แวะพักเชียงคาน…ให้หัวใจได้อินเลิฟ
เสียงลือเสียงเล่าอ้างคงไม่เท่าตาเห็น สาว Lisa เลยตัดสินใจไปดูให้เห็นแก่ตา สัมผัสให้รู้แก่ใจ ว่าทำไมใครๆ ถึงพูดถึงเมืองเล็กๆ ริมฝั่งโขงที่ชื่อ "เชียงคาน" แห่งนี้ และใครที่อยากไปพิสูจน์และสัมผัสเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้เหมือนกันกับเรา หนาวนี้เชียงคานก็พร้อมรอต้อนรับทุกคนอยู่ เก็บกระเป๋าแล้วตามเราไปเที่ยวเชียงคานกัน เรามีทุกอย่างที่คุณอยากรู้และต้องรู้เกี่ยวกับการไปเที่ยวที่นี่มาให้พร้อมแล้ว
เชียงคาน...เป็นยังไง? เชียงคานอยู่ที่จังหวัดเลย เมืองที่มีดีหลากหลายทั้งธรรมชาติงดงามและวัฒนธรรมโดดเด่น เชียงคานเป็นอำเภอเล็กๆ ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำโขงที่กันเขตแดนไทย-ลาว และในอดีตเชียงคานก็มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์อยู่กับเมืองลาว โดยเมืองเชียงคานเดิมชื่อปากเหืองตั้งอยู่ที่ฝั่งประเทศลาว ต่อมาได้มีการอพยพโยกย้ายของผู้คนมาอยู่บ้านท่านาจันทร์ในฝั่งไทย และกลายเป็นเมืองเชียงคานในปัจจุบัน บรรพบุรุษของชาวเชียงคานจึงเป็นคนลาวที่ทำให้เชียงคานมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมบางอย่างที่คล้ายคลึงกับทางฝั่งลาว เช่น การตักบาตรข้าวเหนียว ภาษาพื้นถิ่น และอาหารการกินบางอย่างตัวเมืองเชียงคานในยุคแรกๆ จึงถือกำเนิดขึ้นตามแนวฝั่งโขง ก่อนที่จะขยายตัวออกไปเช่นในปัจจุบัน
และเราจะยังสามารถเห็นภาพของชุมชนเก่าแก่ของเชียงคานในยุคดั้งเดิมได้จากอาคารบ้านเรือนที่เป็นอาคารไม้ปลูกเรียงรายอยู่ตามถนนศรีเชียงคานฝั่งล่าง หรือที่เรียกกันว่า "ถนนชายโขง" และภาพของอาคารไม้เก่าแก่ที่ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารแถว เพราะย่านนี้เคยเป็นย่านการค้าของเชียงคาน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนสะดุดกับเสน่ห์ของเชียงคานเป็นครั้งแรกถึงแม้ในปัจจุบันนี้อาคารไม้สองข้างถนนชายโขงหลายแห่งจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงเป็นที่พักในลักษณะของเกสต์เฮาส์เล็กๆ ร้านค้า และร้านอาหาร หรือ บางแห่งก็ถูกรื้อถอนและเปลี่ยนโฉมไปจากเดิมแต่สำหรับผู้คนที่โหยหาอดีต หรืออยากที่จะสัมผัสกับความแตกต่างของวิถีชีวิต อันหาไม่ได้ในเมืองหลวง เชียงคาน...ที่แม้จะเริ่มมีจริตจะก้านแปลกตาไปกว่าของดั้งเดิมบ้าง ก็ยังคงเรียกได้ว่ามีความ "น่ารัก" ที่เรียกร้องให้ผู้คนอยากเดินทางไปสัมผัสกันได้อยู่ แต่อย่ามัวแต่เดินชมบ้านเมือง ความเป็นเชียงคานไม่ได้อยู่แค่เสน่ห์ของบ้านเก่าที่เอาไว้เดินถ่ายรูป แต่เสน่ห์ของเชียงคานยังอยู่ที่ผู้คนที่ยินดีจะสังสันทน์เสวนาและบอกเล่าถึงความเป็นมาของเชียงคานให้ได้ฟัง หรือแม้แต่จะทักทายพูดคุยกันด้วยมิตรจิตมิตรใจแบบที่อาจจะหาได้ยากในเมืองหลวง
เชียงคาน...ไปทำอะไร?
ปั่นจักรยานชมเมือง
เชียงคานเป็นเมืองเล็กๆ แต่ไม่กระจิริด หากใครนึกภาพของการปั่นจักรยานไปทั่วบ้านทั่วเมืองเชียงคาน นั่นก็อาจไกลจากความเป็นจริงไปสักหน่อย เพราะเชียงคานไม่ได้มีแค่ถนนชายโขงที่ขนาบไปด้วยอาคารไม้เก่าแก่ซึ่งใครๆ ก็อยากมาดู แต่ถนนศรีเชียงคานล่าง รวมทั้งเส้นทางเล็กๆ เลียบริมเขื่อนแม่น้ำโขงด้านหลังของถนนศรีเชียงคานล่างเป็นเส้นทางที่ "มือใหม่" สามารถปั่นจักรยานเพื่อชมบ้านชมเมืองและชมแม่น้ำโขงได้อย่างสบายใจ แต่สำหรับ "มือเก่า"
เชียงคานก็ไม่ใช่เมืองใหญ่เกินกว่าจะปั่นจักรยานไปได้รอบเมือง เพราะเมื่อข้ามมายังถนนศรีเชียงคานฝั่งบน ถึงแม้บ้านเรือนแถบบนนั้นจะไม่ใช่บ้านไม้เก่าแก่แบบถนนชายโขง แต่ทุกตรอกซอกซอย ก็เป็นชุมชนชาวเชียงคาน ที่จะทำให้เราได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ของชาวเชียงคาน มากไปกว่าที่ถูกจัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ "ดู" กันบนถนนชายโขงคุณสามารถปั่นจักรยานไปได้ถึงกระทั่งแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแก่งหินที่สวยงามของเมืองไทย (แต่จะเห็นความสวยงามได้ชัดเจนก็ในช่วงหน้าแล้งที่น้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง จนบางช่วงชาวบ้านบอกว่าสามารถเดินข้ามไปยังฝั่งลาวได้เลย)
ลองถามหาเอกสารที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดทำเอาไว้แจกจากเกสต์เฮาส์ที่คุณเข้าพัก แล้วยืมจักรยานจากที่พักของคุณปั่นไปตามเส้นทางนั้นได้เลยเนื่องจากการปั่นจักรยานถือเป็น "ไฮไลต์" สำคัญสำหรับคนกรุงที่ไม่มีทางจักรยานให้ขี่เล่นในเมือง เกสต์เฮาส์หรือโฮมสเตย์ทุกแห่งในย่านนี้ล้วนมีจักรยานเอาไว้ให้แขกผู้มาพัก "ขอยืม" แต่ถ้าไม่เพียงพอ ก็อาจต้องอาศัยเช่าจักรยานจากร้านเช่าจักรยานที่หาได้บนถนนชายโขงเช่นกันจะปั่นเอาจริงเอาจัง หรือจะปั่นแค่พอสนุกที่ไม่มีโอกาสได้ปั่นจักรยานในเมือง ก็ขอให้ได้ปั่นจักรยานที่เชียงคานสักหน่อยนะ ไม่งั้นจะถือว่าไม่ "ถึง" เชียงคานเอานะ
ตักบาตรข้าวเหนียว อย่างที่บอกไปแล้วว่าชาวเชียงคานได้รับอิทธิพลมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากฝั่งลาว วิถีชีวิตและวัฒนธรรมหลายอย่างของเชียงคานจึงคล้ายคลึงกับฝั่งลาว และที่ถือเป็นอีกหนึ่ง "ไฮไลต์" ที่หาไม่ได้แน่นอนในเมืองกรุงหรือเมืองไหนๆ ก็คือการ "ตักบาตรข้าวเหนียว" แบบเดียวกับที่หลวงพระบาง โดยชาวบ้านจะใส่แต่เพียงข้าวเหนียวลงในบาตรของพระที่เดินบิณฑบาตรในยามเช้า ส่วนอาหารคาวหวานนั้นจะนำไปถวายต่างหากที่วัด
ไหว้พระ 9 วัด เชียงคานก็เหมือนแทบทุกเมืองในชนบทของเมืองไทยที่เต็มไปด้วยวัด และด้วยความที่เชียงคานเป็นเมืองขนาดกะทัดรัด ทำบุญไหว้พระ 9 วันภายในหนึ่งวัน ซึ่งคนไทยถือว่าเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวง จึงสามารถทำได้ง่ายมากในเชียงคาน วัดทั้งหมดที่ แนะนำสำหรับการไหว้พระ 9 วัน ได้แก่
1. วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่ที่ซอย 6 วัดนี้ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม และมีพระพุทธรูปประธานที่เก่าแก่เป็นที่นับถือของชาวอำเภอเชียงคานเป็นอย่างมาก
2. วัดโพนชัย ตั้งอยู่ระหว่างซอย 2-3 พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างผสมรัตนโกสินทร์
3. วัดมัชฌิมาราม (วัดป่ากลาง)พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ภายในบริเวณวัดมีอาคารส้วมโบราณ ซึ่งชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี
4. วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ซอย 14 เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของเมืองเชียงคาน มีพระอุโบสถไม้เก่าแก่รูปแบบล้านช้าง ภายในประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ บริเวณหน้าจั่วมีภาพเขียนบอกเล่าเรื่องราวประวัติเมืองเชียงคาน และมีเจดีย์ก่ออิฐที่เชื่อกันว่าสร้างทับ รูพญานาคงดงามจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีคุณเมือง ศูนย์รวมใจของชาวเชียงคาน วัดป่าใต้ สีสันร้านค้ามากมายให้ช้อป ภายในอุโบสถวัดศรีคุณเมือง
5. วัดท่าคก เป็นวัดเก่าแก่กว่า 200 ปี ด้านหน้าอุโบสถและขอบหน้าต่างมีศิลปะและลวดลายแบบฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากสมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นเมืองขึ้น
6. วัดป่าใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2415 เดิมเป็นวัดป่าธุดงค์สำหรับพระมาจำพรรษา พระอุโบสถเก่าแก่ประดับภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นพุทธประวัติฝีมือช่างชาวเชียงคาน
7. วัดภูช้างน้อย เป็นวัดป่าซึ่งมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่บนยอดเขามองเห็นเด่นเป็นสง่า และเป็นจุดชมทัศนียภาพที่ดีจุดหนึ่งของเมืองเชียงคานและยังมีทางจักรยานให้ปั่นออกแรงขึ้นไปถึงยอดภูอีกด้วย
8. วัดสันติวนาราม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2482 ภายในวัดมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และบริเวณรอบอุโบสถมีพระพุทธรูปสีทองอร่ามประดิษฐานเรียงรายนับร้อยองค์
9. วัดศรีพนมมาศ ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2497 เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีภาพพุทธประวัติที่งดงามฝีมือช่างชาวเชียงคาน นอกจากนี้ ยังมี "วัดท่าแขก" วัดเก่าแก่ซึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางไปแก่งคุดคู้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนอย่างมาก และ "วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน" ที่บ้านผาแบ่นซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกหน่อย เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ. 2478 รอยพระพุทธบาทภูควายเงินเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งคุณอาจเลือกเป็นหนึ่งใน 9 วัด ของคุณก็ได้ตามแต่ศรัทธา
ชมธรรมชาติ ชมอาคารบ้านไม้เก่าแก่ในตัวเมืองเชียงคานกันแล้ว ก็อย่าลืมหาเวลาแวะไปชมธรรมชาติของเชียงคานกันด้วย ที่ใกล้ที่สุดก็คือ "แก่งคุดคู้" ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กลางลำน้ำโขงกว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง เวลาที่เหมาะจะมาชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งต่างๆ ชัดเจน แต่ในยามน้ำเปี่ยมฝั่ง บรรยากาศริมฝั่งโขงก็น่ามานั่งเล่นเดินเล่น แวะรับประทานอาหาร หรือช้อปปิ้งของฝากที่ร้านค้าซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณนี้ โดยเฉพาะ "มะพร้าวแก้ว" อันเป็นของฝากขึ้นชื่อของเมืองเชียงคาน ก็มีแหล่งผลิตอยู่ใกล้กับแก่งคุดคู้นี่เองไกลออกไปอีกหน่อยก็คือ "ภูทอก" ซึ่งเป็นทั้งจุดชมทัศนียภาพเมืองเชียงคานและแม่น้ำโขง รวมถึงเป็นจุดชมทะเลหมอกในยามหน้าหนาว (ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 ไปอ.ปากชม ผ่านแยกแก่งคุดคู้ไม่ไกลจะมีแยกทางขวามือ สังเกตป้าย สถานีทวนสัญญาณ 483 ระยะทางเข้าไปประมาณ 5 กม.) และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างงดงามอีกด้วย
เชียงคานไปยังไง?
รถยนต์ส่วนตัว สามารถเลือกเดินทางได้ 3 เส้นทางคือ เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์-เขาค้อ-หล่มสัก-อ.ด่านซ้าย-ภูเรือ-เลย (ประมาณ 550 กม.) เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-ชัยภูมิ-อ.ชุมแพ-ผานกเค้า-ภูกระดึง-อ.วังสะพุง-เลย (ประมาณ 590 กม.) และเส้นทางที่ 3 กรุงเทพฯ-ขอนแก่น-อ.ชุมแพ-ผานกเค้า-ภูกระดึง-อ.วังสะพุง-เลย (ประมาณ 660 กม.) เชียงคานอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 50 กม.
รถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-เชียงคาน ออกเดินทางทุกวันประมาณ 19.00 น. ใช้เวลาเดินทางราว 10 ชม. สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหมอชิตใหม่ โทร. 0-2936-2841-8, 0-2936-2852-66
เครื่องบิน สายการบินนกแอร์มีเที่ยวบินตรงไปยังจ.เลยทุกวัน จากดอนเมือง 11.45 น. ถึงสนามบินเลย 13.00 น. เที่ยวกลับจากเลย 13.30 น. ถึงสนามบินดอนเมือง 14.45 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ Call Center 1318