแดดหรือที่มีอุณหภูมิสูง สังเกตบนฉลากของถุงยางอนามัย การดูเครื่องหมาย อย.พร้อมเลขทะเบียน การดูวันที่ผลิต หรือ วันหมดอายุ ของถุงยางอนามัย การหล่อลื่น/การใช้สารฆ่าเชื้อ และเมื่อยังไม่ได้ใช้ก็ควรเก็บในที่ไม่ร้อน ไม่โดนแดดจัด และไม่เก็บในลักษะที่มีการกดทับ เช่น ในกระเป๋ากางเกงด้านหลัง
ข้อดี
1. หาซื้อง่าย หากปฏิบัติถูกต้องจะมีประสิทธิภาพสูง
2. ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3. ให้โอกาสฝ่ายชายเป็นผู้คุมกำเนิด
4. ไม่รบกวนภาวะการเจริญพันธ์ หรือประจำเดือน
5. อาจช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ข้อเสียและข้อควรระวัง
1. อาจเกิดอาการแพ้ ลื่นหลุด หรือฉีกขาดโดยเฉพาะหากฉีกซองถุงยางอนามัยโดยไม่ระวัง หรือถุงยางหมดอายุ
2. ทำให้ขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นธรรมชาติ
3. เมื่อเสร็จกิจฝ่ายชายต้องรีบถอนอวัยวะเพศออกและต้องถอดถุงยางด้วยความระมัดระวัง มิฉนั้นน้ำอสุจิอาจเปรอะเปลื้อน
ผู้ที่ควรใช้
1. คู่หญิง-ชาย ที่มีเพศสัมพันธ์นานๆครั้ง
2. วัยรุ่น หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3. กรณีที่ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ หรือรอเพื่อเริ่มต้นคุมกำเนิดวิธีอื่น
ความสะดวก
1. ราคาถูกสามารถหาซื้อง่ายตามร้านทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์
2. แพทย์และเภสัชกรสามารถให้คำปรึกษาได้
ผลการคุมกำเนิด
1. ผู้ปฏิบัติถูกต้อง 98%
2. ผู้ใช้โดยทั่วไปเฉลี่ย 88%